น้อง ๆ บางคนพอขึ้นมหาลัยฯ ไปแล้วอาจรู้สึกว่าเส้นทางที่เลือกไปนั้นยังไม่ใช่ทางของตัวเอง ด้วยสาเหตุที่แตกต่างกันไป เช่น สังคมหรือการเรียนยังไม่ตอบโจทย์ คะแนนไม่มากพอที่จะสอบติดคณะที่ตัวเองหวัง คิดว่าตัวเองน่าจะทำได้ดีกว่านี้ จนหลายคนอยู่ในช่วงที่กำลังตัดสินใจจะซิ่ว แต่ยังลังเลอยู่ ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นยังไงดี ?

แล้วถ้าเลือกที่จะซิ่ว มีเรื่องอะไรบ้างที่น้อง ๆ ควรรู้ก่อนจะเป็นเด็กซิ่วเต็มตัว วันนี้พี่จะมาอธิบายให้ตั้งแต่เริ่ม ไปจนถึงเรื่องการสอบเข้ามหาลัยฯ ในบทความนี้ที่พี่ได้รวบรวมข้อมูลมาเพื่อตอบทุกคำถามของน้อง ๆ แล้วว > <

หลายคนน่าจะเคยได้ยินคำว่า “เด็กซิ่ว” แต่ยังไม่รู้ความหมายของคำนี้ ซึ่งจริง ๆ แล้ว มันมาจากคำว่า Fossil (ซากดึกดำบรรพ์) มักจะใช้เรียกคนที่เข้าเรียนที่หลัง และมาลงเรียนพร้อมกับรุ่นน้อง เช่น ถ้าน้อง ๆ Dek67 แต่เรียน
มหาลัยฯ พร้อมกับเด็ก Dek68 เขาจะเรียกว่าเป็น “เด็กซิ่ว” นั่นเอง

เหตุผลของคนส่วนใหญ่ ทำไมเลือกที่จะซิ่ว ?

แต่ละคนคงจะมีเหตุผลในการซิ่วที่ไม่เหมือนกัน ถ้ารวมมาทั้งหมด บทความนี้ก็คงจะยาวมากกก ดังนั้นพี่เลยจะขอเล่าแค่ประเด็นหลักที่ได้สอบถามจากรุ่นพี่เด็กซิ่วเพื่อมาสรุปให้น้อง ๆ ได้อ่านกันว่าจริง ๆ แล้วคนที่เขาตัดสินใจเป็นเด็กซิ่วนั้นมีสาเหตุมาจากอะไรบ้าง ?

สอบติดคณะที่ไม่ถูกใจ

เรียกได้ว่าเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้หลาย ๆ คนตัดสินใจที่จะซิ่ว อาจจะด้วยคะแนนสอบครั้งล่าสุดที่ทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร หรือมีการวางแผนเลือกคณะ / มหาลัยฯ ผิดพลาด เลยอยากลองสอบใหม่อีกครั้ง เพื่อที่จะได้เข้าคณะที่ตัวเองอยากเข้าจริง ๆ

เรียนแล้วไม่มีความสุข รู้สึกไม่ชอบ

มีน้อง ๆ จำนวนมากที่สอบติดคณะที่หวัง แต่พอได้ลองมาเรียนแล้วก็พบว่าไม่เป็นไปอย่างที่คิดไว้ อาจจะเรียนหนักมากเกินไป หรือเรียนไปแล้วรู้สึกว่ายังไม่ใช่ ซึ่งพี่จะบอกว่าไม่ใช่เรื่องที่ผิดเลยน้า ที่จะรู้สึกไม่ชอบและอยากจะซิ่ว ถึงแม้จะเป็นคณะที่น้อง ๆ เคยอยากเข้ามากก็ตาม เพราะมันคงจะไม่ค่อยดีเท่าไร ถ้าเลือกที่จะฝืนเรียนมันไปอีก 4 ปี หรืออาจจะมากกว่านั้นในบางคณะ

เป้าหมายในชีวิตเปลี่ยน

เมื่อเวลาผ่านไป น้อง ๆ ได้เจอกับสังคมที่หลากหลายมากขึ้น พูดคุยกับคนมากขึ้น และปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้เส้นทางที่เลือกไว้ตั้งแต่แรกเปลี่ยนไป เลยส่งผลให้ความคิดและเป้าหมายเปลี่ยนไปจากเดิมด้วย อีกทั้งแพลนด้านอาชีพที่อยากจะทำ หรือการใช้ชีวิตในอนาคตก็ไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว ซึ่งถ้าน้อง ๆ มั่นใจแล้วว่าทางเดิมไม่ใช่ พี่ก็แนะนำให้ซิ่วน้า

สภาพแวดล้อม / การเข้าสังคม

หลายคนเลือกที่จะซิ่วเพราะรู้สึกว่าที่นี่ไม่ใช่ที่ของเรา เหมือนคำที่ว่า “คับที่อยู่ได้ คับใจอยู่ยาก” จริง ๆ ถ้ารู้สึกไม่ดีกับสภาพแวดล้อมตั้งแต่ต้น พี่คิดว่ามันก็น่าจะส่งผลกระทบในระยะยาวด้วยเช่นกัน ดังนั้นถ้ารู้สึกไม่ดี ทำยังไงก็ไม่สามารถเปิดใจได้ การที่น้อง ๆ จะตัดสินใจเดินออกมาก็ไม่ผิดน้า เลือกจุดที่เราอยู่แล้วมีความสุขดีกว่า ^__^

ปัญหาส่วนตัวอื่น ๆ เช่น ปัญหาด้านการเงิน ปัญหาด้านสุขภาพ

ปัญหาการเงินและสุขภาพ (ทั้งสุขภาพจิตและสภาพร่างกาย) เป็นอีกเรื่องที่สำคัญมากเหมือนกัน เพราะค่าใช้จ่ายแต่ละคณะสูงมากกว่าที่คิดไว้ ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่จะต้องเจอ เช่น การเดินทาง ค่าที่พัก ค่าอุปกรณ์การเรียน ฯลฯ ทำให้บางคนอาจจะต้องทำงานเสริม ซึ่งทำให้พักผ่อนน้อย ร่างกายอ่อนแอ จนส่งผลต่อการเรียน และสุดท้ายก็ตัดสินใจซิ่ว
ในที่สุด (แต่ว่าไม่ต้องเป็นห่วงน้า ถ้ามีปัญหาเรื่องนี้ พี่แนะนำให้ลองคุยกับอาจารย์ที่ปรึกษาเพื่อถามเรื่องทุนดูก่อน
เพราะแต่ละคณะ / มหาลัยฯ มักจะมีทุนให้สำหรับน้อง ๆ ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์อยู่แล้ววว) 

อยากซิ่วต้องทำยังไง ?

ก้าวแรกสำหรับเด็กซิ่ว คือ ให้น้อง ๆ ลองคิดก่อนว่าจะซิ่วไปเรียนไปหรือซิ่วอยู่บ้าน เพราะทั้งสองแบบก็มีข้อดีข้อเสียที่
แตกต่างกัน จากนั้นพูดคุยกับที่บ้าน เล่าถึงเป้าหมายใหม่และการวางแผนในอนาคต เพื่อไม่ให้มีปัญหากับครอบครัว
ภายหลัง แต่สิ่งที่สำคัญคือ น้อง ๆ จะต้องรู้ว่าในการสอบครั้งที่ผ่านมา ตัวเองมีข้อผิดพลาดอะไรและจะแก้ไขมันยังไง เช่น ถ้าพื้นฐานยังแน่นไม่พอ อาจจะต้องเก็บเนื้อหาตั้งแต่แรกให้แม่นก่อน หรือถ้าคิดว่ายังฝึกโจทย์ไม่เยอะเท่าไร ก็ต้องแก้ไข
ด้วยวิธีการทำโจทย์ให้เยอะขึ้น

แนะนำให้เริ่มลิสต์ไว้ตั้งแต่แรก น้อง ๆ ก็จะสามารถวางแผนอ่านหนังสือได้เหมาะสมกับตัวเองและถูกจุดมากขึ้น สุดท้ายคือ อย่าลืมติดตามข้อมูลข่าวสาร ระเบียบการรับสมัครจากทางทปอ. คณะและมหาลัยฯ / กสพท อยู่เสมอน้า 

ข้อดีและข้อเสียของการเป็นเด็กซิ่ว

ข้อดี / ข้อเสีย ของการเป็นเด็กซิ่ว

สำหรับข้อดี และข้อเสียของการเป็นเด็กซิ่วนั้น พี่ได้รวบรวมจากการสอบถามเด็กซิ่วหลาย ๆ คน รวมถึงประสบการณ์จากคนรอบตัว เพื่อจะได้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจของทุกคนน้าา ^__^

ข้อดี

  • มีเวลาค้นหาตัวเองและทำความรู้จักตัวเองมากขึ้น เช่น น้อง ๆ ชอบอะไรจริง ๆ หรือรู้ว่าความฝันคืออะไร และ
    จะเรียนอะไรเพื่อสานต่อความฝันนั้นให้เป็นจริง
  • มีเวลาในการเตรียมตัวสอบมากขึ้น และรู้จุดอ่อนของตัวเองว่าควรเสริมจุดไหน จากประสบการณ์ที่เราเคยสอบมาแล้ว สามารถวางแผนอ่านหนังสือ และทำโจทย์ได้ตรงประเด็นกว่าปีก่อน ๆ
  • ได้เรียนในสิ่งที่ชอบ และมีความสุขกับสิ่งที่เลือกเรียน
  • มีเวลาพักผ่อนมากขึ้น เมื่อรู้สึกเครียดหรือท้อแท้ ก็สามารถแบ่งเวลาไปพักผ่อนได้ แล้วค่อยกลับมาอ่านอีกครั้งตอนที่รู้สึกดีขึ้น (สำหรับกรณีที่น้อง ๆ ซิ่วอยู่บ้านนะ)

ข้อเสีย

  • ถ้าวางแผนไม่ดี ไม่ว่าจะเป็นการซิ่วด้วยวิธีไหน ก็อาจจะทำให้เสียทั้งเงินและเวลาได้ ที่สำคัญจะสอบติดคณะที่หวังไว้หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับตัวน้อง ๆ เองด้วย
  • อาการหมดไฟ และรู้สึกกดดันมากกว่าปกติ ทั้งการกดดันจากตัวเอง คนรอบข้างและสภาพแวดล้อม
    – กรณีเด็กซิ่วอยู่บ้าน ต้องอยู่ในสถานที่เดิมตลอดทั้งวัน และถ้าไม่สามารถทำตามแพลนของแต่ละวันได้ ก็จะรู้สึกหมดไฟได้ง่าย
    –  กรณีเด็กซิ่วไปเรียนไป ต้องเลือกโฟกัสทั้งสองอย่าง อาจจะทำให้เหนื่อย และโฟกัสกับการสอบเข้ามหาลัยฯ ได้ไม่ดีเท่าที่ควร 
  • ต้องเจอการปรับตัวอยู่หลายครั้ง เช่น เด็กซิ่วอยู่บ้าน ก็จะไม่ได้เจอเพื่อน ๆ เหมือนเมื่อก่อน ต้องโฟกัสกับการอ่านหนังสือ ส่วนเด็กซิ่วไปเรียนไป ก็ต้องปรับตัวเพื่อไม่ให้การเรียนในปัจจุบันกับอ่านหนังสือเตรียมสอบเข้ามหาลัยฯ กระทบกัน
  • จบช้ากว่าเพื่อนคนอื่น ๆ (ตรงนี้พี่มองว่าถ้ามันแลกมากับสิ่งที่อยากเรียนจริง ๆ มันก็คุ้มที่จะลองน้า > <)
สำหรับน้อง ๆ ที่ตัดสินใจได้แล้ว เรามาดูคำถามยอดฮิต และเกณฑ์การยื่นมหาลัยฯ สำหรับเด็กซิ่วใน TCAS68 กันดีกว่าว่ามีอะไรบ้าง ? 

ตัดสินใจเป็น "เด็กซิ่ว" ต้องลาออกมั้ย ?

กรณีสมัครคณะ กสพท

เด็กซิ่วที่ต้องลาออก

  • เรียนอยู่ปี 1 คณะแพทย์ ทันตะ เภสัช สัตวะ (ม.รัฐ) – ลาออกก่อนวันที่ 25 เม.ย. 67
  • เรียนอยู่สูงกว่าปี 1 – ลาออกก่อนวันที่ 10 ก.ย. 66

เด็กซิ่วที่ไม่ต้องลาออก

  • เรียนอยู่ปี 1 คณะอื่น ๆ (นอกเหนือจากคณะกสพท)
  • เรียนอยู่ปีสุดท้าย (คาดว่าจะจบในปี 2566)
  • เรียนอยู่ม.เอกชน

หมายเหตุ : ข้อมูลข้างต้นเป็นของปี 67 ซึ่งถ้าข้อมูลของปี 68 ประกาศเมื่อไร พี่จะมาอัปเดตให้อีกทีน้าา

เด็กซิ่ว กรณีสมัครคณะอื่น ๆ ผ่าน myTCAS

กรณีของน้อง ๆ ที่สมัครคณะอื่นนอกเหนือจากคณะในกสพท สามารถเข้าสู่ระบบด้วย user ID และ password เดิมที่เคยลงทะเบียน myTCAS ไว้ได้ โดยไม่ต้องลาออกจากมหาลัยฯ แต่ถ้าเกิดว่าผ่านการคัดเลือกและได้ยืนยันสิทธิ์ไปแล้ว จะต้องไปทำเรื่องลาออกจากมหาลัยฯ ให้เรียบร้อยก่อนขึ้นทะเบียนที่มหาลัยฯ หรือคณะใหม่น้า

เรื่องที่ "เด็กซิ่ว" ควรรู้ ก่อนยื่นเข้ามหาลัยฯ

  • ข้อนี้สำคัญมาก !! หลายคณะรับเฉพาะเด็กม.6 เท่านั้น โดยวิธีดูว่าคณะนั้นรับเด็กซิ่วมั้ย สามารถดูได้จากคำว่า รับผู้สมัครที่จบจาก รร. หลักสูตรแกนกลาง / รับผู้สำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และเทียบเท่า แต่ถ้าเจอคำว่า ต้องสำเร็จการศึกษาปีปัจจุบันเท่านั้น / รับผู้สำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เท่านั้น
    แปลว่าเด็กซิ่วสมัครไม่ได้น้า อย่าลืมเช็กดี ๆ ด้วยย
  • เด็กซิ่วไม่สามารถใช้คะแนนเก่ายื่นได้ เพราะคะแนน TGAT / TPAT และ A-Level จะมีอายุคะแนนอยู่ได้ 1 ปีเท่านั้น ดังนั้นถ้าใครตั้งใจจะซิ่ว ก็ต้องสอบใหม่เท่านั้นน้า
  • เด็กซิ่วที่เคยลงทะเบียน mytcas แล้ว เข้าไปกรอกและแก้ไขข้อมูลได้เลย กรณีที่ข้อมูลผิด อย่าลืมแนบหลักฐานเพื่อเป็นการยืนยันความถูกต้องน้าา

การเป็น "เด็กซิ่ว" ผิดมั้ย ?

สุดท้ายนี้ น้อง ๆ ที่กำลังอ่านบทความนี้อยู่ อาจจะลังเลว่าควรซิ่วดีมั้ย ? มันจะผิดมากแค่ไหน ? พี่ ๆ อยากจะบอกว่า … การเป็นเด็กซิ่วมันไม่ได้เป็นเรื่องที่ผิด ไม่ใช่ความล้มเหลวในชีวิต หรือแสดงว่าที่ผ่านมา น้องพยายามไม่มากพอน้า
แต่กลับกันถ้ามันทำให้ได้เจอกับอะไรที่ดีขึ้น และน้อง ๆ “มีความสุข” พี่ว่ามันคุ้มที่จะแลก แม้ว่าต้องเสียเวลา เสียใจ
แต่ทั้งหมดมันคือประสบการณ์ ที่ไม่มีวันรู้ ถ้าไม่ได้สัมผัสมาก่อน

แต่ที่สำคัญเลย คืออยากให้ลองคิดดูให้ดีก่อน ถามตัวเองว่าใจเราอยากซิ่วจริง ๆ ใช่มั้ย อยากให้น้อง ๆ คิดและทบทวน
ให้รอบด้าน ถ้าน้อง ๆ เป็นเด็กซิ่วแล้ว จะซิ่วไปที่ไหน มีโอกาสที่จะทำได้มากแค่ไหน ที่ตัดสินใจมันมาจากเหตุผล ไม่ใช่เพราะอารมณ์ใช่มั้ย

แต่ถ้ามั่นใจแล้วว่าจะซิ่ว ลองดูที่บทความ How To หลังตัดสินใจซิ่ว เพื่อเป็นแนวทางเพิ่มเติมก็ได้น้า สุดท้ายนี้ไม่ว่าน้อง ๆ จะเลือกทางไหน พี่ก็จะเป็นกำลังใจให้ทุกคน จงสู้ให้เต็มที่ และขอให้ทำตามความฝันได้สำเร็จน้า ^____^

ดูคลิปแนะแนวสำหรับเด็กซิ่ว

ติดตาม Podcast ดี  ๆ จากพี่ปั้นได้ที่ YouTube Channel : SmartMathPro

บทความ แนะนำ

บทความ แนะนำ

A-Level คืออะไร ? ปี 68 สอบวิชาอะไรบ้าง ?
A-Level คืออะไร? มีกี่ข้อ? วิชาอะไรบ้าง? พร้อมแนวข้อสอบและคลิปติว
สรุป TPAT1 กสพท 68 ฉบับอัปเดตล่าสุด ตามแถลงการณ์
สรุป กสพท คืออะไร? ต้องสอบวิชาอะไรบ้าง? กสพท68 มีอะไรเปล่ียนแปลง?
ปฏิทิน TCAS67 อัปเดตล่าสุด
รวมปฏิทิน TCAS67 เช่น รอบ 3 ยื่นตอนไหน ประกาศผลเมื่อไร เช็กเลย!
สรุป tcas68 อ้างอิงจาก tcas67
ระบบ TCAS คืออะไร ? มีกี่รอบ ? ใครจะสอบ TCAS68 ควรอ่าน !
จะซิ่วเป็น Dek67 ต้องทำยังไงบ้าง
ซิ่ว ต้องทำอะไรบ้าง ต้องลาออกก่อนไหม เคลียร์ให้จบก่อนซิ่วเป็น Dek68
Dek68 จะสอบเข้ามหาลัยฯ ต้องเตรียมตัวยังไง ?
Dek68 สอบเข้ามหาลัยฯ ควรเริ่มยังไง? สรุปทุกขั้นตอนควรรู้ของ TCAS68
เตรียมตัวอ่านหนังสือ TCAS68 ยังไงให้สอบติด
เตรียมตัวสอบเข้ามหาลัยยังไง? สรุปและแจกเทคนิคอ่านหนังสือสอบ TCAS

สำหรับน้อง ๆ ที่สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม รวมถึงติดตามข่าวสารต่าง ๆ ที่อัปเดตอย่างเรียลไทม์ ได้ที่

Line : @smartmathpronews 

FB : Pan SmartMathPro ติวคณิต By พี่ปั้น 

IG : pan_smartmathpro

Twitter : @PanSmartMathPro 

Tiktok : @pan_smartmathpro

Share