ความเครียด เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้กับทุกวัย ซึ่งเรื่องที่ทำให้คนเกิดความเครียดนั้นก็จะแตกต่างกันออกไป แต่สำหรับน้อง ๆ วัยเรียน หนึ่งในปัญหาใหญ่ที่มักจะเจออยู่เรื่อย ๆ ก็คือความเครียดในเรื่องการเรียน
แต่ในบางครั้งผู้ปกครองก็อาจจะไม่รู้หรือดูไม่ออกถ้าหากว่าลูก ๆ ไม่พูดออกมา วันนี้ก็เลยจะชวนเหล่าคุณพ่อคุณแม่มาทำความเข้าใจและสังเกตพฤติกรรมเมื่อลูกเครียดเรื่องเรียน พร้อมวิธีรับมือที่สามารถนำไปปรับใช้ได้จริง จะเป็นอย่างไรบ้างนั้น รายละเอียดตามด้านล่างนี้เลย
สนใจหัวข้อไหน ... กดอ่านเลย
Toggleสาเหตุของความเครียดเรื่องเรียน
ความเครียดเรื่องเรียน เกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ โดยส่วนมากจะเกิดขึ้นเมื่อน้อง ๆ รู้สึกกังวลในบางเรื่องเกี่ยวกับการเรียนมากจนเกินไป เช่น เรียนแล้วไม่เข้าใจ, ทำข้อสอบไม่ได้, อ่านหนังสือไม่ทัน, ทำข้อสอบออกมาแล้วคะแนนไม่ดี, การบ้านเยอะเกินไป, ไม่รู้จะเลือกเรียนต่อยังไง หรือไม่สามารถแบ่งเวลาเรียนหรือทำกิจกรรมได้อย่างเหมาะสม เป็นต้น
ลูกเครียดเรื่องเรียน พ่อแม่รับมืออย่างไร ?
มาถึงคำถามที่ว่า แล้วพ่อแม่จะรับมืออย่างไร เมื่อลูกเครียดเรื่องเรียน โดยจะเริ่มตั้งแต่การสังเกตพฤติกรรมไปจนถึงวิธีรับมือต่าง ๆ ซึ่งวิธีการรับมือนี้ยังสามารถนำไปปรับใช้ เมื่อเกิดความเครียดกับเรื่องอื่น ๆ ได้ด้วยย
1. สังเกตพฤติกรรมของลูกอยู่เสมอ
ข้อนี้สำคัญมาก เพราะการที่พ่อแม่จะรับมือหรือช่วยเหลือลูกได้ ก็จำเป็นที่จะต้องรู้ว่าลูกกำลังเครียดอยู่มั้ย เครียดแค่ไหน จากการสังเกตพฤติกรรมของลูกตามลิสต์ด้านล่างนี้เลย
- อารมณ์แปรปรวนง่าย
- มีปัญหาเกี่ยวกับการนอน นอนไม่หลับ หรือนอนมากเกินไป
- ระบบทางเดินอาหารผิดปกติ ท้องร่วง ท้องผูกบ่อยครั้ง
- มีท่าทีเบื่อ ไม่อยากทำอะไร แม้ในกิจกรรมที่เคยชอบอีกต่อไป
- ไม่มีสมาธิ
- ปวดหัวบ่อย ๆ
หมายเหตุ : เด็กที่มีความเครียด อาจไม่ได้แสดงอาการทั้งหมดนี้พร้อมกัน แนะนำว่าให้ผู้ปกครองหมั่นสังเกตพฤติกรรมอยู่เรื่อย ๆ น้า
2. รับฟัง พูดคุย ให้คำปรึกษา
ถ้าลองสังเกตพฤติกรรมของลูกแล้วรู้สึกว่าน่าจะเข้าข่ายว่ามีความเครียด ให้พ่อแม่ลองเข้าไปพูดคุย ค่อย ๆ ให้ลูกเล่าปัญหาออกมาว่าเกิดจากอะไร, ทำไมถึงกังวลเรื่องนี้ และให้คำแนะนำอย่างเหมาะสม
3. ลดความคาดหวังลง
ถ้าสาเหตุของความเครียดมาจากความคาดหวังที่มากเกินไป ไม่ว่าจะจากผู้ปกครองหรือตัวเด็กเอง เช่น ลูกคาดหวังว่าจะต้องสอบให้ได้ที่ 1 เพราะอยากให้พ่อแม่ภูมิใจ หรือพ่อแม่คาดหวังว่าลูกจะต้องเข้าเรียนในคณะหรือมหาลัยฯ ที่เลือกให้ แม้ว่าลูกอาจจะไม่ได้ชอบ เป็นต้น
อาจจะลองลดความคาดหวังเพื่อไม่ให้รู้สึกกดดันหรือเครียดมากไป แต่ทั้งนี้การลดความหวังลง พ่อแม่อาจจะต้องรีเช็กทั้งกับตัวเองและลูกก่อนว่าคาดหวังอะไร แล้วค่อย ๆ ปรับความคิดเข้าหากัน
4. ให้กำลังใจ ไม่ต่อว่าหรือตำหนิเวลาที่ลูกเครียด
เมื่อเห็นว่าลูกกำลังเครียดเรื่องเรียน พ่อแม่ไม่ควรเข้าไปต่อว่าเพราะอาจจะทำให้ลูกนั้นเกิดความเครียดมากกว่าเดิม แต่ให้พ่อแม่ลองพูดให้กำลังใจ หรือกล่าวชื่นชมบ่อย ๆ จะช่วยให้ลูกรู้สึกดีมีกำลังใจมากขึ้น
โดยเรื่องที่พ่อแม่ชมลูกนั้นไม่จำเป็นต้องเรื่องใหญ่เสมอไป เช่น เวลาที่ลูกไม่มั่นใจ ให้ลองชมว่าทำดีแล้ว ถ้าฝึกต่อไปจะต้องเก่งกว่านี้แน่ เพื่อให้ลูกมีกำลังใจทำต่อไป
5. ให้ลูกทำกิจกรรมที่สนใจ หรือ หาทำกิจกรรมร่วมกัน
แนะนำว่าให้ผู้ปกครองลองคุยเพื่อหากิจกรรมที่ลูกสนใจมาทำ โดยอาจจะปล่อยให้ลูกไปทำกิจกรรมนั้นคนเดียวเพื่อหาประสบการณ์ใหม่ ๆ หรือจะลองหากิจกรรมมาทำร่วมกับคนในครอบครัวก็ได้ เช่น ทำอาหาร, ดูหนัง หรือ ออกกำลังกาย เป็นต้น
6. ช่วยลูกจัดตารางเวลาในการทำกิจกรรมและเรียนอย่างเหมาะสม
เมื่อเวลาลูกเครียดแล้วอาจจะเกิดอาการทำอะไรไม่ถูก ไม่มีสมาธิ ไม่รู้ว่าควรจะแบ่งเวลาอย่างไร แนะนำว่าให้พ่อแม่ลองเข้าไปพูดคุย ดูว่าลูกอยากจะทำอะไร แล้วช่วยแนะนำแบบคร่าว ๆ โดยไม่ต้องบังคับ เพื่อให้เด็กรู้ว่าจะต้องทำอะไรต่อเอง
7. สอนลูกให้เริ่มจากตั้งเป้าหมายเล็ก ๆ แทนเป้าหมายใหญ่ ๆ
วิธีนี้ไม่ใช่การบอกให้ลูกทิ้งเป้าหมายหรือความฝันตัวเอง แต่เป็นการช่วยลูกปรับความคิด เปลี่ยนมุมมอง โดยให้เริ่มทำสิ่งต่าง ๆ ไปทีละขั้นเหมือนค่อย ๆ เดินขึ้นบันไดไปสู่เป้าหมายที่ใหญ่กว่า เพราะเมื่อทำเป้าหมายอะไรสักอย่างสำเร็จ เด็กจะมีกำลังใจจนอยากทำเป้าหมายอื่นต่อไปอย่างต่อเนื่องโดยไม่กดดันตัวเองนั่นเองง
เวลาที่เห็นลูกเครียดเรื่องเรียน พ่อแม่หลายคนก็อาจจะกังวลมากจนเผลอเครียดตามไปด้วย แนะนำว่าให้ลองเอาวิธีเหล่านี้ไปปรับใช้กันดู หวังว่าจะทำให้คุณพ่อคุณแม่กับลูก ๆ เข้าใจกันมากขึ้นและช่วยกันฝ่าฟันปัญหาความเครียดเรื่องเรียนไปด้วยกันได้น้าา
ติดตาม Podcast ดี ๆ จากพี่ปั้นได้ที่ YouTube Channel : SmartMathPro
บทความ แนะนำ
สำหรับน้อง ๆ ที่สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม รวมถึงติดตามข่าวสารต่าง ๆ ที่อัปเดตอย่างเรียลไทม์ ได้ที่
Line : @smartmathpronews
FB : Pan SmartMathPro ติวคณิต By พี่ปั้น
IG : pan_smartmathpro
X : @PanSmartMathPro
Tiktok : @pan_smartmathpro