สรุปข้อสอบ กสพท TPAT1 จริยธรรมแพทย์

ใครอยากเรียนคณะสายหมอบ้างยกมือขึ้นนน เชื่อว่าหลายคนคงกำลังหาข้อมูลเพื่อจะเตรียมสอบเข้าคณะสายหมอ
ในกลุ่ม กสพท กันอยู่แน่เลยใช่ไหมม ซึ่งวิชาที่น้อง ๆ ต้องสอบก็คือ TPAT1 กสพท หรือ การวัดความถนัดทางวิชาชีพแพทย์ ซึ่งจะมีอยู่ 3 พาร์ตด้วยกัน คือ พาร์ตเชาวน์ปัญญา, พาร์ตจริยธรรมแพทย์, และพาร์ตเชื่อมโยง

สำหรับ พาร์ตจริยธรรมแพทย์ นั้น เราจะได้สวมวิญญาณความเป็นแพทย์เพื่อทำข้อสอบโดยเฉพาะ แต่ถ้าใครกังวลว่า
จะจับทางไม่ถูก เพราะเนื้อหานี้ไม่มีสอนที่โรงเรียน ก็ไม่ต้องห่วงเพราะพี่จะพาไปทำความรู้จักข้อสอบพาร์ตนี้ให้มากขึ้น ตั้งแต่รูปแบบข้อสอบ ตัวอย่างแนวข้อสอบ การเตรียมตัวสอบ ไปจนถึงหลักจริยธรรมแพทย์ที่ควรรู้เลยย ถ้าอยากรู้ว่าแนวข้อสอบ TPAT1 พาร์ตจริยธรรมแพทย์ เป็นยังไง ก็ไปดูกันนน

สิ่งสำคัญที่สุดที่น้อง ๆ ต้องทำเป็นอย่างแรก ก็คือ การทำความรู้จักข้อสอบ ซึ่งโดยทั่วไปในข้อสอบต่าง ๆ ที่ใช้ในระบบ TCAS เช่น TGAT, TPAT2-5, และ A-Level เราจะสามารถเช็กได้จาก Test Blueprint ของข้อสอบที่เว็บไซต์ MyTCAS ได้เลย

แต่ !! ยกเว้น TPAT1 หรือ กสพท แค่วิชาเดียวเท่านั้นที่ตอนนี้ยังไม่มีโครงสร้างข้อสอบออกมาให้เราเห็นกัน T__T
แต่ก็ไม่ต้องกังวลกันน้า เพราะถึงแม้จะยังไม่มี Test Blueprint ประกาศออกมา พี่ก็ได้รวบรวมข้อมูลโดยอิงจาก
ข้อสอบย้อนหลังของปีก่อน ๆ มาให้แล้วว จะมีเรื่องอะไรบ้าง ไปดูกันเลยย

1. จำนวนข้อของข้อสอบ TPAT1 กสพท พาร์ตจริยธรรมแพทย์

จากที่พี่ลองเก็บข้อมูลมา จำนวนข้อของข้อสอบ TPAT1 พาร์ตจริยธรรมแพทย์ ในแต่ละปีไม่เท่ากันเลยย แต่โดยทั่วไป
จะอยู่ที่ 50 – 80 ข้อ ซึ่งข้อสอบ 2 ปีล่าสุดก็มีจำนวนข้ออยู่ที่ 55 ข้อ ดังนั้นก็มีความเป็นไปได้ว่า จำนวนข้อของข้อสอบ
ปีต่อไปก็อาจจะอยู่ที่ 55 ข้อก็ได้น้าา

2. เวลาที่ใช้ในการสอบ TPAT1 กสพท พาร์ตจริยธรรมแพทย์

แม้ว่าจำนวนข้อของแต่ละปีจะไม่เท่ากัน แต่เวลาในการทำข้อสอบนั้นเท่ากันทุกปี นั่นคือ 1 ชั่วโมงหรือ 60 นาที ดังนั้น
น้อง ๆ ควรแบ่งเวลาในการทำข้อสอบให้ดีน้า เพราะเราจะมีเวลาทำข้อสอบแต่ละข้อประมาณ 1 นาที หรือน้อยกว่านั้น
ขึ้นอยู่กับจำนวนข้อที่ออกสอบในแต่ละปีเลยย

3. การคิดคะแนน TPAT1 กสพท พาร์ตจริยธรรมแพทย์

สำหรับคะแนนเต็มของ TPAT1 พาร์ตจริยธรรมแพทย์ จะอยู่ที่ 100 คะแนน และคะแนนแต่ละข้อก็มีค่าเท่ากัน ซึ่งถ้าน้อง ๆ สงสัยว่า แล้วแต่ละข้อจะมีคะแนนเท่าไรล่ะ อันนี้ก็ต้องดูจำนวนข้อของแต่ละปีแล้วคำนวณกับคะแนนเต็ม 100 อีกทีน้า
เราถึงจะได้น้ำหนักคะแนนในแต่ละข้อออกมานั่นเองง

4. เรื่องที่ออกสอบใน TPAT1 กสพท พาร์ตจริยธรรมแพทย์

ในส่วนนี้พี่ขอใช้ภาษาง่าย ๆ และความหมายที่พี่คิดขึ้นมาเอง เพื่ออธิบายให้น้อง ๆ ได้เห็นภาพตรงกันเกี่ยวกับรูปแบบข้อสอบที่ออกใน TPAT1 พาร์ตจริยธรรมแพทย์ (แต่ขอย้ำว่า อย่าเอาไปปนกับความหมายที่แท้จริงของข้อสอบนี้น้าา)

จากที่พี่ลองเช็กข้อสอบย้อนหลังดู ปกติแล้วเรื่องที่ออกสอบในข้อสอบ กสพท พาร์ตจริยธรรมแพทย์ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 เรื่อง คือ จริยธรรมเกี่ยวกับเรื่องทั่วไปและจริยธรรมเกี่ยวกับเรื่องแพทย์ 

  • จริยธรรมเกี่ยวกับเรื่องทั่วไป คือ ข้อสอบที่วัดจริยธรรมของน้อง ๆ ในสถานการณ์ทั่วไป หรือสถานการณ์ที่
    พบเจอได้ในชีวิตประจำวัน รวมไปถึงสถานการณ์จากข่าวดังในรอบปีที่น้อง ๆ สอบ
  • จริยธรรมเกี่ยวกับเรื่องแพทย์ คือ ข้อสอบที่วัดจริยธรรมของน้อง ๆ ในฐานะของแพทย์ โดยสถานการณ์ที่ออก
    จะเป็นสถานการณ์สมมติว่าหากเราเป็นแพทย์แล้วจะตัดสินใจยังไง เช่น สถานการณ์เกี่ยวกับการรักษาผู้ป่วย หรือสถานการณ์ในโรงพยาบาล

สรุปข้อมูลรูปแบบข้อสอบ TPAT1 กสพท พาร์ตจริยธรรมแพทย์

หลังจากที่พี่อธิบายลักษณะข้อสอบ TPAT1 กสพท พาร์ตจริยธรรมแพทย์ไปแล้ว งั้นเรามาดูสรุปข้อมูลรูปแบบข้อสอบโดยภาพรวมกันดีกว่า น้อง ๆ จะได้เตรียมตัววางแผนกันได้ง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งข้อสอบ TPAT1 กสพท พาร์ตจริยธรรมแพทย์ ก็มีรูปแบบประมาณนี้เลยย

  • ไม่มีโครงสร้างข้อสอบ (Test Blueprint)
  • จำนวนข้อสอบไม่แน่นอน (แต่ละปีออกระหว่าง 50-80 ข้อ)
  • เวลาสอบ 60 นาที
  • แต่ละข้อคะแนนเท่ากันและมีคำตอบที่ถูกต้องเพียง 1 คำตอบ
  • ออกเรื่องจริยธรรมเกี่ยวกับเรื่องทั่วไปและจริยธรรมเกี่ยวกับเรื่องแพทย์

แต่ถ้าน้อง ๆ คนไหนอยากรู้ว่าพาร์ตอื่น ๆ ของ TPAT1 จะต้องสอบอะไร ? แนวข้อสอบเป็นอย่างไร ? หรือมีพาร์ตไหนอีกบ้าง ? สามารถตามอ่านได้ที่บทความ TPAT1 คืออะไร ? เลยน้าา

ตัวอย่างแนวข้อสอบ TPAT1 กสพท พาร์ตจริยธรรมแพทย์

ได้รู้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวข้อสอบเบื้องต้นกันไปแล้ว ถึงเวลาที่น้อง ๆ จะได้มาลองทำแนวข้อสอบจริง TPAT1 กสพท พาร์ตจริยธรรมแพทย์ กันบ้าง ซึ่งพี่จะพาทุกคนไปวิเคราะห์ด้วยกันเลยย

ตัวอย่างแนวข้อสอบข้อที่ 1 TPAT1 กสพท พาร์ตจริยธรรมแพทย์

ข้อใดเป็นจริยธรรมสำคัญของการคัดเลือกเข้ารับการศึกษาอุดมศึกษาของประเทศไทย (TCAS)

1. ความซื่อสัตย์

2. ความโปร่งใส

3. ความเสมอภาค

4. ความเท่าเทียม

5. ความเหลื่อมล้ำ

คำตอบ

ข้อนี้เป็นตัวอย่างของการนำประเด็นทั่วไปมาวิเคราะห์ ซึ่งหากเราดูเผิน ๆ อาจจะมองว่าเป็นคำตอบที่ถูกทุกข้อ
แต่ !! พี่ขอย้ำอีกรอบว่า ข้อสอบ TPAT1 กสพท พาร์ตจริยธรรมแพทย์ในปัจจุบันจะมีแค่ 1 คำตอบเท่านั้นที่ถูกต้อง ดังนั้นข้อนี้เราจึงต้องมาวิเคราะห์ความน่าจะเป็นของตัวเลือกเพื่อให้ตอบสิ่งที่โจทย์ถามมาได้มากที่สุด

ข้อนี้เฉลย ตัวเลือกที่ 3 ความเสมอภาค เพราะข้อนี้ถามถึงการคัดเลือกเข้ารับการศึกษาอุดมศึกษาของประเทศไทย
ซึ่งหากเราคิดด้วยแนวคิดทั่วไป การรับนักเรียนเข้าศึกษาก็ไม่ควรจะแบ่งการคัดเลือกเพราะความแตกต่าง ทุกคน
มีโอกาสที่จะเข้าศึกษา และเมื่อเรานำหลักจริยธรรมแพทย์ คือ หลักความยุติธรรม (Justice) มาคิดร่วมด้วย จะพบว่าข้อนี้สมควรเป็นคำตอบที่ถูกต้องนั่นเองง

ตัวอย่างแนวข้อสอบข้อที่ 2 TPAT1 กสพท พาร์ตจริยธรรมแพทย์

ข้อใดเป็นข้อสังเกตแพทย์ที่มีคุณธรรม

1. แพทย์ที่มีนิสัยช่างสังเกต

2. แพทย์ที่มีเกียรติน่ายกย่อง

3. แพทย์ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว

4. แพทย์เข้าใจในผู้อื่น

5. แพทย์มีความรู้ความสามารถในการรักษาผู้ป่วย

คำตอบ

ข้อนี้จะขยับเข้ามาใกล้ฝั่งจริยธรรมเกี่ยวกับเรื่องแพทย์มากยิ่งขึ้น โดยน้อง ๆ ต้องวิเคราะห์ว่าแพทย์ที่มีคุณธรรมควรมีคุณสมบัติแบบไหน ซึ่งคุณธรรม หมายถึง ธรรมหรือความดีที่ควรมีประจำตน ทำให้เราสามารถตัดตัวเลือกข้อ 1, 2 และ 5 ออกก่อนได้เลยเพราะคุณสมบัติของทั้ง 3 ตัวเลือกนี้ คือ การช่างสังเกต เกียรติ และความรู้ความสามารถ ยังไม่แสดงให้เห็นถึงการมีคุณธรรมของแพทย์เลย

ทำให้เหลือตัวเลือกที่ 3 และ 4 ที่น่าสนใจ เราจึงต้องนึกถึงหลักจริยธรรมแพทย์ประกอบด้วย และเราจะพบว่ามีตัวเลือกหนึ่งที่เป็นรายละเอียดอยู่ในหลักจริยแพทย์ คือ ตัวเลือกที่ 3 แพทย์ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว ซึ่งเป็นหนึ่งในหลักความซื่อสัตย์ (fidelity) ทำให้แพทย์คนนี้มีคุณธรรมหรือประพฤติในสิ่งที่ดีได้ ตัวเลือกที่ 3 จึงเป็นคำตอบที่
ถูกต้อง
ส่วนตัวเลือกที่ 4 เป็นตัวเลือกที่ข้อมูลอาจจะยังไม่เพียงพอที่จะสรุปได้

ตัวอย่างแนวข้อสอบข้อที่ 3 TPAT1 กสพท พาร์ตจริยธรรมแพทย์

เมร่อนเป็นนักเรียนชั้น ม.4 อายุ 16 ปี ในช่วงสงกรานต์เมร่อนไปเล่นน้ำกับเพื่อน ขณะที่เต้นเพลง “ยายแล่ม” อย่างเมามันอยู่นั้น เธอลงน้ำหนักเท้าผิดท่าทำให้ข้อเท้าพลิก หลังจากเพื่อน ๆ พาเมร่อนมารักษาข้อเท้าที่
โรงพยาบาล
เมร่อนได้ขอให้คุณหมอไม่แจ้งผู้ปกครองเพราะเธอแอบมาเที่ยวสงกรานต์โดยไม่ได้ขออนุญาต
ผู้ปกครอง
คุณหมอควรทำอย่างไร

1. แจ้งผู้ปกครองว่าเมร่อนข้อเท้าพลิกพร้อมบอกสาเหตุที่เกิดขึ้น

2. แจ้งผู้ปกครองว่าเมร่อนข้อเท้าพลิก โดยแนะนำให้เมร่อนบอกสาเหตุกับผู้ปกครองด้วยตนเอง

3. ไม่แจ้งผู้ปกครอง เพราะแพทย์ต้องรักษาความลับของผู้ป่วย

4. ไม่แจ้งผู้ปกครอง เพราะเป็นความประสงค์ของผู้ป่วย

5. ปรึกษาและขอความคิดเห็นจากแพทย์ท่านอื่นในแผนกว่าควรแจ้งผู้ปกครองหรือไม่

คำตอบ

เฉลย 2. แจ้งผู้ปกครองว่าเมร่อนข้อเท้าพลิก โดยแนะนำให้เมร่อนบอกสาเหตุกับผู้ปกครองด้วยตนเอง

ตัวอย่างแนวข้อสอบข้อที่ 4 TPAT1 กสพท พาร์ตจริยธรรมแพทย์

หากเกิดเหตุสุดวิสัยจนทำให้แพทย์ไม่สามารถมาโรงพยาบาลเพื่อทำการรักษาคนไข้ตามนัดหมายได้ แพทย์ควรทำอย่างไรจึงจะเหมาะสมที่สุด

1. ให้พยาบาลรักษาคนไข้แทน
2. บอกให้เจ้าหน้าที่จ่ายยาชนิดเดิมให้คนไข้ตามที่เคยจ่าย
3. ให้เจ้าหน้าที่แจ้งคนไข้และหาแพทย์คนอื่นมารักษาแทน
4. ให้พยาบาลส่งประวัติคนไข้มาให้แล้วส่งยาให้คนไข้จากที่บ้าน
5. โทรแจ้งคนไข้ก่อนออกจากบ้านเพื่อคนไข้จะได้ไม่ต้องเสียเวลาและค่าเดินทาง

คำตอบ

ข้อนี้จะต้องคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ป่วยเป็นหลัก ในเมื่อผู้ป่วยมาโรงพยาบาลเพื่อต้องการรักษาที่ถูกต้องโดยแพทย์ ดังนั้นตัวเลือกที่ 3 ให้เจ้าหน้าที่แจ้งคนไข้และหาแพทย์คนอื่นมารักษาแทน จึงเป็นคำตอบที่ถูกต้อง ส่วนตัวเลือกที่ 5 สามารถทำได้ ไม่ได้ผิดหลักทางการแพทย์ แต่เนื่องจากโจทย์พูดถึงเหตุการณ์สุดวิสัย ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ว่าจะเกิดขึ้น ทำให้แพทย์อาจจะแจ้งผู้ป่วยไม่ทัน ตัวเลือก 3 จึงเหมาะสมที่สุด

ทิศทางข้อสอบ TPAT1 กสพท พาร์ตจริยธรรมแพทย์ในปีต่อ ๆ ไป

มาถึงส่วนที่น้อง ๆ หลายคนน่าจะอยากรู้กันมากที่สุดว่า ปีหน้าข้อสอบจริยธรรมแพทย์จะออกเรื่องอะไรบ้าง ซึ่งพี่ต้องย้ำอีกทีว่า ข้อสอบของ TPAT1 กสพท ไม่มีการประกาศโครงสร้างข้อสอบ พี่เลยจะบอกได้แค่แนวของข้อสอบ (ซึ่งมาจาก
การสังเกตของพี่เท่านั้น)

โดยถ้าดูจากข้อมูลการออกข้อสอบปีก่อน ๆ แล้ว จะเห็นเลยว่า ข้อสอบจะออกเรื่องจริยธรรมเกี่ยวกับเรื่องแพทย์และจริยธรรมเกี่ยวกับเรื่องทั่วไปสลับกันไป เช่น

  • ข้อสอบปี 65 กสพท ออกเรื่อง จริยธรรมเกี่ยวกับเรื่องทั่วไปเป็นหลัก
  • ข้อสอบปี 66 กสพท ออกทั้งเรื่องจริยธรรมเกี่ยวกับเรื่องแพทย์และจริยธรรมเกี่ยวกับเรื่องทั่วไป
  • ข้อสอบปี 67 กสพท กลับมาเน้นที่จริยธรรมเกี่ยวกับเรื่องทั่วไปเป็นหลักอีกครั้ง

พี่เลยคาดว่าข้อสอบจะออกสลับกันตามปีที่สอบ คือ เรื่องจริยธรรมเกี่ยวกับเรื่องทั่วไปจะออกสอบทุกปี แต่จะมีบางปีที่เน้นจริยธรรมเกี่ยวกับเรื่องแพทย์เข้ามาสลับกันไป โดยจำนวนข้อสอบน่าจะคงที่ ซึ่งจะอยู่ที่ 55 ข้อ อิงจากข้อสอบปี 66 และ 67 กสพท ที่มีจำนวนข้อ 55 ข้อเหมือนกัน

ทั้งนี้ พี่มองว่าข้อสอบ กสพท 68 และในปีต่อ ๆ ไป ข้อสอบอาจจะปรับให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในชีวิตประจำวัน หรือเรื่องใกล้ตัวน้อง ๆ  มากขึ้น และที่มองข้ามไม่ได้เลยคือข่าวในรอบปีที่น้อง ๆ สอบ ซึ่งข้อสอบอาจหยิบข่าวดังมาออกก็ได้น้า
โดยสุดท้ายแล้ว เราจะต้องสามารถนำหลักจริยธรรมแพทย์มาปรับใช้เพื่อตอบคำถามในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้นั่นเอง

การเตรียมตัวสอบ TPAT1 กสพท พาร์ตจริยธรรมแพทย์

อย่างที่พี่บอกไปว่าข้อสอบจะออกสอบสลับเรื่องระหว่าง จริยธรรมเกี่ยวกับเรื่องแพทย์และจริยธรรมเกี่ยวกับเรื่องทั่วไป วิธีการเตรียมตัวที่พี่จะแนะนำ ก็คืออ

1. เตรียมตัวเรื่องเนื้อหาในส่วนของจริยธรรมแพทย์ที่ควรรู้

เพื่อให้น้อง ๆ มีแนวคิดและหลักการในการทำข้อสอบทั้งสองรูปแบบ วิธีการที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด คือ การฝึกฝน
ทำโจทย์จากข้อสอบเก่าหรือแนวข้อสอบจากหลาย ๆ แหล่ง โดยพี่เชื่อว่า หากเราเจอแนวข้อสอบที่หลากหลาย
มากแค่ไหน ก็จะสามารถรับมือกับโจทย์ในห้องสอบได้ดียิ่งขึ้นน้าา

2. การติดตามข่าวสารในช่วงปีที่น้อง ๆ จะสอบ

เป็นวิธีการเตรียมตัวที่สำคัญมากที่หลายคนมักมองข้าม อย่างที่พี่บอกไปเลยว่า ข้อสอบมักจะยกสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็น ข่าว หรือเทรนด์ที่ฮิตในปีนั้น ๆ มาถามแล้วให้วิเคราะห์ตามหลักจริยธรรมแพทย์ หากเรามีข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่าง ๆ อาจจะช่วยให้วิเคราะห์ข้อสอบได้ง่ายและตรงประเด็นมากยิ่งขึ้น

สรุปหลักจริยธรรมแพทย์เบื้องต้นที่ควรรู้

แม้ว่าข้อสอบ TPAT1 พาร์ตจริยธรรมแพทย์จะออกทั้งจริยธรรมเกี่ยวกับเรื่องทั่วไปและจริยธรรมเกี่ยวกับเรื่องแพทย์ หรือแม้ว่าข้อสอบปีล่าสุดจะไม่ออกจริยธรรมเกี่ยวกับเรื่องแพทย์โดยตรงเลยก็ตาม แต่น้อง ๆ รู้ไหมว่า ถึงจะเป็นข้อสอบจริยธรรมเกี่ยวกับเรื่องทั่วไป เราก็จำเป็นต้องคิดด้วยพื้นฐานของความเป็นแพทย์

ดังนั้น การเตรียมตัวเรื่องจริยธรรมแพทย์จึงเป็นก้าวแรกของการทำข้อสอบ TPAT1 พาร์ตจริยธรรมแพทย์เลย ซึ่งพี่ก็รวบรวมหลักจริยธรรมแพทย์ที่น่าสนใจ และน้อง ๆ ควรรู้มาให้แล้ว ตามนี้น้า

1. หลักประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วย (Beneficence)

สิ่งที่เป็นประโยชน์ก่อให้เกิดผลดีในการบรรเทาหรือทำให้ผู้ป่วยทุเลาขึ้นจากภาวะที่เป็นอยู่ โดยจะต้องคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ป่วยเป็นหลัก จะต้องจริงใจกับผู้ป่วย ไม่ควรสอบถามผู้ป่วยในเรื่องที่ไม่จำเป็น และไม่ควรรักษาเกินความจำเป็น

2. หลักความเป็นธรรม (Justice)

แพทย์จะต้องปฏิบัติต่อผู้ป่วยด้วยความยุติธรรม เท่าเทียม โดยไม่คำนึงถึงฐานะทางเศรษฐกิจ ชนชั้นทางสังคม สัญชาติ เพศสภาพ ศาสนา หรือลัทธิทางการเมือง รวมถึงการกระจายทรัพยากรในการรักษาอย่างเหมาะสม

3. หลักไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วย (Non-Maleficence)

การรักษาหรือการกระทำใด ๆ จะต้องไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วย ลดความเสี่ยงหรือผลกระทบที่อาจเกิดกับผู้ป่วย
ให้มากที่สุด หากมีเหตุการณ์หรือการรักษาใดที่อาจทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วยภายหลัง เช่น การรักษาบางวิธีอาจมี
Side effect ตามมา แพทย์จะต้องแจ้งผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับทราบและมีสิทธิ์ในการตัดสินใจ

4. หลักเคารพการตัดสินใจของผู้ป่วย (Autonomy)

การเคารพในการตัดสินใจของผู้ป่วยที่จะเลือกวิธีการรักษาด้วยตนเองหรืออาจเลือกปฏิเสธการรักษา โดยแพทย์มีหน้าที่แจ้งข้อมูลจำเป็นที่ถูกต้องและครบถ้วนเพียงพอให้ผู้ป่วยประกอบการตัดสินใจได้ ยกเว้น กรณีที่ต้องมีการช่วยเหลือ
เร่งด่วนเพื่อรักษาชีวิต

5. หลักการรักษาความลับของผู้ป่วย (Confidentiality)

ผู้ป่วยมีสิทธิ์ในการให้ความยินยอมหรือไม่ยินยอมให้บุคคลใดรับทราบอาการของตน แพทย์จึงต้องให้ความสำคัญและระมัดระวังในการนำข้อมูลต่าง ๆ ของผู้ป่วยไปเปิดเผยโดยไม่ได้รับอนุญาต ยกเว้นแต่การปฏิบัติตามกฎหมายหรือ
การเปิดเผยข้อมูลในกรณีที่ผู้ป่วยขาดความสามารถในการตัดสินใจ เช่น เด็กหรือผู้ป่วยจิตเวช

6. หลักความซื่อสัตย์ (Fidelity)

แพทย์จะต้องไม่ใช้อำนาจหน้าที่ในการแสวงหาประโยชน์ส่วนตน นึกถึงประโยชน์ส่วนรวม และไม่ประพฤติผิดระเบียบหรือข้อบังคับทางสังคม ไม่อวดอ้างตัวเองเกินจริง ไม่รับความดีความชอบโดยที่ตนไม่ได้เป็นผู้กระทำ และยอมรับความจริง
เมื่อผิดพลาดหรือกระทำความผิด นอกจากนี้แพทย์จะต้องไม่โกหกผู้ป่วยหรือพูดจาให้ผู้ป่วยหลงผิด (Truth Telling)

ดูคลิปติวฟรี TPAT1 กสพท พาร์ตจริยธรรมแพทย์

ดูคลิปติวฟรี TPAT1 กสพท อื่น ๆ ได้ที่ Youtube : SmartMathPro

TPAT1 กสพท พาร์ตจริยธรรมแพทย์เป็นข้อสอบที่บางคนอาจจะรู้สึกว่าจับทางยาก ด้วยความที่ไม่มี Test Blueprint ให้ดูเป็นตัวอย่าง แต่ถ้าลองเตรียมตัวจากที่พี่แนะนำไป เช่น การติดตามข่าวสารรอบตัว หรือฝึกทำโจทย์บ่อย ๆ พี่เชื่อว่า เราจะจับทางข้อสอบได้มากขึ้น และการทำคะแนน TPAT1 พาร์ตจริยธรรมแพทย์ก็จะไม่ยากเกินความสามารถของน้อง ๆ อีกต่อไป รวมถึงพาร์ตอื่น ๆ ใน TPAT1 ด้วยน้า

แต่น้อง ๆ ที่ใฝ่ฝันอยากจะเข้าคณะกลุ่มหมอบางคนก็อาจรู้สึกกังวลได้ว่าจะเตรียมตัวสอบไม่ถูก หรือไม่แน่ใจว่าควรเก็บเนื้อหาหรือฝึกทำโจทย์ยังไงถึงจะตรงจุดที่สุด ใครที่กำลังกังวลเรื่องนี้อยู่ วันนี้พี่มีตัวช่วยดี ๆ อย่างคอร์สเตรียมสอบ TPAT1 ที่พี่สอนร่วมกับ อ.ขลุ่ย และพี่หมออู๋ ให้เลยยย

โดยคอร์สนี้จะสอนครบทุกพาร์ตของ TPAT1 ตั้งแต่ปูพื้นฐานเนื้อหา (คนที่ไม่มีพื้นฐานก็เรียนได้) พาตะลุยโจทย์หลายระดับแบบจัดเต็ม พร้อมบอกเทคนิคและแนวคิดในการทำข้อสอบแต่ละพาร์ตที่จะช่วยให้น้อง ๆ ทำข้อสอบได้ทันเวลา และเพิ่มโอกาสในการอัปคะแนนอีกด้วย

แนะนำให้เริ่มเตรียมสอบกันตั้งแต่ตอนนี้เลย เพราะกำหนดการสอบ TPAT1 ใน TCAS68 เร็วกว่าปีที่แล้ว น้อง ๆ จะได้มีเวลาทบทวนเนื้อหาและฝึกทำโจทย์ให้พร้อมยิ่งขึ้น และที่สำคัญ ถ้าสมัครคอร์ส TPAT1 ตั้งแต่ตอนนี้ พี่มี Unseen Mock Test ชุดพิเศษ 1 ชุด แถมไปให้พร้อมสิทธิพิเศษประจำเดือนอีกมากมายด้วยน้า ถ้าน้อง ๆ Dek68 คนไหนสนใจคอร์ส TPAT1 สามารถ คลิก เข้ามาดูรายละเอียดได้เลยย

บทความ แนะนำ

บทความ แนะนำ

สรุป TPAT1 กสพท 68 ฉบับอัปเดตล่าสุด ตามแถลงการณ์
สรุป กสพท คืออะไร? ต้องสอบวิชาอะไรบ้าง? กสพท68 มีอะไรเปล่ียนแปลง?
เจาะลึกข้อสอบ TPAT1 กสพท คณิตเชาวน์ปัญญา
เจาะลึกข้อสอบ TPAT1 กสพท เชาวน์ปัญญา พร้อมแนวข้อสอบและคลิปติวฟรี
Dek68 จะสอบเข้ามหาลัยฯ ต้องเตรียมตัวยังไง ?
Dek68 สอบเข้ามหาลัยฯ ควรเริ่มยังไง? สรุปทุกขั้นตอนควรรู้ของ TCAS68
เตรียมตัวอ่านหนังสือ TCAS68 ยังไงให้สอบติด
เตรียมตัวสอบเข้ามหาลัยยังไง? สรุปและแจกเทคนิคอ่านหนังสือสอบ TCAS

สำหรับน้อง ๆ ที่สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม รวมถึงติดตามข่าวสารต่าง ๆ ที่อัปเดตอย่างเรียลไทม์ ได้ที่

Line : @smartmathpronews 

FB : Pan SmartMathPro ติวคณิต By พี่ปั้น 

IG : pan_smartmathpro

Twitter : @PanSmartMathPro 

Tiktok : @pan_smartmathpro

Share