สรุปเนื้อหา TGAT2 ความสามารถทางเหตุผล

TGAT2 การคิดอย่างมีเหตุผล คือ ข้อสอบที่เน้นทักษะการคิดวิเคราะห์และความเข้าใจ (Critical & Logical Thinking) โดยแบ่งเป็น 4 พาร์ต ซึ่งในวันนี้พี่จะขอพูดถึงพาร์ตความสามารถทางเหตุผลก่อนน้า โดยจะพาทุกคนไปเจาะลึกข้อสอบ TGAT2 พาร์ตความสามารถทางเหตุผลตั้งแต่สิ่งที่น้อง ๆ ควรรู้, โครงสร้างข้อสอบ, การเตรียมตัวสอบ และตัวอย่างข้อสอบ ใครอยากรู้แล้วรีบเลื่อนลงไปดูกันเลยย

ข้อสอบพาร์ตความสามารถทางเหตุผลนี้ เป็นส่วนหนึ่งของข้อสอบ TGAT2 การคิดอย่างมีเหตุผล โดยลักษณะของโจทย์จะให้เราใช้เหตุผลในการสังเกตข้อมูลหรือรูปแบบเพื่อหาคำตอบ เช่น ใช้เหตุผลในการ

  • สังเกตการเปลี่ยนแปลงของรูปภาพ
  • พิจารณาความสัมพันธ์ของรูปภาพ
  • อ่านข้อความหรือสถานการณ์ เพื่อหาข้อสรุปและตอบคำถามที่โจทย์ต้องการได้

น้อง ๆ หลายคนอาจกำลังสงสัยว่า ทำไมต้องมีการทดสอบเกี่ยวกับการให้เหตุผลด้วย ? จริง ๆ แล้วข้อสอบ TGAT2 พาร์ตนี้อิงตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานในปัจจุบัน ที่จะเน้นเรื่องการวัดสมรรถนะของผู้เรียนทั้งหมด 5 ด้าน ได้แก่

  1. ด้านการสื่อสาร
  2. ด้านการคิด
  3. ด้านการแก้ปัญหา
  4. ด้านการใช้ทักษะชีวิต
  5. ด้านการใช้เทคโนโลยี

ข้อสอบพาร์ตนี้จัดทำขึ้นเพื่อวัดความพร้อมด้านการให้เหตุผลก่อนที่จะเข้าไปเรียน โดยจะประเมินความสามารถทางการให้เหตุผลที่เรามีอยู่ตอนนี้ว่ามีความพร้อมขั้นพื้นฐานในการนำทักษะนี้ไปใช้ในอนาคตมากน้อยแค่ไหน

โครงสร้างข้อสอบ TGAT2 พาร์ตความสามารถทางเหตุผล

ข้อสอบความสามารถทางเหตุผลประกอบด้วย

  1. อนุกรมภาพ
  2. อุปมาอุปไมยภาพ
  3. สรุปความ
  4. วิเคราะห์ข้อความ

โดยข้อสอบเป็นแบบปรนัย (5 ตัวเลือก) จำนวนทั้งหมด 20 ข้อ โดยแบ่งเป็น 5 ข้อ ข้อละ 1.25 คะแนน รวมทั้งหมด 25 คะแนน

เนื่องจากน้อง ๆ จะมีเวลาในการทำข้อสอบ TGAT2 การคิดอย่างมีเหตุผล โดยเฉลี่ยประมาณ 60 นาที แสดงว่าน้องจะมีเวลาในการทำข้อสอบพาร์ตความสามารถทางเหตุผลทั้ง 20 ข้อนี้ประมาณ 15-20 นาทีเท่านั้นน้า

ตัวอย่างข้อสอบ TGAT2 พาร์ตความสามารถทางเหตุผล

อนุกรมภาพ

ลักษณะของข้อสอบ
โจทย์จะกำหนดภาพมา 3 ภาพ ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงของรูปภาพอย่างเป็นระบบจากรูปที่ 1 ไปเป็นรูปที่ 2 และจากรูปที่ 2 ไปเป็นรูปที่ 3 เช่น บางชิ้นส่วนในภาพอาจถูกหมุน เปลี่ยนสี เปลี่ยนขนาดหรือย้ายตำแหน่งไปอย่างเป็นระบบ ให้น้อง ๆ สังเกตลักษณะการเปลี่ยนแปลงของภาพทั้ง 3 ตามลำดับ แล้วตอบว่าภาพที่ 4 จะต้องเป็นภาพใดในตัวเลือก

ตัวอย่างข้อสอบ
ให้หาระบบของภาพที่เรียงกันใน 3 ภาพแรก แล้วพิจารณาว่าภาพที่แทนด้วยเครื่องหมาย ? ควรจะเป็นภาพใดในตัวเลือก 1 – 5

ตัวอย่าง TGAT2 ความสามารถทางเหตุผล พาร์ตอนุกรมภาพ

เทคนิคในการทำข้อสอบอนุกรมภาพ
ให้น้อง ๆ สังเกตการเปลี่ยนแปลงของภาพแล้วค่อย ๆ วิเคราะห์ไปทีละส่วน เช่น การสลับสีดำ-ขาว ลักษณะการหมุนภายในวงกลมหรือการเปลี่ยนตำแหน่งของจุดดำเล็ก โดยเมื่อสังเกตการเปลี่ยนแปลงได้ 2 อย่างให้เราตัดตัวเลือกที่ไม่ใช่ออกไปก่อน เพื่อให้สังเกตการเปลี่ยนแปลงถัดไปได้ง่ายขึ้นและสามารถกรองตัวเลือกที่น่าจะเป็นคำตอบให้เหลือน้อยลง

เฉลยตัวอย่างโจทย์อนุกรมภาพ

ตอบ ตัวเลือกที่ 2.

  • จุดดำนอกวงกลม
    ใน 3 ภาพแรก จุดจะเคลื่อนที่แบบทวนเข็มนาฬิกาไป 90 องศา ทำให้จุดเปลี่ยนตำแหน่งจากฝั่งซ้ายของวงกลม มาอยู่ข้างล่างของวงกลม หลังจากนั้นเปลี่ยนตำแหน่งมาอยู่ฝั่งขวาของวงกลมนั่นเอง ดังนั้นภาพที่ต้องการจุดจะเปลี่ยนตำแหน่งจากฝั่งขวาของวงกลม มาอยู่ข้างบนของวงกลม ทำให้คำตอบที่เป็นไปได้คือตัวเลือกที่ 2 และ 5
  • ครึ่งวงกลมสีขาวและครึ่งวงกลมสีดำ
    การเปลี่ยนแปลงจากภาพแรกไปยังภาพที่สอง ให้น้อง ๆ ลองขีดหรือจินตนาการ เส้นผ่านศูนย์กลางที่แบ่งระหว่างฝั่งสีขาวและฝั่งสีดำ จะเห็นว่าเส้นผ่านศูนย์กลางวงกลมจะหมุนตามเข็มนาฬิกาไป 45 องศา และเมื่อหมุนเสร็จแล้วจากครึ่งวงกลมสีดำจะเปลี่ยนเป็นสีขาว และจากครึ่งวงกลมสีขาวจะเปลี่ยนเป็นครึ่งวงกลมสีดำ (สลับสีกัน)
    ให้น้อง ๆ สังเกตการเปลี่ยนแปลงจากภาพที่สองไปยังภาพที่สามจะได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะเดียวกัน ดังนั้น จากภาพที่สาม หมุนเส้นผ่านศูนย์กลางวงกลมตามเข็มนาฬิกา 45 องศาแล้วเปลี่ยนสีครึ่งวงกลมจะได้ว่าครึ่งวงกลมสีดำจะอยู่ข้างล่างและครึ่งวงกลมสีขาวอยู่ข้างบนนั่นเอง

อุปมาอุปไมยภาพ

ลักษณะของข้อสอบ
โจทย์จะกำหนดภาพมาคู่หนึ่ง ให้น้อง ๆ สังเกตความสัมพันธ์ระหว่างภาพที่กำหนดให้ในคู่แรกว่าเป็นอย่างไร แล้วหาว่าภาพคู่ใดในตัวเลือกมีความสัมพันธ์เช่นเดียวกับภาพคู่ที่โจทย์กำหนดให้

ตัวอย่างข้อสอบ
ให้หาความสัมพันธ์ระหว่างภาพที่กำหนดให้ในคู่แรก แล้วพิจารณาภาพคู่จากตัวเลือก 1 – 5 ว่าภาพคู่ใดมีความสัมพันธ์เช่นเดียวกับภาพคู่ที่กำหนดให้

ตัวอย่าง TGAT2 ความสามารถทางเหตุผล พาร์ตอุปมาอุปไมยภาพ

เทคนิคในการทำข้อสอบอุปมาอุปไมยภาพ
โจทย์ให้ความสัมพันธ์ระหว่างภาพในคู่แรกมาแล้ว น้อง ๆ ต้องลองสังเกตว่าสองภาพทางด้านซ้าย มีความสัมพันธ์อย่างไรกับด้านขวา อาจจะเกิดความสัมพันธ์ได้หลายแบบในภาพเดียว เช่น การซ้อนกันของสองภาพ การหมุนภาพ การแรเงา เมื่อได้ความสัมพันธ์ระหว่างภาพในคู่แรกมาแล้ว เราจึงมาพิจารณาความสัมพันธ์แบบเดียวกันในแต่ละตัวเลือกนั่นเอง

เฉลยตัวอย่างโจทย์อุปมาอุปไมยภาพ

ตอบ ตัวเลือกที่ 4.

เราสังเกตความสัมพันธ์ระหว่างภาพในคู่แรกจะเห็นว่านำรูปห้าเหลี่ยมเข้าไปซ้อนในรูปสี่เหลี่ยม นั่นคือนำภาพฝั่งซ้ายไปซ้อนในภาพฝั่งขวา ซึ่งตัวเลือกที่เป็นไปตามความสัมพันธ์ ได้แก่ 1 และ 4 แล้วจากรูปสีดำสลับเป็นสีขาว จากรูปสีขาวสลับเป็นสีดำ ซึ่งตรงกันกับตัวเลือกที่ 4 เพียงข้อเดียว

สรุปความ

ลักษณะของข้อสอบ
โจทย์จะกำหนดสถานการณ์และข้อสรุป (ที่ไม่ได้ซับซ้อนมากนัก) อาจมีประมาณ 2- 3 เงื่อนไข เพื่อนำไปตรวจสอบว่าข้อสรุป ก. ข. และ ค. ที่โจทย์ให้มามีข้อใดบ้างที่สรุปได้ถูกต้อง

ตัวอย่างข้อสอบ
ให้พิจารณาข้อความและข้อสรุปที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ที่กำหนดให้ แล้วพิจารณาว่าข้อสรุปทั้งสาม คือ ก. ข. หรือ ค. นั้น ข้อใดบ้างที่ถูกต้องตามเหตุผล แล้วเลือกตอบตามตัวเลือก 1 – 5

ถ้ามีมี่สอบวิชาภาษาอังกฤษผ่าน แล้วคุณแม่จะซื้อไวโอลินให้ แต่คุณแม่ไม่ได้ซื้อไวโอลินให้มีมี่

ให้พิจารณาข้อสรุปต่อไปนี้

  1. มีมี่สอบวิชาภาษาอังกฤษผ่าน
  2. มีมี่สอบวิชาภาษาอังกฤษไม่ผ่าน
  3. มีมี่สอบวิชาภาษาอังกฤษได้ 5 คะแนน จาก 20 คะแนน

ข้อสรุปใดถูกต้อง

  1. ข้อ ก. ข้อเดียว
  2. ข้อ ข. ข้อเดียว
  3. ข้อ ค. ข้อเดียว
  4. ข้อ ก. และ ข.
  5. ข้อ ข. และ ค.

เทคนิคในการทำข้อสอบสรุปความ
ในการทำข้อสอบสรุปความ พี่แนะนำให้น้องลองวิเคราะห์สิ่งที่โจทย์กำหนดให้เท่านั้น และเขียนสิ่งที่ได้จากการวิเคราะห์เอาไว้ก่อน ซึ่งความรู้ที่ใช้ในการทำข้อสอบพาร์ตนี้จะเป็นการตีความหรือวิเคราะห์สถานการณ์ และความรู้ทางตัวเลขเบื้องต้น หลังจากนั้นลองดูข้อสรุปที่โจทย์กำหนดให้ว่าตรงกับสิ่งที่ได้จากการวิเคราะห์ของน้อง ๆ หรือไม่ และข้อสำคัญคือไม่ควรสรุปจากประสบการณ์ส่วนตัว หรือเงื่อนไขอื่น ๆ ที่น้องอาจพบเจอมาในชีวิตจริง แต่โจทย์ไม่ได้กำหนดมาให้น้า

เฉลยตัวอย่างโจทย์สรุปความ

ตอบ ตัวเลือกที่ 2. 
จากสถานการณ์ที่โจทย์กำหนด จะได้ว่าคุณแม่จะซื้อไวโอลินให้มีมี่เมื่อมีมี่สอบวิชาภาษาอังกฤษผ่าน แต่สุดท้ายคุณแม่ไม่ได้ซื้อไวโอลิน แสดงว่ามีมี่สอบวิชาภาษอังกฤษไม่ผ่านนั่นเอง (เพราะถ้ามีมี่สอบผ่าน คุณแม่จำเป็นต้องซื้อไวโอลินให้มีมี่ตามสัญญา) ดังนั้นข้อสรุป ก. จึงผิด ส่วนข้อสรุป ข. ถูก

และเนื่องจากสถานการณ์ปัญหาไม่ได้กำหนดเกณฑ์ในการสอบว่าต้องได้คะแนนเท่าไรจึงจะสอบผ่าน หรือมีข้อความใดที่บอกได้ว่ามีมี่สอบได้คะแนนเท่าไร ใช้ข้อสรุป ค. จึงไม่สามารถใช้ในการสรุปสถานการณ์ปัญหานี้ได้

วิเคราะห์ข้อความ

ลักษณะของข้อสอบ
โจทย์จะกำหนดสถานการณ์ที่ค่อนข้างซับซ้อน (ประมาณ 3 เงื่อนไขขึ้นไป) และเป็นบทความที่ค่อนข้างยาวมาให้ น้อง ๆ จะต้องอ่านจับใจความ และวิเคราะห์ข้อความเพื่อนำมาตรวจสอบว่าข้อสรุป ก. และ ข. ข้อใดบ้างที่ถูกต้อง โดยหนึ่งสถานการณ์ต้องใช้ตอบคำถามทั้งหมด 5 ข้อย่อยเลยน้า ถ้าน้องเห็นข้อสอบวิเคราะห์ความครั้งแรกอาจจะตกใจ แต่ไม่ต้องกังวัลน้า เพราะพี่จะพาน้อง ๆ ไปดูตัวอย่างและเทคนิคในการทำข้อสอบ ถ้าพร้อมแล้วก็ไปกันเลยย

ตัวอย่างข้อสอบ
ให้พิจารณาสถานการณ์ที่กำหนด โดยคำถามแต่ละข้อ จะมีข้อสรุปมาให้ 2 ข้อความ คือข้อความ (ก) และ (ข)
ให้พิจารณาว่าข้อสรุปนั้น ถูกหรือผิดหรือไม่สามารถสรุปได้แน่ชัดว่าถูกหรือผิด ตามเงื่อนไขที่กำหนดให้
และตัดสินใจเลือกตอบตามตัวเลือก ดังนี้

ตอบ 1 เมื่อข้อสรุปทั้ง ก. และ ข. ถูก

ตอบ 2 เมื่อข้อสรุปทั้ง ก. และ ข. ผิด

ตอบ 3 เมื่อข้อสรุปทั้ง ก. และ ข. ไม่สามารถสรุปได้แน่ชัดว่าถูกหรือผิดตามเงื่อนไข

ตอบ 4 เมื่อข้อสรุป ก. ถูก ส่วนข้อสรุป ข. ผิด หรือไม่สามารถสรุปได้แน่ชัดว่าถูกหรือผิด

ตอบ 5 เมื่อข้อสรุป ข. ถูก ส่วนข้อสรุป ก. ผิด หรือไม่สามารถสรุปได้แน่ชัดว่าถูกหรือผิด

สถานการณ์
ชมรมดนตรีไทยมีเครื่องดนตรีให้เล่น 3 ชนิด คือ ซอ ระนาด และตะโพน
อศิร สรุจ ฉัตร และภู อยู่ชมรมดนตรีไทย แต่ละคนเป็นสมาชิกของชมรมมาเป็นระยะเวลา 10, 20, 30 และ 40 ปี
และทุกคนเล่นเครื่องดนตรีเพียงชนิดเดียว ซึ่งในแต่ละสัปดาห์ชมรมดนตรีไทยเปิดให้สมาชิกเข้าซ้อม 3 วัน คือ วันจันทร์ วันอังคาร และวันพุธ โดยสมาชิกทุกคนจะต้องเข้าซ้อมวันใดวันหนึ่งในสามวันนี้

  • อศิรกับสรุจเข้าซ้อมวันเดียวกัน
  • ฉัตรเข้าซ้อมในวันก่อนหน้าภูแต่หลังสรุจ
  • มีคนเล่นตะโพน 2 คน โดยคนที่เล่นตะโพนคนหนึ่งเข้าซ้อมวันพุธ ส่วนสรุจเล่นระนาด
  • ระยะเวลาที่อศิรกับภูเป็นสมาชิกของชมรมรวมกันแล้วเท่ากับระยะเวลาที่สรุจเป็นสมาชิกของชมรม
  • คนที่เข้าซ้อมวันจันทร์หรือวันอังคารเล่นซอ และคนที่ซ้อมวันอังคารเป็นสมาชิกของชมรมมานานที่สุด

ตัวอย่างที่ 1 (ก) ฉัตรเข้าซ้อมวันพุธ
                         (ข) ภูเข้าซ้อมวันอังคาร

ตัวอย่างที่ 2 (ก) อศิรเป็นสมาชิกของชมรมมา 10 ปี
                         (ข) ฉัตรเป็นสมาชิกของชมรมมา 40 ปี

ตัวอย่างที่ 3 (ก) สรุจเป็นสมาชิกของชมรมมา 30 ปี
                         (ข) ภูเข้ามาเป็นสมาชิกของชมรมหลังสุด

ตัวอย่างที่ 4 (ก) อศิรเล่นตะโพน
                         (ข) ฉัตรเล่นซอ

ตัวอย่างที่ 5 (ก) ภูเล่นตะโพน
                         (ข) ถ้าอศิรเล่นซอ แล้วฉัตรเล่นตะโพน

เทคนิคในการทำข้อสอบวิเคราะห์ข้อความ
จากสถานการณ์ที่กำหนดให้ เราต้องพิจารณาว่าสถานการณ์นี้มีกี่องค์ประกอบ และมีองค์ประกอบใดบ้าง จากนั้นพี่แนะนำให้น้อง ๆ ลองใช้เทคนิคการสร้างตารางมาช่วยจัดเก็บข้อมูลที่ได้ โดยเป็นตารางของแต่ละองค์ประกอบ 

ซึ่งทำการระบุจากโจทย์ว่ามีเงื่อนไขที่ใครสามารถทำหรือไม่ทำอะไรบ้าง อาจจะเป็นเงื่อนไขที่สามารถสรุปได้แน่ชัด หรือไม่สามารถสรุปได้แน่ชัดก็ได้ จากนั้นจึงพิจารณาเงื่อนไขในคำถามแต่ละข้อแล้วหาคำตอบ

จากสถานการณ์ข้างต้น เรารู้ว่าคนมี 4 คน โดยที่แต่ละคนเล่นเครื่องดนตรีเพียงชนิดเดียว มีวันที่เข้าซ้อม และระยะเวลาที่เป็นสมาชิกของชมรม จากข้อมูลจะได้ว่า

  • ฉัตรเข้าซ้อมในวันก่อนหน้าภูแต่หลังสรุจ และอศิรกับสรุจเข้าซ้อมวันเดียวกัน จะเรียงลำดับการเข้าซ้อมแต่ละคนได้ดังนี้ อศิรและสรุจเข้าซ้อมวันจันทร์ ฉัตรเข้าซ้อมวันอังคาร และภูเข้าซ้อมวันพุธ
  • สรุจเล่นระนาด และมีคนเล่นตะโพน 2 คน โดยคนที่เล่นตะโพนคนหนึ่งเข้าซ้อมวันพุธ แสดงว่า ภูเล่นตะโพน และคนที่เล่นตะโพนอีกคนอาจจะเป็นอศิรหรือฉัตรก็ได้
  • ระยะเวลาที่อศิรกับภูเป็นสมาชิกของชมรมรวมกันแล้วเท่ากับระยะเวลาที่สรุจเป็นสมาชิกของชมรม เนื่องจากมีระยะเวลา 10, 20, 30 และ 40 ปี จะเป็นไปได้ 2 กรณี คือ 10+20=30 หรือ 10+30=40
  • จากเงื่อนไขสุดท้ายจะทำให้รู้ว่า ฉัตร เข้าซ้อมวันอังคาร เป็นสมาชิกของชมรมมานานที่สุด คือ 40 ปี จึงทำให้การวิเคราะห์เหลือเพียงกรณีเดียว คือ 10+20=30 แสดงว่าสรุจเป็นสมาชิกมา 30 ปี และอศิรหรือภู คนหนึ่งเป็นสมาชิกมา 10 ปี อีกคนหนึ่งเป็นสมาชิกมา 20 ปี แต่ไม่สามารถระบุแน่ชัดว่าเป็นใคร
เฉลยตัวอย่างโจทย์วิเคราะห์ข้อความ

ตอบ 

จากการวิเคราะห์ข้อมูลข้างต้น สามารถสร้างตารางได้ดังนี้

ตัวอย่างที่ 1
จาก (ก) ฉัตรเข้าซ้อมวันพุธ เป็นข้อสรุปที่ผิด
และ (ข) ภูเข้าซ้อมวันอังคาร เป็นข้อสรุปที่ผิด

ดังนั้นจึงตอบตัวเลือกที่ 2. ข้อสรุปทั้ง ก. และ ข. ผิด

ตัวอย่างที่ 2
จาก (ก) อศิรเป็นสมาชิกของชมรมมา 10 ปี
อดิศรอาจจะเป็นสมาชิก 10 หรือ 20 ปีก็ได้ ดังนั้นไม่สามารถสรุปได้ว่าข้อสรุป ก. ถูกหรือผิด
และ (ข) ฉัตรเป็นสมาชิกของชมรมมา 40 ปี เป็นข้อสรุปที่ถูก

ดังนั้นจึงตอบตัวเลือกที่ 5. ข้อสรุป ข. ถูก ส่วนข้อสรุป ก. ผิด หรือไม่สามารถสรุปได้แน่ชัดว่าถูกหรือผิด

ตัวอย่างที่ 3
จาก (ก) สรุจเป็นสมาชิกของชมรมมา 30 ปี เป็นข้อสรุปที่ถูก
และ (ข) ภูเข้ามาเป็นสมาชิกของชมรมหลังสุด
ภูเป็นสมาชิกของชมรมมา 10 หรือ 20 ปีก็ได้ ดังนั้นไม่สามารถสรุปได้ว่าข้อสรุป ข. ถูกหรือผิด

ดังนั้นจึงตอบตัวเลือกที่ 4. ข้อสรุป ก. ถูก ส่วนข้อสรุป ข. ผิด หรือไม่สามารถสรุปได้แน่ชัดว่าถูกหรือผิด

ตัวอย่างที่ 4
จาก (ก) อศิรเล่นตะโพน
อศิรอาจจะเล่นตะโพนหรือซอก็ได้ ดังนั้นไม่สามารถสรุปได้ว่าข้อสรุป ก. ถูกหรือผิด
และ (ข) ฉัตรเล่นซอ
ฉัตรอาจจะเล่นตะโพนหรือซอก็ได้ ดังนั้นไม่สามารถสรุปได้ว่าข้อสรุป ข. ถูกหรือผิด

ดังนั้นจึงตอบตัวเลือกที่ 3. ข้อสรุปทั้ง ก. และ ข. ไม่สามารถสรุปได้แน่ชัดว่าถูกหรือผิดตามเงื่อนไข

ตัวอย่างที่ 5
จาก (ก) ภูเล่นตะโพน เป็นข้อสรุปที่ถูก
และ (ข) ถ้าอศิรเล่นซอ แล้วฉัตรเล่นตะโพน
ถ้าอศิรเล่นซอ จะได้ว่าต้องมีอีกหนึ่งคนนอกจากภูที่เล่นตะโพน ซึ่งสรุจเล่นระนาด ทำให้ข้อสรุปที่ฉัตรต้องเป็นอีกคนที่เล่นตะโพนถูกต้อง

ดังนั้นจึงตอบ ตัวเลือกที่ 1. ข้อสรุปทั้ง ก. และ ข. ถูก

การเตรียมตัวสอบ TGAT2 พาร์ตความสามารถทางเหตุผล

1. ศึกษาข้อสอบเก่า
ให้น้อง ๆ ลองนำข้อสอบเก่าที่มีการเผยแพร่มาศึกษาดู จะช่วยให้เรารู้ถึงลักษณะต่าง ๆ ของคำถามและคำตอบ ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไรในแต่ละพาร์ต

2. ฝึกทำโจทย์แนวข้อสอบ
น้อง ๆ สามารถหาโจทย์ที่มีแนวข้อสอบใกล้เคียงกัน รวมถึงข้อสอบเก่านอกจาก TGAT2 ที่เป็นการทดสอบความถนัดทางการเรียนในสนามต่าง ๆ จากคลังข้อสอบ มาฝึกทำเพื่อเพิ่มประสบการณ์หรือมุมมองด้านการคิด การมองภาพ การเชื่อมโยง และการหาเหตุผลต่าง ๆ มากขึ้น และจะยิ่งทำให้เราสามารถทำข้อสอบได้เร็วขึ้นอีกด้วย

3. จับเวลาทำข้อสอบเสมือนสอบจริง
ให้น้อง ๆ หาข้อสอบ Mock Test มาลองทำและจัดบรรยากาศรอบตัวให้เหมือนอยู่ในห้องสอบ จับเวลาจริง และวางแผนการใช้เวลาในการทำข้อสอบจริง ๆ เพื่อทำให้เรารู้สึกคุ้นชินในการหาคำตอบในเวลาที่จำกัด อีกทั้งยังเป็นการช่วยจัดการอารมณ์ความรู้สึก ความกดดัน และความเครียดขณะสอบด้วย

4. ศึกษาข้อผิดพลาดจากการทำข้อสอบ
หลังจากที่ฝึกทำข้อสอบแล้ว อย่าสนใจเพียงว่าเราได้คะแนนเท่าไร แต่ควรรู้ด้วยว่าเราผิดพลาดอะไรบ้าง จะได้ปิดจุดอ่อน ลดข้อผิดพลาดก่อนเจอข้อสอบจริง และเพิ่มโอกาสในการทำคะแนนในพาร์ตนี้มากยิ่งขึ้นน้า

คลิปติว TGAT2 ความสามารถทางเหตุผล

ดูคลิปติววิชาอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่ YouTube : SmartMathPro 

เนื่องจากการเรียนหรือการทำงานในอนาคตต้องใช้การคิด การวิเคราะห์ การสื่อสาร การเชื่อมโยงต่าง ๆ ผ่านการใช้เหตุผลมาเกี่ยวข้อง พี่จึงไม่อยากให้น้อง ๆ มองข้ามพาร์ตนี้ไป เพราะนอกจากน้อง ๆ จะสามารถเก็บคะแนนจากพาร์ตนี้ เพื่ออัปคะแนน TGAT2 ให้ปังไ้ด้แล้ว ยังสามารถต่อยอด นำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อีกด้วยย

สำหรับน้อง ๆ คนไหนที่ตั้งใจจะเริ่มเตรียมสอบ TGAT2 แล้วแต่ยังไม่รู้ว่าควรจะเริ่มอ่านหนังสือยังไง หรือกังวลว่าจะเตรียมตัวสอบไม่ถูกจุด อยากได้ตัวช่วยในการเตรียมสอบวิชานี้ พี่ขอแนะนำคอร์ส TGAT2,3 ที่สอนโดย พี่ปั้น และ อ.ขลุ่ย ให้เลยน้าา

สำหรับคอร์ส TGAT2 ที่สอนโดยพี่ปั้นและอ.ขลุ่ย จะสอนเนื้อหาตั้งแต่ปูพื้นฐาน อิงตาม Test Blueprint ปีล่าสุด ครบทุกหัวข้อที่ออกสอบ พร้อมพาตะลุยโจทย์ และมีสรุปสูตรคณิตศาสตร์ที่ออกสอบบ่อยใน TGAT2 ให้น้อง ๆ ทุกคนด้วย

และในคอร์ส TGAT3 ที่สอนโดยอ.ขลุ่ย ก็จะสอนเนื้อหาตั้งแต่ปูพื้นฐานครบทุกหัวข้อ อิงตาม Test Blueprint เช่นกัน ซึ่งอ.ขลุ่ย จะพาน้อง ๆ วิเคราะห์และตะลุยโจทย์โดยละเอียด พร้อมบอกแนวคิดในการทำข้อสอบ TGAT3 ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการเก็บคะแนนแต่ละข้อให้กับน้อง ๆ

ยังไม่หมดแค่นี้ เพราะพี่ยังมี Unseen Mock Test TGAT2,3 ชุดพิเศษ แถมไปให้ด้วย 1 ชุดน้า ถ้าใครสนใจคอร์สนี้สามารถ คลิก เข้ามาดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้เลยยย

บทความ แนะนำ

บทความ แนะนำ

TGAT2 ความสามารถทางตัวเลข
TGAT2 ความสามารถทางตัวเลข สรุปเนื้อหาพร้อมแจกเทคนิคเตรียมสอบ
สรุปเนื้อหา TGAT2 ความสามารถทางมิติสัมพันธ์
TGAT2 ความสามารถทางมิติสัมพันธ์ สรุปเนื้อหาพร้อมแจกเทคนิคทำข้อสอบ
TGAT3 การบริหารจัดการอารมณ์
TGAT3 การบริหารจัดการอารมณ์ สรุปแนวข้อสอบและเฉลยละเอียดให้ครบ!
ภาพปก TGAT3 การสร้างคุณค่าและนวัตกรรม
สรุป TGAT3 การสร้างคุณค่าและนวัตกรรม พร้อมแจกตัวอย่างข้อสอบจัดเต็ม
เตรียมสอบ TGAT ยังไงดี ? สำหรับ Dek68
เตรียมสอบ TGAT ยังไง? รวมเทคนิคครบทุกพาร์ตที่ Dek68 ควรอ่าน

สำหรับน้อง ๆ ที่สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม รวมถึงติดตามข่าวสารต่าง ๆ ที่อัปเดตอย่างเรียลไทม์ ได้ที่

Line : @smartmathpronews 

FB : Pan SmartMathPro ติวคณิต By พี่ปั้น 

IG : pan_smartmathpro

Twitter : @PanSmartMathPro 

Tiktok : @pan_smartmathpro

Share