สรุปเนื้อหาคณิตศาสตร์ ม.5

มีใครกำลังอยู่ในช่วงเตรียมสอบคณิต ม.5 อยู่บ้างงง น้อง ๆ รู้มั้ยว่าเนื้อหาคณิต ม.5 เป็นอีกชั้นปีที่มีเนื้อหาเยอะไม่แพ้ ม.4 และ ม.6 เลยนะ ซึ่งอาจจะเป็นปัญหาสำหรับน้อง ๆ หลายคนที่ไม่รู้จะวางแผนอ่านหนังสือยังไง เริ่มอ่านเรื่องไหนก่อนเรื่องไหนหลัง แต่ไม่ต้องห่วงน้าา เพราะพี่มีสรุปคณิต ม.5 ทั้ง 2 เทอมพร้อมตัวอย่างโจทย์และคลิปติวฟรีมาให้ทุกคนแล้วว สำหรับใครที่อยากรู้แล้วว่าเนื้อหาคณิตม.5 จะมีเรื่องอะไรบ้าง ก็ไปดูกันได้เลยย

อย่างที่รู้กันว่าวิชาคณิตพื้นฐาน ของม.ปลาย เป็นวิชาที่น้อง ๆ จะได้เรียนกันทุกคนไม่ว่าตอน ม.4 จะเลือกสายการเรียนไหนมา ซึ่งในม.5 นี้ก็ยังคงได้เรียนวิชาคณิตพื้นฐานกันอยู่เหมือนเดิม โดยตามหลักสูตรใหม่ของ สสวท นั้นมี 3 บท คือ
เลขยกกำลัง ฟังก์ชัน และลำดับ แต่ละเรื่องจะเรียนอะไรบ้าง ตามไปดูด้านล่างนี้เลยยย

เลขยกกำลัง

น้อง ๆ หลายคนคงจะคุ้นหูกันดีกับเรื่องเลขยกกำลัง เพราะเป็นเรื่องที่เราเคยเรียนมาแล้วในคณิต ม.ต้น ซึ่งในคณิต ม.5 นี้ ทุกคนจะได้ทบทวนเรื่องเลขยกกำลังกันอีกครั้งเป็นบทแรกเลย ซึ่งเนื้อหาที่จะได้เรียนก็ตามด้านล่างนี้น้า

1. เลขยกกำลังที่มีเลขชี้กำลังเป็นจำนวนเต็ม โดยทบทวนว่าเลขยกกำลังคืออะไร สมบัติของเลขยกกำลังที่มีเลขชี้กำลังเป็นจำนวนเต็ม ทั้งจำนวนเต็มบวก จำนวนเต็มลบ และศูนย์(0)

2. รากที่ n ของจำนวนจริง รู้จักกับรากที่สอง และรากที่ n ของจำนวนจริง, ความหมายของค่าหลักของรากที่ n, รู้จักกับเครื่องหมายกรณฑ์, สมบัติที่เกี่ยวข้องกับจำนวนจริงในรูปกรณฑ์

3. เลขยกกำลังที่มีเลขชี้กำลังเป็นจำนวนตรรกยะ รู้จักความหมายของเลขยกกำลังที่มีเลขชี้กำลังเป็นจำนวนตรรกยะ (เศษส่วน), ทฤษฎีบทที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการของเลขยกกำลังว่าเหมือนหรือต่างกับเลขยกกำลังที่มีเลขชี้กำลัง
เป็นจำนวนเต็มหรือไม่

ดูคลิปติวคณิตม.5 "เลขยกกำลัง"

ติดตามคลิปติวฟรีอื่นๆ จากพี่ปั้น ได้ทาง YouTube Channel : SmartMathPro

ฟังก์ชัน

สำหรับบทนี้ น้อง ๆ จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับพื้นฐานของเรื่องฟังก์ชันตั้งแต่ความสัมพันธ์ของข้อมูลสองกลุ่ม ในทางคณิตศาสตร์จะเรียกข้อมูลพวกนี้ว่าเป็นข้อมูลเข้า และข้อมูลออก แล้วนอกจากนี้ก็ยังมีฟังก์ชันเชิงเส้น ฟังก์ชันกำลังสอง ฟังก์ชันขั้นบันได และฟังก์ชันเอกซ์โพเนนเชียล แต่ละเรื่องในบทนี้จะต้องเรียนอะไรบ้าง ไปดูกัน !!

1. ฟังก์ชัน ความสัมพันธ์ของข้อมูลสองกลุ่ม, ความหมายของฟังก์ชัน, ความสัมพันธ์ของข้อมูลในแบบใดจึงจะเรียกได้ว่าเป็นฟังก์ชัน

2. ฟังก์ชันเชิงเส้น ศึกษาว่าฟังก์ชันเชิงเส้นเขียนในรูปฟังก์ชันยังไง, กราฟมีหน้าตาแบบไหน, โจทย์ปัญหาเกี่ยวกับฟังก์ชันเชิงเส้นในชีวิตประจำวัน

3. ฟังก์ชันกำลังสอง ฟังก์ชันในลักษณะใดที่เรียกได้ว่าเป็นฟังก์ชันกำลังสอง, กราฟมีหน้าตาแบบใด, องค์ประกอบกราฟของฟังก์ชันกำลังสอง, การใช้กราฟของฟังก์ชันกำลังสองในการแก้ปัญหา

4. ฟังก์ชันขั้นบันได ตัวอย่างฟังก์ชันที่พบได้ในชีวิตประจำวัน, ความหมาย การใช้งาน หน้าตาของกราฟฟังก์ชันขั้นบันได

5. ฟังก์ชันเอกซ์โพเนนเชียล ลักษณะของกราฟ, การที่ค่าบางตัวในฟังก์ชันเปลี่ยนไปจะมีผลยังไงกับกราฟของฟังก์ชันเอกซ์โพเนนเชียล

ลำดับและอนุกรม

สำหรับคณิตศาสตร์ ม.5 เรื่องลำดับและอนุกรม น้อง ๆ จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับลำดับตั้งแต่ความหมาย อนุกรม และ
การประยุกต์ของลำดับและอนุกรม ซึ่งเรื่องพวกนี้ถือเป็นพื้นฐานสำคัญ ในการนำไปแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับ
ชีวิตประจำวันได้ เช่น การออมเงิน การแก้ปัญหาเกี่ยวกับดอกเบี้ย เป็นต้น น่าสนใจมาก ๆ เลยใช่ไหมล่ะ

1. ลำดับ ลำดับคืออะไร, การเขียนแสดงลำดับ, รู้จักกับพจน์ทั่วไปของลำดับ, เรียนรู้ลำดับประเภทต่าง ๆ ที่สำคัญ

2. อนุกรม ความหมายของอนุกรม, อนุกรมประเภทต่าง ๆ ที่สำคัญ

3. การประยุกต์ของลำดับและอนุกรม ดอกเบี้ยทบต้น, มูลค่าปัจจุบันและมูลค่าอนาคต, ค่างวด, การใช้ความรู้เรื่องลำดับและอนุกรมมาใช้อธิบายและหาค่าต่าง ๆ เหล่านี้ได้ยังไง

คณิตศาสตร์เพิ่มเติม ม.5 เทอม 1 เรียนอะไรบ้าง ?

ฟังก์ชันตรีโกณมิติ

หลายคนอาจจะคุ้นกับฟังก์ชันจากเนื้อหาในวิชาคณิตพื้นฐาน ม.5 หรือความสัมพันธ์และฟังก์ชันในคณิตเพิ่มเติม ม.4 ส่วนตรีโกณมิติก็ได้เรียนมาแล้วในเรื่องอัตราส่วนตรีโกณมิติของคณิต ม.ต้น เมื่อนำสองเรื่องนี้มารวมกัน น้อง ๆ ก็จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับตรีโกณมิติในรูปของฟังก์ชัน แต่หัวข้อย่อยของบทฟังก์ชันตรีโกณมิติจะเป็นยังไง เราไปหาคำตอบให้หายข้องใจจากเนื้อหาที่พี่เอามาฝากทุกคนกันเลยดีกว่าาา

1. การหาค่าของฟังก์ชันตรีโกณมิติ การหาค่าของมุมต่าง ๆ โดยอาศัยวงกลมหนึ่งหน่วย

2. กราฟของฟังก์ชันตรีโกณมิติ พิจารณากราฟของฟังก์ชันตรีโกณมิติต่าง ๆ ซึ่งมีลักษณะพิเศษนั่นคือ เป็นฟังก์ชันที่เป็นคาบ

3. ฟังก์ชันตรีโกณมิติของผลบวกและผลต่างของมุม การหาค่าของฟังก์ชันตรีโกณมิติของมุมที่มีลักษณะซับซ้อนยิ่งขึ้น

4. ตัวผกผันของฟังก์ชันตรีโกณมิติ เหมือนในบทความสัมพันธ์และฟังก์ชัน เราจะได้เรียนตัวผกผัน ซึ่งสำหรับฟังก์ชันตรีโกณมิตินั้นมีข้อจำกัดบางอย่างในการพิจารณาตัวผกผัน

5. เอกลักษณ์ตรีโกณมิติและสมการตรีโกณมิติ ลักษณะพิเศษซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของตรีโกณมิติโดยอาศัยวงกลมหนึ่งหน่วย การนำเอกลักษณ์นี้ไปใช้ในการแก้สมการตรีโกณมิติ

6. กฎของไซน์และกฎของโคไซน์ ลักษณะบางอย่างภายในสามเหลี่ยม ซึ่งสามารถใช้กฏทั้งสองไปประยุกต์ใช้ได้

7. การหาระยะทางและความสูง การนำความรู้อัตราส่วนตรีโกณมิติและฟังก์ชันตรีโกณมิติไปประยุกต์ใช้ในการหาระยะทางและความสูง

เนื้อหาที่ควรรู้ก่อนเรียนเรื่อง ฟังก์ชันตรีโกณมิติ ม.5

แนะนำให้น้อง ๆ ทบทวนเรื่องอัตราส่วนตรีโกณมิติ ม.3 และทฤษฎีบทพีทาโกรัส เพราะจะถูกนำมาใช้ต่อยอดในบทนี้
แน่ ๆ  โดยแนะนำให้ฝึกทำโจทย์เกี่ยวกับการหาความยาวด้านของรูปสามเหลี่ยมมุมฉาก และจำความยาวด้านของรูปสามเหลี่ยมมุมฉากที่ใช้บ่อย จะช่วยให้ทุกคนทำโจทย์ในบทนี้ได้คล่องขึ้นด้วยนะ

เนื่องจากชื่อบทนี้ขึ้นต้นด้วยคำว่า “ฟังก์ชัน” ใครที่เรียนบทความสัมพันธ์และฟังก์ชันมาแล้ว อยากให้กลับไปทบทวนเนื้อหาเก่า ๆ ที่เคยเรียนมาด้วยน้า ไม่ว่าจะเป็นการหาโดเมนและเรนจ์ของฟังก์ชัน การหาตัวผกผันของฟังก์ชัน รวมถึงการเขียนกราฟของฟังก์ชัน

ตัวอย่างโจทย์ ฟังก์ชันตรีโกณมิติ

จงแก้สมการ 2\sin ^{2}\theta +3\cos \theta-3=0
เมื่อ 0^{\circ}\leq \theta \leq 360^{\circ}

เฉลย

ตอบ ค่าของ \theta ในช่วง \left [ 0^{\circ},360^{\circ} \right ] ที่ทำให้สมการเป็นจริง คือ 0^{\circ},60^{\circ},300^{\circ} และ 360^{\circ}

ดูคลิปติวคณิต ม.5 "ฟังก์ชันตรีโกณมิติ"

ติดตามคลิปติวฟรีอื่น ๆ จากพี่ปั้น ได้ทาง YouTube Channel : SmartMathPro

เมทริกซ์

เมทริกซ์ เป็นอีกหนึ่งบทเรียนที่มีความสำคัญมาก ๆ เลยน้า เพราะสามารถเอาไปต่อยอด แก้ปัญหาเกี่ยวกับการวางแผนต่าง ๆ การจัดการข้อมูล การคำนวณในด้านการแพทย์และคอมพิวเตอร์อีกด้วย ส่วนเรื่องที่น้อง ๆ จะได้เรียนเป็นแค่ความรู้เบื้องต้นเท่านั้นนะ !! เนื้อหาต่าง ๆ พี่ได้รวบรวมมาให้หมดแล้ว อาจจะเยอะหน่อย แต่ไม่ยากเกินความพยายาม
ของทุกคนแน่นอน ^_^ !!

1. ความรู้เบื้องต้นของเมทริกซ์ เป็นการทำความเข้าใจลักษณะของข้อมูลที่เป็นแถวและหลัก, การเท่ากันของเมทริกซ์,

พีชคณิตของเมทริกซ์ ได้แก่ การบวก ลบ และคูณ, เมทริกซ์ที่มีลักษณะพิเศษบางประการ

2. ดีเทอร์มิแนนต์ การหาค่าประจำตัวของเมทริกซ์ ซึ่งจะกล่าวถึงดีเทอร์มิแนนต์ของเมทริกซ์ที่มีขนาด 2×2 และ 3×3 เท่านั้น, การดำเนินการบางอย่างกับการเปลี่ยนแปลงค่าดีเทอร์มิแนนต์

3. เมทริกซ์ผกผัน การหาตัวผกผันการคูณของเมทริกซ์ ซึ่งจะพิจารณาเฉพาะเมทริกซ์ผกผันขนาด 2×2 เท่านั้น

4. การหาคำตอบของระบบสมการเชิงเส้น เป็นการนำความรู้ของเมทริกซ์ทั้งหมดไปประยุกต์ใช้กับการแก้ระบบสมการเชิงเส้น ซึ่งมีจำนวนสมการมากกว่า 2 สมการ และมีตัวแปรมากกว่า 3 ตัวแปร โดยอาศัยการดำเนินการตามแถว


เนื้อหาที่ควรรู้ก่อนเรียนเรื่องเมทริกซ์ ม.5

ถ้าน้อง ๆ คนไหนที่แอบเปิดดูเนื้อหาของบทนี้คร่าว ๆ จะรู้สึกว่าไม่คุ้นเคยกับสัญลักษณ์ที่ใช้ในบทนี้สักเท่าไร เพราะว่าเนื้อหาบทนี้ในช่วงแรกจะค่อนข้างแตกต่างจากเนื้อหาเก่า ๆ ที่เคยเรียนมาพอสมควรเลยนะ และหัวข้อท้าย ๆ ของบทนี้
ก็จะใช้ความรู้ที่เคยเรียนมาในระดับ ม.ต้น เพียงบทเดียวเท่านั้น คือ ระบบสมการเชิงเส้นสองตัวแปร

แนะนำให้ทบทวนด้วยการทำโจทย์เกี่ยวกับการแก้ระบบสมการเชิงเส้นสองตัวแปร รวมถึงโจทย์ปัญหาด้วยนะ

ตัวอย่างโจทย์ เมทริกซ์

ให้ A=\begin{bmatrix} 2 & -1 & 3 \\ 0 & -2 & 1 \\ 0 & -1 & 1\end{bmatrix}
จงหา \det \left (A^{5} \right )

เฉลย

ตอบ \det \left (A^{5} \right )=-32

ดูคลิปติวคณิต ม.5 "เมทริกซ์"

ติดตามคลิปติวฟรีอื่น ๆ จากพี่ปั้น ได้ทาง YouTube Channel : SmartMathPro

เวกเตอร์

พอเห็นคำว่า เวกเตอร์ พี่เชื่อเลยว่าจะต้องมีหลายคนที่สงสัยว่า เวกเตอร์ไม่ได้มีแค่ในฟิสิกส์หรอ ?! จริง ๆ แล้ว น้อง  ๆ
จะได้เรียนเวกเตอร์ในคณิต ม.5 ด้วยเหมือนกัน เพราะเวกเตอร์สามารถนำมาประยุกต์กับวิชาคณิตศาสตร์ได้ด้วย
ส่วนเนื้อหาที่จะได้เรียนก็จะเป็นคนละอย่างกับเวกเตอร์ในฟิสิกส์ ดูดี ๆ น้า อย่าสับสนกันล่ะ !!

1. เวกเตอร์และสมบัติของเวกเตอร์ กล่าวถึงลักษณะเบื้องต้นของเวกเตอร์, การเท่ากันของเวกเตอร์, นิเสธของเวกเตอร์ การบวก ลบเวกเตอร์ และการคูณเวกเตอร์ด้วยสเกลาร์

2. เวกเตอร์ระบบพิกัดฉากสามมิติ ระบบพิกัดฉากสามมิติและเวกเตอร์ในระบบพิกัดฉากสามมิติ ซึ่งอาศัยความรู้ของเมทริกซ์มาช่วยแสดงลักษณะของเวกเตอร์ต่าง ๆ

3. ผลคูณเชิงสเกลาร์ การคูณเวกเตอร์ด้วยเวกเตอร์ จะได้ผลคูณสองแบบ แบบแรกคือผลคูณเชิงสเกลาร์ จะได้ผลลัพธ์เป็นสเกลาร์, สมบัติต่าง ๆ ของผลคูณเชิงสเกลาร์

4. ผลคูณเชิงเวกเตอร์ การคูณเวกเตอร์ด้วยเวกเตอร์แบบที่สอง ซึ่งจะได้ผลลัพธ์เป็นเวกเตอร์, สมบัติต่าง ๆ ของผลคูณเชิงเวกเตอร์, การนำเวกเตอร์ไปประยุกต์ใช้โดยการประกอบรูปสี่เหลี่ยมด้านขนานและทรงสี่เหลี่ยมด้านขนานจากเวกเตอร์สองเวกเตอร์ขึ้นไป

เนื้อหาที่ควรรู้ก่อนเรียนเรื่อง เวกเตอร์ ม.5

บทนี้จะใช้ความรู้เดิมอย่างบทฟังก์ชันตรีโกณมิติ และบทเมทริกซ์ 

โดยบทฟังก์ชันตรีโกณมิติ แนะนำว่าควรทบทวนเกี่ยวกับการหาค่าของฟังก์ชันตรีโกณมิติ และลองทำย้อนกลับด้วยนะ ถ้ากำหนดค่าของฟังก์ชันตรีโกณมิติมา ลองทำดูว่าเราจะหามุมได้หรือเปล่า

ส่วนบทเมทริกซ์ แนะนำให้ทบทวนการดำเนินการเบื้องต้นของเมทริกซ์ รวมถึงการหาดีเทอร์มิแนนต์ของเมทริกซ์ขนาด 2×2 และ 3×3 ด้วยน้าา

ตัวอย่างโจทย์ เวกเตอร์

จงหาโคไซน์ของมุมระหว่าง \vec{u}=\begin{bmatrix}-4\\ 2\\ 4\end{bmatrix}
และ \vec{v}=\begin{bmatrix}2\\ 7\\ -1\end{bmatrix}

เฉลย

ตอบ  \cos \theta =\frac{\sqrt{6}}{54}

ดูคลิปติวคณิต ม.5 "เวกเตอร์"

ติดตามคลิปติวฟรีอื่น ๆ จากพี่ปั้น ได้ทาง YouTube Channel : SmartMathPro

คณิตศาสตร์เพิ่มเติม ม.5 เทอม 2 เรียนอะไรบ้าง ?

จำนวนเชิงซ้อน

น้อง ๆ หลายคนอาจจะเคยผ่านบทเรียนเรื่องจำนวนจริงมาแล้วในคณิต ม.4 ซึ่งเรื่องจำนวนเชิงซ้อนนี้ก็เป็นเรื่องที่ต่อยอด มาจากระบบจำนวนจริง นอกจากนี้จำนวนเชิงซ้อนยังสามารถนำไปโยงกับเรื่องอื่น ๆ ได้อีกมากมายเลยด้วย ไม่ว่าจะเป็นทางด้านวิทยาศาสตร์หรือทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ เรียกได้ว่าเป็นพื้นฐานของเรื่องต่าง ๆ เลยก็ว่าได้ แต่สิ่งที่น้อง ๆ
จะได้เรียนกันในคณิต ม.5 จะเป็นความรู้เบื้องต้นเท่านั้นน้า

1. ความรู้เบื้องต้นของจำนวนเชิงซ้อน อธิบายลักษณะของจำนวนเชิงซ้อนที่ขยายความมาจากจำนวนจริง ซึ่งจะมีทั้งส่วนจริงและส่วนจินตภาพ

2. สมบัติเชิงพีชคณิตของจำนวนเชิงซ้อน เอกลักษณ์และการดำเนินการของจำนวนเชิงซ้อน

3. กราฟและค่าสัมบูรณ์ของจำนวนเชิงซ้อน การนำความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเวกเตอร์มาวาดกราฟของจำนวนเชิงซ้อน,

หาค่าสัมบูรณ์หรือขนาดของจำนวนเชิงซ้อน

4. รูปเชิงขั้วของจำนวนเชิงซ้อน เขียนจำนวนเชิงซ้อนในลักษณะที่เกี่ยวข้องกับฟังก์ชันตรีโกณมิติและเวกเตอร์

5. รากที่ n ของจำนวนเชิงซ้อน หารากของจำนวนเชิงซ้อนซึ่งในการเขียนแบบปกติอาจไม่สามารถหารากที่ซับซ้อนได้ จำเป็นต้องใช้รูปเชิงขั้วในการหารากที่ซับซ้อน

6. สมการพหุนามตัวแปรเดียว ลักษณะของสมการพหุนามที่มีสัมประสิทธิ์เป็นจำนวนจริงทั้งหมด แต่มีคำตอบของสมการเป็นจำนวนเชิงซ้อน

เนื้อหาที่ควรรู้ก่อนเรียนเรื่อง จำนวนเชิงซ้อน ม.5

ถ้าใครเรียนผ่านบทจำนวนจริงมาแล้ว น่าจะเห็นว่าตอนเริ่มแรกในแผนภาพแสดงความสัมพันธ์ของจำนวนชนิดต่าง ๆ
ได้กล่าวถึงจำนวนเชิงซ้อนเอาไว้ด้วย ซึ่งเราจะได้มาเรียนกันในบทนี้นั่นเอง รวมถึงความรู้ในบทจำนวนจริงก็จะถูกนำมาใช้ด้วยเหมือนกัน

แนะนำให้น้อง ๆ ทบทวนการหาคำตอบของสมการพหุนาม และอย่าลืมเอาโจทย์เก่า ๆ ในบทจำนวนจริงกลับมาซ้อมทำด้วยน้าา

นอกจากนี้บทเรขาคณิตวิเคราะห์ก็ยังถูกนำมาใช้ในบทจำนวนเชิงซ้อนนี้ต่อด้วยนะ แต่น้อง ๆ ทบทวนแค่การหาระยะทางระหว่างสองจุด และการเขียนกราฟของสมการวงกลมก็เพียงพอแล้ววว

แนะนำเพิ่มเติม คือ อยากให้น้อง ๆ ทบทวนบทฟังก์ชันตรีโกณมิติอีกนิดนึงนะ สำหรับใครที่ยังหาค่าของฟังก์ชันตรีโกณมิติไม่คล่องแนะนำให้ฝึกทำโจทย์เรื่องนี้เพิ่มเติม

ตัวอย่างโจทย์ จำนวนเชิงซ้อน

จงหาจำนวนเชิงซ้อน z ที่สอดคล้องกับสมการ \left ( 1+2i \right )z=17-i

เฉลย

ตอบ จำนวนเชิงซ้อน z ที่สอดคล้องกับสมการนี้ คือ 3-7i

ดูคลิปติว คณิตม.5 "จำนวนเชิงซ้อน"

ติดตามคลิปติวฟรีอื่น ๆ จากพี่ปั้น ได้ทาง YouTube Channel : SmartMathPro

หลักการนับเบื้องต้น

เมื่อพูดถึงหลักการนับ น้อง ๆ หลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่มีอะไร แต่จริง ๆ แล้วเรื่องนี้ก็มีความสำคัญมากเลยน้า เพราะความรู้เกี่ยวกับการนับ เช่น หลักการบวก หลักการคูณ การเรียงสับเปลี่ยน และการจัดหมู่ จะช่วยนับสิ่งของต่าง ๆ ได้สะดวกขึ้น โดยเฉพาะกับการนับทีละมาก ๆ หรือเป็นการนับที่ซับซ้อน ซึ่งเรื่องที่จะได้เรียนกันก็มีตามนี้เลย ไม่ต้องไปหาที่ไหนไกล พี่รวมมาให้แล้ว !!

1. หลักการบวกและหลักการคูณ พื้นฐานในการทำงานของหลักการนับ ซึ่งมีทั้งหมดสองหลัก

2. การเรียงสับเปลี่ยนเชิงเส้นของสิ่งของที่แตกต่างกันทั้งหมด อาศัยหลักการบวกและหลักการคูณ นำมาซึ่งการนับการทำงานเชิงเส้นทั้งหมดที่เป็นไปได้

3. การเรียงสับเปลี่ยนเชิงเส้นของสิ่งของที่ไม่แตกต่างกันทั้งหมด อาศัยหลักการบวกและหลักการคูณ นำมาซึ่งการนับการทำงานเชิงเส้นที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น

4. การเรียงสับเปลี่ยนเชิงวงกลมของสิ่งของที่แตกต่างกันทั้งหมด อาศัยหลักการบวกและหลักการคูณ นำมาซึ่งการนับการทำงานเชิงวงกลมทั้งหมดที่เป็นไปได้, การจัดหมู่สิ่งของที่แตกต่างกันทั้งหมด, อธิบายลักษณะที่แตกต่างกันระหว่างการเรียงสับเปลี่ยนและการจัดหมู่

5. ทฤษฎีบททวินาม อธิบายลักษณะการกระจายและสัมประสิทธิ์การกระจายพหุนามเลขยกกำลังของตัวแปรสองตัวแปร

เนื้อหาที่ควรรู้ก่อนเรียนเรื่อง หลักการนับเบื้องต้น ม.5

มีใครคุ้นชื่อบทนี้บ้างไหมนะ ชื่อคล้าย ๆ กับบทที่เราเคยเรียนมาแล้วตอน ม.ต้น เลย แต่ว่าในระดับชั้นนี้น้อง ๆ จะได้ทำโจทย์ที่หลากหลายกว่าเดิม ซับซ้อนขึ้น ยิ่งใครที่ชอบบทนี้ก็จะยิ่งรู้สึกสนุกกว่าเดิมด้วยนะ

ดังนั้นแนะนำให้น้อง ๆ ลองหยิบโจทย์เก่าในบทความน่าจะเป็น ม.ต้น มาลองทำทบทวนอีกครั้งนะ ไม่ว่าจะเป็นโจทย์
เกี่ยวกับการจัดเรียงสิ่งของตามเงื่อนไขต่าง ๆ หรือโจทย์เกี่ยวกับการทอดลูกเต๋า เเพราะมันจะเป็นพื้นฐานสำคัญที่ใช้ในการเรียนบทนี้อย่างแน่นอน

ตัวอย่างโจทย์ หลักการนับเบื้องต้น

มีผู้ชาย 5 คน และผู้หญิง 4 คน ต้องการจัดคนทั้ง 9 คน ยืนเป็นวงกลมโดยไม่มีผู้หญิงสองคนใดยืนติดกัน จะจัดได้ทั้งหมดกี่แบบ

เฉลย

ตอบ จะจัดคนทั้ง 9 คน ยืนเป็นวงกลม โดยที่ไม่มีผู้หญิงยืนติดกันได้ทั้งหมด 4!5!=2,880 แบบ

ความน่าจะเป็น

สำหรับเรื่องสุดท้ายในคณิต เพิ่มเติม ม.5 น้อง ๆ จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องความน่าจะเป็น ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้เรื่องอื่นเลยน้า เพราะความน่าจะเป็นจะช่วยให้น้อง ๆ สามารถคาดเดาเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างมีหลักการมากขึ้น !!  ฟังดูน่าสนุกใช่ไหมล่ะ ไปดูเนื้อหาของเรื่องนี้กันเล้ย

1. การทดลองสุ่มและเหตุการณ์ ความหมายของการทดลองสุ่มและเหตุการณ์, ความหมายของปริภูมิตัวอย่าง

2. ความน่าจะเป็น สัดส่วนของจำนวนวิธีการทำงานที่เราสนใจเทียบกับจำนวนวิธีการทำงานทั้งหมดที่เป็นไปได้

3. กฎที่สำคัญบางประการของความน่าจะเป็น เป็นการเชื่อมโยงและประยุกต์ความน่าจะเป็นกับเรื่องของเซต, ช่วยในการหาความน่าจะเป็นของเหตุการณ์ได้ง่ายขึ้น

หมายเหตุ : สำหรับเนื้อหาที่ควรรู้ก่อนเรียนความน่าจะเป็น ม.5 สามารถอ่านเรื่องเดียวกับหลักการนับเบื้องต้นได้เลยย

ตัวอย่างโจทย์ ความน่าจะเป็น

พิจารณาพยากรณ์อากาศของวันนี้กับวันพรุ่งนี้ ถ้าความน่าจะเป็นที่ฝนจะตกวันนี้เป็น 0.7 ความน่าจะเป็นที่ฝนจะไม่ตกวันพรุ่งนี้เป็น 0.5 และความน่าจะเป็นที่มีอย่างน้อยหนึ่งวันที่ฝนจะไม่ตก เป็น 0.6 จงหาความน่าจะเป็นที่มีอย่างน้อยหนึ่งวันที่ฝนจะตก

เฉลย

ตอบ ความน่าจะเป็นที่มีอย่างน้อยหนึ่งวันที่ฝนจะตกเท่ากับ 0.8

ก็จบไปแล้วน้าา สำหรับเนื้อหาคณิต ม.5 ทั้งสองเทอม พี่หวังว่าจะช่วยให้น้อง ๆ วางแผนจัดตารางอ่านหนังสือได้ดีขึ้น
สำหรับใครที่อยากเจาะลึกเนื้อหาแต่ละบท พี่มีคลิปติวพร้อมโจทย์ให้ได้ลองฝึกทำกันแบบจัดเต็ม โดยสามารถเข้าไปดูได้ที่บทความแยกบทคณิต ม.5 แต่ละเรื่องกันได้เลย และที่สำคัญ อย่าลืมฝึกทำโจทย์และแบบฝึกหัดกันบ่อย ๆ ด้วยน้าา จะได้เข้าใจเนื้อหาให้มากขึ้น แถมตอนเจอข้อสอบจริงก็จะไม่หวั่นด้วย !!

แต่หากน้อง ๆ คนไหนอยากได้ตัวช่วยเพื่อเก็บคะแนนในแต่ละเทอมให้ปังมากขึ้น พี่แนะนำคอร์สแพ็กคณิต ม.5 เลย โดย
คอร์สนี้จะเริ่มปูพื้นฐานเนื้อหาครบทุกบท อิงตามหลักสูตร สสวท. พร้อมพาตะลุยโจทย์ ตั้งแต่โจทย์ซ้อมมือ ไปถึงโจทย์แนวข้อสอบแข่งขัน (ใครพื้นฐานไม่ดีก็เรียนได้สบายมากก) 

แถมคอร์ส ม.5 ก็เข้าร่วมโปรบุฟเฟ่ต์น้าา ซึ่งเนื้อหาที่น้อง ๆ จะได้เรียนก็สามารถใช้ได้ยันเตรียมสอบเข้ามหาลัยฯ ที่สำคัญ คือ ยังมีส่วนลดสูงสุดถึง 35% ด้วย น้อง ๆ คนไหนสนใจดูรายละเอียดเพิ่มเติมก็ คลิก ได้เลยย

บทความ แนะนำ

บทความ แนะนำ

สรุปคณิตศาสตร์ ม.4 พื้นฐานและเพิ่มเติมต้องเรียนอะไรบ้าง
คณิตศาสตร์ ม.4 เทอม 1, ม.4 เทอม 2 คณิตพื้นฐานและเพิ่มเติม เรียนอะไรบ้าง ?
จำนวนเชิงซ้อนคืออะไร สรุปทุกเนื้อหา
จำนวนเชิงซ้อน ม.5 คืออะไร ? สรุปเนื้อหา พร้อมตัวอย่างโจทย์
เนื้อหาคณิตศาสตร์ เวกเตอร์ ม.5 มีอะไรบ้าง
เวกเตอร์ ม.5 สรุปทุกเนื้อหา พร้อมโจทย์ วิธีทำ และคลิปติวฟรี!
สรุปเนื้อหาคณิต ม.5 เรื่องเมทริกซ์
เมทริกซ์ ม.5 สรุปเนื้อหาครบทุกหัวข้อ !!
สรุปฟังก์ชันตรีโกณมิติ ม.5
ตรีโกณมิติ ม.5 สรุปสูตรพร้อมแจกโจทย์แบบจัดเต็ม !!
สรุปเนื้อหาคณิต ม.6 เรียนอะไรบ้าง
คณิตศาสตร์ ม.6 เทอม 1 เทอม 2 คณิตพื้นฐานและเพิ่มเติม เรียนอะไรบ้าง?

สำหรับน้อง ๆ ที่สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม รวมถึงติดตามข่าวสารต่าง ๆ ที่อัปเดตอย่างเรียลไทม์ ได้ที่

Line : @smartmathpronews 

FB : Pan SmartMathPro ติวคณิต By พี่ปั้น 

IG : pan_smartmathpro

Twitter : @PanSmartMathPro 

Tiktok : @pan_smartmathpro

Share