“ที่พักใจ 💕ผ่านตัวอักษร✏️
EP7 “การตั้งเป้าหมาย”
เชื่อว่าหลายคน ที่ลุกขึ้นมาลุย มาสู้อยู่ทุกวันนี้ ก็เพราะ “มีเป้าหมาย” เลยมีแรงฮึดสู้
.
แต่กลับกัน หลายคนที่อาจจะมีเหนื่อย มีท้ออยู่บ่อยครั้ง ก็อาจจะเกิดจากการที่เรา “ยังไม่มีเป้าหมาย” หรืออาจจะมีเป้าหมายแต่ … “ตั้งเป้าหมายไม่ถูกต้อง” อยู่ก็เป็นได้
.
พี่ขอรวบรวมในมุมพี่ จากทั้งประสบการณ์ และได้ฟังจากคนอื่น สรุปในมุมพี่เองนะ
เป้าหมายที่ดี ควรจะ …
1. เป็นเป้าหมายที่เรา “อยากได้มันจริงๆ” ไม่ใช่ตั้งตามคนอื่น
2. เป้าหมายที่อยากได้ ควรจะเป็น “เป้าหมายที่เรานึกถึงมันตลอด” หรือแทบจะฝันถึงอย่างงี้คืออยากได้มันจริงๆแน่นอน แต่ถ้าประเภทตั้งๆแล้วยังลืมเลยว่าตัวเองอยากได้ อันนี้อาจจะไม่ได้อยากได้มันจริงๆ
3. เป็นเป้าหมายที่ “เป็นไปได้” บางคนเข้าใจว่าตั้งเป้าหมายสูงๆจะช่วยให้มีแรง พี่ว่าจริงแค่บางส่วน บางคนตั้งสูงมาก จนท้อที่จะลงมือทำ หรือสูงเพราะอยากตั้งเว่อๆแต่ไม่ได้อยากได้จริงๆ ต้องตั้งที่ดูเป็นไปได้นะ
4. เป็นเป้าหมายที่ “เร้าใจ” พอสมควร คือยากไป สูงไปก็ไม่ดี ตั้งเป้าง่ายไป มันก็ไม่เร้าใจให้เราลงมือทำด้วย
5. เป็นเป้าหมายที่ “วัดผลได้” แบบเรามีเกณฑ์ในการวัดความสำเร็จของมัน เช่น จะลดน้ำหนักเหลือ xx กิโลกรัม จะอ่านหนังสือให้จบบทนี้ภายในวันที่ xx จะสอบติดในคณะ xx มหาลัย xx เป็นต้น
6. เป็นเป้าหมายที่ “ชัดเจน” บางคนตั้งลางๆ มองภาพยังไม่ออกเลยว่าสำเร็จเป็นยังไง ทำแล้วได้อะไร ทำไปเพื่ออะไร มันก็ยากที่จะทำมันได้ มันควรเป็นเป้าหมายที่ชัดเจน แบบหลับตานึกถึงภาพความสำเร็จนั้นได้เลย มันจะยิ่งทรงพลัง !!
7. เป็นเป้าหมายที่ “มี Deadline” มันควรมีวันที่เราตั้งไว้ ว่าจะทำมันได้ ภายในตอนไหน ไม่เช่นนั้น เราจะไม่ลงมือทำซักที ไม่ได้นะเห้ย มันต้องมีเส้นตาย !!
8. เป็นเป้าหมายที่ “ถูกเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร” เป้าหมายที่ถูกเขียน จะทรงพลังขึ้น ชัดเจนขึ้น มันเหมือนเป็นการจารึกว่านี่คือเป้าหมายที่เราอยากได้มันจริงๆ เขียนมันลงไปเถอะ เชื่อพี่
.
ลองตั้งเป้าหมายให้สอดคล้อง ตาม 8 ข้อด้านบนให้ได้มากที่สุดน้า แต่อยากเสริมว่า จริงๆเป้าหมายคนเรา ก็สามารถปรับ เปลี่ยนมันได้ตลอด มันยืดหยุ่นได้นะ บางทีเรารู้สึกยากไป ก็ลองลดเป้าลงมา บางทีถ้ารู้สึกชิลไป ก็ตั้งให้สูงขึ้นเพิ่มความเร้าใจ หรือบางทีเราอาจเปลี่ยน เบนเข็มจากเป้าหมายนี้ ไปสู่เป้าหมายใหม่ ก็ไม่ใช้เรื่องผิดอะไร
.
และอยากเสริมว่า ไม่ว่าน้องจะมีเป้าหมายอะไร น้องควรจะแบ่งมันออกเป็นชิ้นๆ วางแผนว่า ถ้าจะถึงเป้าหมายนี้ จะต้องลงมือทำอะไรบ้าง แบ่งเป้าหมายใหญ่ๆ เป็นเป้าหมายย่อยๆ ให้มันเห็นเส้นทางได้ชัดเจนขึ้น ยกตัวอย่างเช่น
.
อยากเก็บเนื้อหาเลข ม.ปลายให้จบ ภายใน 3 เดือน เราต้องแบ่งละ จะอ่านเซตกี่วัน ตรรกศาสตร์กี่วัน จำนวนจริงกี่วัน … ไปเรื่อยๆจนครบถึงบทสุดท้าย จะอ่านจากส่วนไหนบ้าง อ่านวันละกี่หน้า และจะทบทวนสิ่งที่อ่านมา (เพื่อไม่ให้ลืม) ในวันไหนบ้าง คือถ้าน้องแบ่งมันออกมาชัดเจน เป้าหมายที่ตั้งไว้ยังไงก็พลาดยากมากๆ
.
บทความนี้ยาวหน่อยนะ แต่พี่เชื่อว่ามันช่วยให้น้องๆ “ตั้งเป้าหมาย” ได้เฉียบขึ้น และมีโอกาสสำเร็จมากขึ้นด้วย
#ที่พักใจผ่านตัวอักษร #smp #smartmathpro #ติวเตอร์ที่เป็นมากกว่าติวเตอร์”