สังคม ม.ปลาย ม.4 ม.5 ม.6 เรียนเรื่องอะไรบ้าง สรุปเนื้อหาสังคม ม.ปลาย ครบทุกกลุ่มสาระ

ใครกำลังมองหาสรุปวิชาสังคม ม.ปลายอยู่ หรือ กำลังสงสัยว่าสังคม ม.ปลาย เรียนอะไรบ้าง ? วันนี้พี่มีสรุปเนื้อหาสังคม ม.4 ม.5 ม.6 มาฝากทุกคน แบบจัดเต็มครบทั้ง 5 กลุ่มสาระ โดยแต่ละสาระน้อง ๆ จะได้เรียนเรื่องอะไรกันบ้าง
ไปอ่านพร้อมกันเลยยย

เนื้อหาสังคม ม.ปลาย เรียนอะไรบ้าง ?

เนื้อหาสังคม ม.ปลาย แยกชั้นปี

เนื้อหาวิชาสังคมในระดับชั้น ม.ปลาย จะแบ่งเป็น 5 สาระการเรียนรู้ คือ

สาระที่ 1 สาระศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม
สาระที่ 2 สาระหน้าที่พลเมือง วัฒนธรรม และการดำเนินชีวิตในสังคม
สาระที่ 3 สาระเศรษฐศาสตร์
สาระที่ 4 สาระประวัติศาสตร์
สาระที่ 5 สาระภูมิศาสตร์

โดยการเรียงเนื้อหาของแต่ละชั้นปีจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับการจัดเรียงเนื้อหาของทางโรงเรียน เพราะเนื้อหาสังคม ม.ปลาย แต่ละกลุ่มสาระไม่ใช่เนื้อหาที่ต่อเนื่องกัน ดังนั้นในบทความนี้พี่จะเรียงเนื้อหาตามที่หลายโรงเรียนมักจะเรียงกันน้า

เนื้อหาสังคม ม.ปลาย ม.4 5 6 สาระสาระศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม และสาระหน้าที่พลเมือง วัฒนธรรม การดำเนินชีวิตในสังคม สาระเศรษฐศาสตร์ สาระประวัติศาสตร์ (ประวัติศาสตร์ไทย) สาระประวัติศาสตร์ (ประวัติศาสตร์สากล) และสาระภูมิศาสตร์

ดาวน์โหลดภาพสรุปเนื้อหาสังคม ม.ปลาย คลิก

เนื้อหาสังคม ม.4 เรียนอะไรบ้าง ?

เนื้อหาสังคม ม.4 สาระสาระศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม และสาระหน้าที่พลเมือง วัฒนธรรม และการดำเนินชีวิตในสังคม

ดาวน์โหลดภาพสรุปเนื้อหาสังคม ม.4 คลิก

เนื้อหาสังคมศึกษาที่หลายโรงเรียน มักจะหยิบมาให้น้อง ๆ เรียนตอน ม.4 นั้น มีอยู่ 2 สาระ คือ สาระศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม รวมถึง สาระหน้าที่พลเมือง วัฒนธรรม และการดำเนินชีวิตในสังคม ซึ่งแต่ละสาระก็จะมีรายละเอียดเนื้อหาดังนี้

สาระศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม สิ่งที่น้อง ๆ จะได้เรียนในสาระนี้มีตั้งแต่ศาสนาพุทธ ทั้ง
พุทธประวัติ หลักธรรมของศาสนาพุทธ วันสำคัญทางศาสนา และอื่น ๆ อีกมากมาย นอกจากนี้ยังได้เรียนศาสนาสากลด้วยน้าา

  • ประวัติและความสำคัญของพระพุทธศาสนา  เรียนเกี่ยวกับลักษณะของสังคมชมพูทวีป และคติความเชื่อทางศาสนาสมัยก่อนพระพุทธเจ้า รวมถึงแนวคิดและทฤษฎีต่าง ๆ ของพระพุทธศาสนาที่เป็นสากล
  • พุทธประวัติและชาดก เรียนเกี่ยวกับพุทธประวัติอย่างละเอียด ตั้งแต่ประสูติจนปรินิพพาน รวมถึงเรื่องราวของพระพุทธเจ้าในชาติก่อน ๆ ด้วย
  • วันสำคัญทางพระพุทธศาสนาและศาสนพิธี เรียนเกี่ยวกับประวัติวันสำคัญต่าง ๆ ของ
    ชาวพุทธ หลักธรรมที่เกี่ยวข้อง และวิธีการปฏิบัติตัวเมื่อถึงวันสำคัญเหล่านั้น เพื่อให้เราปฏิบัติตัวได้อย่างเหมาะสม
  • หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา เรียนเกี่ยวกับหลักธรรม และคำแปลของหลักธรรมต่าง ๆ เช่น อริยสัจ 4 พรหมวิหาร 4 และขันธ์ 5 ซึ่งพี่แนะนำว่า ถ้าน้อง ๆ จำได้ก็จะสามารถใช้ความรู้นี้ต่อได้ยาว ๆ เลย เพราะเรื่องนี้ออกข้อสอบเยอะมากกก
  • พระไตรปิฎกและพุทธศาสนสุภาษิต เรียนเกี่ยวกับคัมภีร์ในพระพุทธศาสนา และ
    พุทธสุภาษิตที่น้อง ๆ สามารถนำมาปรับใช้ได้ในชีวิตประจำวัน
  • การบริหารจิตและเจริญปัญญา เรียนเกี่ยวกับวิธีการบริหารจิต การนั่งสมาธิ และหลักการคิดแบบโยนิโสมนสิการ
  • พุทธสาวก พุทธสาวิกา และศาสนิกชนตัวอย่าง เรียนเกี่ยวกับประวัติที่น่าสนใจของชาวพุทธที่คัดเลือกมาให้
    น้อง ๆ ได้รู้จัก และนำแนวคิดของพวกเขาไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน
  • หน้าที่และมารยาทของชาวพุทธ เรียนเกี่ยวกับหน้าที่ของชาวพุทธ และมารยาทต่าง ๆ ในการปฎิบัติตนที่ถูกต้องและเหมาะสมต่อพระสงฆ์ รวมถึงการปฏิบัติตนเมื่อต้องเข้าวัด
  • ความรู้ทั่วไปของศาสนา เรียนเกี่ยวกับความรู้เบื้องต้นของทุกศาสนาตั้งแต่ศาสนาคืออะไร ? มีความสำคัญอย่างไร ? ไปจนถึงวิธีการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างทางศาสนา
  • ศาสนาสำคัญในประเทศไทย ถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญในสาระนี้ ที่เรียนเกี่ยวกับที่มาของคำสอน และวิธี
    การปฏิบัติทางศาสนาที่แตกต่างกันของแต่ละศาสนาในประเทศไทย โดยศาสนาที่น้อง ๆ มักจะได้เรียน คือ ศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาสิข (ศาสนาซิกข์)

สาระหน้าที่พลเมือง วัฒนธรรม และการดำเนินชีวิตในสังคม สำหรับสาระนี้ เราจะได้เรียนเกี่ยวกับจุดเริ่มต้นของการตั้งสังคมว่า คนเรามาอยู่ร่วมกันได้อย่างไร มีระบบการปกครองอย่างไรบ้าง ไปจนถึงกฎหมายต่าง ๆ เพื่อให้ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้

  • สังคมมนุษย์ เรียนเกี่ยวกับการเป็นสังคมหนึ่ง ๆ ตั้งแต่ความหมายของสังคม องค์ประกอบของสังคม โครงสร้างสังคม สถาบันสังคม การจัดระเบียบสังคม การขัดเกลาทางสังคม การเปลี่ยนแปลงทางสังคม รวมถึงปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหาสังคม
  • วัฒนธรรมไทย เรียนเกี่ยวกับวัฒนธรรมในทุกด้าน เช่น ความหมายของวัฒนธรรม ลักษณะของวัฒนธรรมการ-ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรม ความแตกต่างทางวัฒนธรรม แนวทางการอนุรักษ์วัฒนธรรม และวิธีการเลือกรับวัฒนธรรมสากล
  • พลเมืองดีของประเทศชาติและสังคมมนุษย์ เรียนเกี่ยวกับความสำคัญและลักษณะของการเป็นพลเมืองดี รวมถึงวิธีต่าง ๆ ในการพัฒนาตนเองให้เป็นพลเมืองดี
  • สิทธิมนุษยชน เรียนเกี่ยวกับความหมาย หลักการ และความสำคัญของสิทธิมนุษยชน บทบัญญัติเกี่ยวกับหลักสิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญของไทย บทบาทขององค์กรสิทธิมนุษยชน รวมถึงปัญหาและวิธีการแก้ไขเรื่องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย
  • ระบอบการเมืองการปกครอง เรียนเกี่ยวกับลักษณะการเมืองการปกครองในรูปแบบต่าง ๆ สถานการณ์การเมืองการปกครองของไทย ปัญหาการเมืองที่เคยเกิดขึ้นในประเทศ ไปจนถึงนโยบายด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
  • รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เรียนเกี่ยวกับหลักการสำคัญต่าง ๆ ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ควรรู้ เช่น สิทธิและหน้าที่ของปวงชนชาวไทย พรรคการเมือง และองค์กรอิสระ
  • กฎหมายในชีวิตประจำวัน ถือเป็นอีกเรื่องที่น่าสนใจมาก เพราะเป็นเรื่องที่เรียนเกี่ยวกับกฎหมาย ตั้งแต่ความ-หมาย ความสำคัญ และกฎหมายสำคัญที่ควรรู้ซึ่งสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้

เนื้อหาสังคม ม.5 เรียนอะไรบ้าง ?

หลังจากได้รู้ภาพรวมเนื้อหาสังคม ม.4 กันมาแล้ว พี่ขอบอกเลยว่า เนื้อหาสังคม ม.5 เอง ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน โดยเราจะได้เรียน สาระเศรษฐศาสตร์ และ สาระประวัติศาสตร์ (ไทย) ส่วนแต่ละสาระจะมีอะไรบ้างนั้น ตามไปดูพร้อมกันเลยยย

เนื้อหาสังคม ม.5 สาระเศรษฐศาสตร์ และสาระประวัติศาสตร์ (ประวัติศาสตร์ไทย)

ดาวน์โหลดภาพสรุปเนื้อหาสังคม ม.5 คลิก

สาระเศรษฐศาสตร์ หลายคนคงเคยได้ยินมาบ้างแล้วว่า สาระนี้เกี่ยวข้องกับเรื่องเศรษฐกิจ เงิน ๆ ทอง ๆ ดังนั้นเราจะได้เจอคำยอดฮิตอย่าง อุปสงค์ อุปทาน เงินฝืด และเงินเฟ้อแน่นอน นอกจากนี้จะได้เรียนเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์จุลภาค ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสิ่งเล็ก ๆ ในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงเศรษฐศาสตร์มหภาค ที่พูดถึงเรื่องใหญ่ ๆ อย่างเศรษฐกิจนั่นเอง

  • เศรษฐศาสตร์เบื้องต้น เรียนเกี่ยวกับการปูพื้นฐานเพื่อทำความเข้าใจวิชาเศรษฐศาสตร์ ก่อนไปเรียนรู้เรื่องอื่น ๆ เช่น ความหมายและความสำคัญของวิชาเศรษฐศาสตร์ ปัญหา
    พื้นฐานของเศรษฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์กับการใช้ชีวิตประจำวัน
  • ระบบเศรษฐกิจในโลกปัจจุบัน เรียนเกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจที่ใช้กันทั่วโลกในหลายด้าน เช่น ตลาดในระบบเศรษฐกิจ กลไกและการกำหนดราคา การกำหนดค่าจ้าง รวมไปถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานอีกด้วย
  • เศรษฐกิจพอเพียงกับการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย เรียนเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงในทุกมิติ เช่น โครงสร้างเศรษฐกิจไทย การพัฒนาเศรษฐกิจ และการนำเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจ
  • สหกรณ์และการรวมกลุ่มเพื่อการพัฒนาชุมชนของไทย เรียนเกี่ยวกับการรวมกลุ่มเป็นสหกรณ์และเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับชุมชนไทยในด้านต่าง ๆ
  • นโยบายการเงิน การคลัง เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่มากกก เพราะอยู่ในเศรษฐศาสตร์มหภาค ซึ่งเรียนเกี่ยวกับ เงินฝืด เงินเฟ้อ งบประมาณเกินดุล ขาดดุล รวมถึงเรียนเกี่ยวกับการทำงานของรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยในการดูแลและพัฒนาเศรษฐกิจของไทยด้วย
  • เศรษฐกิจระหว่างประเทศ  เรียนเกี่ยวกับ การค้า การลงทุน และการเงินระหว่างประเทศ รวมถึงจะได้รู้จักองค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ๆ ทั่วโลกด้วยน้าา

สาระประวัติศาสตร์ (ประวัติศาสตร์ไทย) เนื่องจากเนื้อหาของสาระนี้หลัก ๆ จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ประวัติศาสตร์ไทยและประวัติศาสตร์สากล ทำให้หลาย ๆ โรงเรียน มักจะแยกเรียนคนละภาคเรียน โดยจะให้เรียนประวัติศาสตร์ไทยช่วง ม.5 และไปเรียนประวัติศาสตร์สากลช่วง ม.6 นั่นเอง

โดยในเนื้อหาประวัติศาสตร์ไทย น้อง ๆ จะได้เรียนตั้งแต่ความรู้พื้นฐานทางประวัติศาสตร์ เช่น เวลาและยุคสมัยประวัติศาสตร์ การสร้างองค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์ และเรื่องราวสำคัญในแต่ละยุคสมัย

  • เวลาและยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ไทย เรียนเกี่ยวกับเนื้อหาสำหรับปูพื้นฐานการเรียนประวัติศาสตร์ เช่น การแบ่งยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ และศักราชในประวัติศาสตร์ไทย
  • การสร้างองค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์ไทย เรียนเกี่ยวกับความหมาย ความสำคัญ
    ขั้นตอนและประโยชน์ของวิธีการทางประวัติศาสตร์ รวมถึงหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไทย
  • วิเคราะห์ประเด็นสำคัญทางประวัติศาสตร์ไทย เรียนเกี่ยวกับการหาคำตอบของประเด็นสำคัญต่าง ๆ ทางประวัติศาสตร์ เช่น ความเป็นมาของชาติไทย อาณาจักรโบราณในดินแดนไทย การเข้าร่วมสงครามโลก การปฏิรูปบ้านเมือง และอิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันออกและตะวันตกที่มีต่อสังคมไทย
  • ผลงานของบุคคลสำคัญในการสร้างสรรค์ชาติไทย เรียนเกี่ยวกับบุคคลสำคัญต่าง ๆ ในประวัติศาสตร์ ที่มีส่วนในการพัฒนาประเทศของเรา
  • การสร้างสรรค์วัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย เรียนเกี่ยวกับวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทยในทุกด้าน เช่น การสร้างสรรค์ การสืบทอดและการเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย รวมถึงบุคคลที่มีบทบาทในการส่งเสริมวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย

เนื้อหาสังคม ม.6 เรียนอะไรบ้าง ?

เนื้อหาสังคม ม.6 สาระประวัติศาสตร์ (ประวัติศาสตร์สากล) และสาระภูมิศาสตร์

ดาวน์โหลดภาพสรุปเนื้อหาสังคม ม.6 คลิก

เดินทางมาถึงเนื้อหาสังคมม.ปลาย ในชั้นปีสุดท้ายอย่างเนื้อหาสังคม ม.6 กันแล้ว สิ่งที่น้อง ๆ จะได้เรียนในปีนี้ก็ยังคง
อัดแน่นเหมือนเนื้อหาสังคม ม.4 และ สังคม ม.5 เลย โดยสาระที่จะได้เรียน คือ สาระประวัติศาสตร์ (สากล) และสาระภูมิศาสตร์

สาระประวัติศาสตร์ (ประวัติศาสตร์สากล) อย่างที่พี่ได้อธิบายไปแล้วว่า การแบ่งเนื้อหาสาระประวัติศาสตร์ของแต่ละโรงเรียน มักจะแยกเรียนกันคนละภาคเรียน ซึ่งในเนื้อหาสังคม ม.6 น้อง ๆ จะได้เรียนประวัติศาสตร์สากลตั้งแต่พื้นฐานทางประวัติศาสตร์ อารยธรรมยุคโบราณ ไปจนถึงเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่มีผลต่อโลกปัจจุบัน

  • เวลาและการแบ่งยุคสมัยทางประวัติศาสตร์สากล เรียนเกี่ยวกับความสำคัญของเวลาและยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ การนับและเทียบศักราช และการแบ่งยุคสมัยประวัติศาสตร์สากล
  • การสร้างองค์ความรู้ใหม่ทางประวัติศาสตร์สากล เรียนเกี่ยวกับความสำคัญและขั้นตอนทางประวัติศาสตร์ รวมถึงลักษณะของหลักฐานทางประวัติศาสตร์สากลด้วยว่าเป็นแบบไหน
  • อารยธรรมของโลกยุคโบราณ เรียนเกี่ยวกับอารยธรรมสำคัญต่าง ๆ ทั้งในโลกตะวันตกและโลกตะวันออก รวมถึงเรียนรู้ว่า โลกทั้งสองฝั่งนี้มีการติดต่อและมีอิทธิพลต่อกันอย่างไรบ้าง
  • เหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่มีผลต่อโลกปัจจุบัน ถือเป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญ ซึ่งเรียนเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ส่งผลต่อโลกในปัจจุบัน เช่น เหตุการณ์ในสมัยกลาง (สงคราม
    ครูเสด การฟื้นฟูศิลปวิทยาการ) เหตุการณ์ในสมัยใหม่ (การค้นพบและการสำรวจทางทะเล การปฏิรูปศาสนา การปฏิวัติอุตสาหกรรม) นอกจากนี้น้อง ๆ จะได้เรียนเกี่ยวกับเหตุการณ์ความขัดแย้งและความร่วมมือต่าง ๆ ของมนุษย์ที่ส่งผลมาถึงปัจจุบันด้วย
  • สถานการณ์สำคัญของโลกในคริสต์ศตวรรษที่ 21 เรียนเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ของโลกยุคปัจจุบันที่มีความอัปเดตและทันสมัยขึ้น ซึ่งเนื้อหาที่คุณครูหยิบมาสอนจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับว่า ในช่วงเวลานั้น ๆ มีเหตุการณ์สำคัญอะไรเกิดขึ้นบ้าง

สาระภูมิศาสตร์ เนื้อหาสาระนี้จะเกี่ยวข้องกับโลกและสิ่งแวดล้อมทั้งหมด โดยเราจะได้เรียนตั้งแต่เครื่องมือทางภูมิศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของโลก สิ่งแวดล้อมทางกายภาพกับประชากร ไปจนถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติ และยังมีเรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย ไปดูด้วยกันเลยยย

  • เครื่องมือทางภูมิศาสตร์ เรียนเกี่ยวกับเครื่องมือต่าง ๆ ที่ใช้ในการศึกษาภูมิศาสตร์ เช่น แผนที่ หรือเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ ฯลฯ
  • การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของโลก เรียนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ของโลกใบนี้ ทั้งธรณีภาค บรรยากาศภาค อุทกภาค และชีวภาค
  • สิ่งแวดล้อมทางกายภาพกับประชากร บทนี้เป็นการเรียนรู้แบบบูรณาการ คือ นอกจากได้เรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมแล้ว น้อง ๆ ยังได้ฝึกหาคำตอบว่า สิ่งแวดล้อมเหล่านี้ก่อให้เกิดการตั้งถิ่นฐาน หรือการเปลี่ยนแปลงของประชากรอย่างไรบ้าง
  • สิ่งแวดล้อมทางกายภาพกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สำหรับเรื่องนี้เป็นการผสมผสานเนื้อหาระหว่างภูมิศาสตร์กับเศรษฐศาสตร์ เพราะน้อง ๆ จะได้เรียนรู้ว่า ประชาชนในแต่ละพื้นที่ประกอบอาชีพอะไรบ้าง และเพราะอะไร ทั้งด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม หรือการ
    ท่องเที่ยว
  • ภัยพิบัติทางธรรมชาติ เรียนเกี่ยวกับภัยพิบัติต่าง ๆ ตั้งแต่สาเหตุการเกิด วิธีการป้องกันและแก้ไข รวมถึงวิธีปฏิบัติตัวที่ถูกต้องให้ปลอดภัยเมื่อเกิดภัยพิบัติ
  • ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรียนเกี่ยวกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลง การป้องกันและแก้ไขปัญหาของทรัพยากรธรรมชาติรวมถึงสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังได้เรียนเกี่ยวกับการจัดการและพัฒนาทางด้านสิ่งแวดล้อมทั้งของไทยและของโลก ซึ่งเข้ากับสถานการณ์โลกมากกก เพราะปัจจุบันการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่ง-แวดล้อมมีความสำคัญมากขึ้นนั่นเอง

จบลงไปแล้วกับเนื้อหาสังคม ม.ปลาย ครบทุกกลุ่มสาระทั้ง ม.4 ม.5 และ ม.6 ที่พี่รวบรวมและสรุปมาให้ทุกคนในบทความนี้ จะเห็นว่า มีหลายเรื่องที่น่าสนใจและเกี่ยวข้องกับชีวิต สังคม และโลกที่เราอยู่ ซึ่งถ้าน้อง ๆ ได้เรียนเจาะลึกในแต่ละเรื่องก็จะยิ่งเข้าใจและสนุกไปกับเนื้อหามากขึ้น โดยน้อง ๆ สามารถดูเนื้อหาจากบทความนี้เป็นแนวทางในการเตรียมตัวอ่านหนังสือล่วงหน้าสำหรับการเรียนในห้องหรือการสอบได้เลย

แต่ขอย้ำอีกทีว่าการเรียงเนื้อหาสังคม ม.ปลาย ในแต่ละชั้นปีของบทความนี้อาจจะไม่ตรงกับการจัดบทเรียนของบางโรงเรียน แนะนำว่าให้สอบถามกับคุณครูประจำวิชาก่อนเพื่อเช็กความถูกต้องควบคู่กันไปอีกทีน้าาา

แหล่งข้อมูลอ้างอิง
– หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน พระพุทธศาสนา ม.4-6 (อจท.)
– หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ประวัติศาสตร์ไทย ม.4-6 (อจท.)
– หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ประวัติศาสตร์สากล ม.4-6 (อจท.)
– หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน หน้าที่พลเมือง วัฒนธรรมและการดำเนินชีวิตในสังคม ม.4-6 (อจท.)
– หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน เศรษฐศาสตร์ ม.4-6 (อจท.)
– หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ภูมิศาสตร์ ม.4-6 (อจท.)
– หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551

บทความ แนะนำ

บทความ แนะนำ

สรุปเนื้อหาสังคม เศรษฐศาสตร์จุลภาค
เศรษฐศาสตร์จุลภาคคืออะไร? สรุปเนื้อหาเศรษฐศาสตร์พร้อมข้อสอบจริง
สรุปเนื้อหาสังคม เรื่องเศรษฐศาสตร์มหภาค
เศรษฐศาสตร์มหภาค สรุปเนื้อหาวิชาเศรษฐศาสตร์พร้อมข้อสอบจริง
สรุปเนื้อหาสังคม เรื่องประวัติศาสตร์สากล
ประวัติศาสตร์สากล สรุปเนื้อหาประวัติศาสตร์ พร้อมข้อสอบจริง
สรุปเนื้อหาสังคม ม.ปลาย ประวัติศาสตร์ไทย
ประวัติศาสตร์ไทย มีอะไรบ้าง? สรุปเนื้อหาพร้อมข้อสอบจริงให้ฝึกทำ
สรุปเนื้อหาคณิตศาสตร์ ม.ปลาย ม.4 ม.5 ม.6 ต้องเรียนอะไรบ้าง
คณิตศาสตร์ ม.ปลาย (ม.4 ม.5 ม.6) หลักสูตรใหม่ เรียนเรื่องอะไรบ้าง ?
Dek68 จะสอบเข้ามหาลัยฯ ต้องเตรียมตัวยังไง ?
Dek68 สอบเข้ามหาลัยฯ ควรเริ่มยังไง? สรุปทุกขั้นตอนควรรู้ของ TCAS68

สำหรับน้อง ๆ ที่สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม รวมถึงติดตามข่าวสารต่าง ๆ ที่อัปเดตอย่างเรียลไทม์ ได้ที่

Line : @smartmathpronews 

FB : Pan SmartMathPro ติวคณิต By พี่ปั้น 

IG : pan_smartmathpro

Twitter : @PanSmartMathPro 

Tiktok : @pan_smartmathpro

Share