จำนวนเชิงซ้อนคืออะไร สรุปทุกเนื้อหา

ก่อนที่จะอ่านบทความกันพี่ต้องขอถามก่อนเลยว่า น้อง ๆ คงเคยแก้สมการพหุนามแล้วเจอว่าบางสมการหาคำตอบไม่ได้ (ในระบบจำนวนจริง) ใช่มั้ยละ ? เช่น x^2=-1 เพราะก่อนหน้านี้เราจะสนใจเฉพาะคำตอบที่เป็นจำนวนจริงเท่านั้น
แต่ในบทนี้เราจะมาสนใจคำตอบที่ไม่ใช่จำนวนจริงกันบ้าง โดยเราจะขยายขอบเขตของจำนวนจริงให้ใหญ่ขึ้น แล้วเรียกชื่อใหม่ว่า จำนวนเชิงซ้อน ซึ่งจำนวนเชิงซ้อนนี่แหละจะทำให้เกิดคำตอบของสมการพหุนามที่ไม่ใช่จำนวนจริง ดังนั้นมาทำความรู้จักกับจำนวนเชิงซ้อนให้มากขึ้นกันเลย

บทนิยาม
สำหรับจำนวนเชิงซ้อน z=\left ( a, b \right ) หรือ z=a+bi เมื่อ a และ b เป็นจำนวนจริง
เรียก a ว่า ส่วนจริง (real part) ของ z และเขียนแทนด้วย Re(z)
เรียก b ว่า ส่วนจินตภาพ (imaginary part) ของ z และเขียนแทนด้วย Im(z)

เช่น

  • 3+2i
    จะได้ว่า 3 คือส่วนจริง และ 2 คือส่วนจินตภาพ หรือสามารถเขียนได้ว่า \left ( 3, 2 \right )
  • -2+i
    จะได้ว่า -2 คือส่วนจริง และ 1 คือส่วนจินตภาพ หรือสามารถเขียนได้ว่า \left ( -2, 1 \right )
  • 5
    จะได้ว่า 5 คือส่วนจริง และ 0 คือส่วนจินตภาพ หรือสามารถเขียนได้ว่า \left ( 5, 0 \right )
  • -2i
    จะได้ว่า 0 คือส่วนจริง และ –2 คือส่วนจินตภาพ หรือสามารถเขียนได้ว่า \left ( 0, -2 \right )

จากบทนิยาม จะได้ว่าจำนวนจริงที่น้อง ๆ เคยเรียน นับว่าเป็นจำนวนเชิงซ้อนที่มีส่วนจินตภาพเป็น 0 และจำนวนเชิงซ้อนที่มีส่วนจริงเป็น 0 แต่ส่วนจินตภาพไม่เป็นศูนย์ เราจะเรียกว่า จำนวนจินตภาพแท้ (purely imaginary number) นั่นเอง

สมบัติเชิงพีชคณิตของจำนวนเชิงซ้อน

หลังจากที่เราได้รู้จักบทนิยามของจำนวนเชิงซ้อนกันไปแล้ว คราวนี้เรามารู้จักสมบัติต่าง ๆ ของจำนวนเชิงซ้อนกันบ้างง มาเริ่มกันที่สมบัติของจำนวนจินตภาพก่อนเลย

สมบัติของจำนวนจินตภาพ i

จากที่เราทราบกันว่า i =\sqrt{-1} เราจะได้ว่า
i =\sqrt{-1}
i^{2} =-1
i^{3} =-1\times i = -i
i^{4} = (i^{2})^{2} = -1^{2} = 1
ดังนั้นเราจะได้ว่า i^{4m}=1, i^{4m+1}=i, i^{4m+2}=-1, i^{4m+3}=-i เมื่อ m\in \mathbb{N}\cup \left \{ 0 \right \}

ตัวอย่างที่ 1 จงหาค่าของ i^{2566} + i^{2023}

วิธีทำ

i^{2566}=i^{4(641)+2}=-1
i^{2023}=i^{4(505)+3}=-i
ดังนั้น i^{2566} + i^{2023}=-1-i

การบวก ลบ คูณ และหารจำนวนเชิงซ้อน

ในระบบจำนวนจริง มีการดำเนินการทั้งบวก ลบ คูณ และหาร ซึ่งในจำนวนเชิงซ้อนก็มีการดำเนินการเช่นเดียวกัน
ในหัวข้อนี้เราจะมาดูกันว่าการดำเนินการของจำนวนเชิงซ้อนเป็นอย่างไร

การบวกและลบจำนวนเชิงซ้อน

การบวกจำนวนเชิงซ้อน

บทนิยาม
ให้ z_{1},z_{2} เป็นจำนวนเชิงซ้อน โดยที่ z_{1}=(a,b) และ z_{2}=(c,d)
หรือ z_{1}=a+bi และ z_{2}=c+di
จะได้ว่า z_{1}+z_{2}=(a,b)+(c,d)=(a+c,b+d)
หรือ z_{1}+z_{2}=(a+c)+(b+d)i

การบวกจำนวนเชิงซ้อน สามารถทำได้โดยการนำส่วนจริงตัวหน้าและส่วนจินตภาพตัวหลังของทั้งสองจำนวนมาบวกกันนั่นเอง

การลบจำนวนเชิงซ้อน

บทนิยาม
ให้ z_{1},z_{2} เป็นจำนวนเชิงซ้อน โดยที่ z_{1}=(a,b) และ z_{2}=(c,d)
หรือ z_{1}=a+bi และ z_{2}=c+di
จะได้ว่า z_{1}-z_{2}=(a,b)-(c,d)=(a-c,b-d)
หรือ z_{1}-z_{2}=(a-c)+(b-d)i

ทำในทำนองเดียวกันกับการบวกเลย หรือกล่าวได้ว่า เป็นการบวกด้วยอินเวอร์สของการบวกนั่นเอง
เช่น กำหนดให้ z_{1}=-1+2i และ z_{2}=3-4i
หาผลบวก จะได้ z_{1}+z_{2}=(-1+3)+(2+(-4))i=2-2i
และหาผลลบ จะได้ z_{1}-z_{2}=(-1-3)+(2-(-4))=-4+6i

การคูณจำนวนเชิงซ้อน

บทนิยาม
ให้ z_{1},z_{2} เป็นจำนวนเชิงซ้อน โดยที่ z_{1}=(a,b) และ z_{2}=(c,d)
หรือ z_{1}=a+bi และ z_{2}=c+di
จะได้ว่า z_{1}z_{2}=(ac-bd,ad+bc)
หรือ z_{1}z_{2}=(ac-bd)+(ad+bc)i

เช่น กำหนดให้ z_{1}=-1+2i และ z_{2}=3-4i
หาผลคูณ จะได้ z_{1}z_{2}=((-1)3-2(-4))+((-1)(-4)+2\cdot 3)i=(-3+6)+(4+6)i=3+10i

สมบัติการบวกและการคูณของจำนวนเชิงซ้อน

กำหนดให้ z,z_{1},z_{2},z_{3} เป็นจำนวนเชิงซ้อน

สมบัติการบวกและการคูณของจำนวนเชิงซ้อน

การหารจำนวนเชิงซ้อน

บทนิยาม
สำหรับจำนวนเชิงซ้อน z และ w ซึ่ง w\neq 0 จะได้ว่า z\div w=zw^{-1} และเขียนแทน z\div w ด้วย \frac{z}{w}

ในการหารจำนวนเชิงซ้อนจะมีสูตรอยู่น้า เพื่อให้เข้าใจมากขึ้นลองไปดูตัวอย่างต่อไปนี้กันน

ตัวอย่างที่ 2 จงหา \frac{3+2i}{4+3i}

วิธีทำ
จากบทนิยาม จะได้ว่า \frac{z}{w}=zw^{-1}
เราจะหาตัวผกผันการคูณ หรืออินเวอร์สการคูณของ 4+3i
จาก z^{-1}=\frac{a}{a^2+b^2}-\frac{b}{a^2+b^2}i
จะได้ อินเวอร์สการคูณของ 4+3i คือ \frac{4}{25}-\frac{3}{25}i
ดังนั้น \frac{3+2i}{4+3i}=(3+2i)(\frac{4}{25}-\frac{3}{25}i)

=\frac{12}{25}+\frac{6}{25}+(\frac{8}{25}-\frac{9}{25})i

=\frac{18}{25}-\frac{1}{25}i

สังยุคของจำนวนเชิงซ้อน

เราจะมีคำศัพท์ที่สำคัญอีกตัวหนึ่ง ที่ในระบบจำนวนจริงเราจะไม่ค่อยได้พูดถึง แต่จำนวนเชิงซ้อนต้องใช้เป็นส่วนใหญ่ คือ สังยุค (conjugate)  นั่นเอง

บทนิยาม
ให้ z=a+bi เป็นจำนวนเชิงซ้อน สังยุคของ z คือ a-bi

ซึ่งสังยุคของ z จะเขียนด้วย \bar{z} ซึ่ง \bar{z}=\overline{a+bi}=a-bi
เช่น สังยุคของ 7+2i คือ 7-2i

ทฤษฎีบท
ให้ z,z_{1} และ z_{2} เป็นจำนวนเชิงซ้อน จะได้ว่า
1. Re(z)=\frac{1}{2}\left ( z+\bar{z} \right ) และ Im(z)=\frac{1}{2i}\left ( z-\bar{z} \right )
2. \bar{\bar{z}}=z
3. \frac{1}{\bar{z}}=\overline{\left ( \frac{1}{z} \right )} เมื่อ z\neq 0
4. \overline{z_{1}+z_{2}}=\overline{z_{1}}+\overline{z_{2}}
5. \overline{z_{1}-z_{2}}=\overline{z_{1}}-\overline{z_{2}}
6. \overline{z_{1} z_{2}}=\overline{z_{1}}\; \overline{z_{2}}
7. \overline{\left (\frac{z_{1}}{z_{2}} \right )}=\frac{\overline{z_{1}}}{\overline{z_{2}}} เมื่อ z_{2}\neq 0

ตัวอย่างที่ 3 กำหนดให้ z_{1}=2+i และ z_{2}=-3-2i จงเขียน \overline{z_{1}-\overline{z_{2}}} ในรูปของ a+bi เมื่อ a และ b เป็นจำนวนจริง

วิธีทำ

\overline{z_{1}-\overline{z_{2}}}
=\overline{z_{1}}-\overline{\overline{z_{2}}}
=\overline{z_{1}}-z_{2}
= \overline{\left ( 2+i \right )}-(-3-2i)
= 2-i+3+2i
= 5+i

กราฟและค่าสัมบูรณ์ของจำนวนเชิงซ้อน

กราฟของจำนวนเชิงซ้อน

ถ้าน้อง ๆ ยังจำกันได้ จำนวนเชิงซ้อนสามารถเขียนในรูปของคู่อันดับ \left ( a,b \right ) ดังนั้นเราสามารถนำจำนวนเชิงซ้อน \left ( a,b \right ) มาแทนด้วยจุดบนระนาบในระบบพิกัดฉากได้ จะเรียกระนาบนี้ว่า ระนาบเชิงซ้อน โดยเรียกแกน X ว่า แกนจริง เรียกแกน Y ว่า แกนจินตภาพ

ซึ่งการแทนจำนวนเชิงซ้อน \left ( a,b \right ) บนระนาบ สามารถแทนได้ด้วยจุด \left ( a,b \right ) หรือเวกเตอร์ที่มีจุดเริ่มต้นที่จุด \left ( 0,0 \right ) และมีจุดสิ้นสุดที่จุด \left ( a,b \right ) เช่น 4+3i สามารถเขียนบนระนาบเชิงซ้อนได้ ดังนี้

กราฟของจำนวนเชิงซ้อน

ค่าสัมบูรณ์ของจำนวนเชิงซ้อน

บทนิยาม
ค่าสัมบูรณ์ (absolute value or modulus) ของจำนวนเชิงซ้อน a+bi คือ จำนวนจริง \sqrt{a^{2}+b^{2}} นั่นคือ \left | a+bi \right |=\sqrt{a^{2}+b^{2}}

จากบทนิยามจะพบว่า ค่าสัมบูรณ์ของจำนวนเชิงซ้อน a+bi คือระยะห่างระหว่างจุด \left ( 0,0 \right ) และจุด \left ( a,b \right ) หรือขนาดของเวกเตอร์ที่มีจุดเริ่มต้นที่จุด \left ( 0,0 \right ) และมีจุดสิ้นสุดที่จุด \left ( a,b \right ) นั่นเอง เช่น ค่าสัมบูรณ์ของ 4+3i คือ 5 นั่นเอง

ค่าสัมบูรณ์ของจำนวนเชิงซ้อน

ทฤษฎีบท
ให้ z,z_{1} และ z_{2} เป็นจำนวนเชิงซ้อน จะได้ว่า
1. \left | z \right |^{2}=z\bar{z}
2. \left | z \right |=\left | -z \right |=\left | \bar{z} \right |
3. \left | \frac{1}{z} \right |=\frac{1}{\left | z \right |} เมื่อ z\neq 0
4. \left | z_{1}z_{2} \right |=\left | z_{1} \right |\left | z_{2} \right |
5. \left | z_{1}+z_{2} \right |\leq \left | z_{1} \right |+\left | z_{2} \right |
6. \left | z_{1}-z_{2} \right |\geq \left | z_{1} \right |-\left | z_{2} \right |

ตัวอย่างที่ 4 กำหนดให้ z_{1}=3-4i และ z_{2}=12+5i ค่าสัมบูรณ์ของจำนวนเชิงซ้อน z_{1}z_{2} เท่ากับเท่าใด

วิธีทำ

\left |z_{1} \right |=\sqrt{3^{2}+(-4)^{2}}=\sqrt{9+16}=5
\left |z_{2} \right |=\sqrt{12^{2}+5^{2}}=\sqrt{144+25}=13
จากทฤษฎีบท \left | z_{1}z_{2} \right |=\left | z_{1} \right |\left | z_{2} \right |
จะได้ว่า \left | z_{1}z_{2} \right |=5\times 13=65

รูปเชิงขั้วของจำนวนเชิงซ้อน

จากที่เราเคยเขียนจำนวนเชิงซ้อน z=x+yi (จำนวนเชิงซ้อนที่ไม่เป็นศูนย์) บนระนาบได้ดังนี้
จากรูป หากเรากำหนดให้ r แทนระยะห่างระหว่างจุดกำเนิด O กับ z
และกำหนดให้ \theta แทนขนาดของมุมที่วัดทวนเข็มนาฬิกาจากแกน X ทางด้านบวก ไปยัง \overrightarrow{Oz} จะได้ความสัมพันธ์ดังนี้

  • x=rcos\theta และ y=rsin\theta
  • r=\left | z \right |=\sqrt{x^2+y^2} และ tan\theta=\frac{y}{x} เมื่อ x\neq0

ดังนั้นเราจะเขียนจำนวนเชิงซ้อนในอีกรูปหนึ่งได้ดังนี้

จาก z=x+yi เขียนใหม่ได้เป็น z=r\left (cos\theta +isin\theta \right )
โดยเรียก r\left (cos\theta +isin\theta \right ) ว่า รูปเชิงขั้ว (polar form) ของ z และเรียก \theta ว่า อาร์กิวเมนต์ (argument) ของ z

ตัวอย่างที่ 5 จงเขียนจำนวนเชิงซ้อน -1+\sqrt{3}i ให้อยู่ในรูปเชิงขั้ว

วิธีทำ

ขั้นตอนที่ 1 หา r และ \theta

ให้ r\left (cos\theta +isin\theta   \right ) เป็นรูปเชิงขั้วของ -1+\sqrt{3}i

จะได้ r=\sqrt{(-1)^2+(\sqrt{3})^2}=\sqrt{1+3}=\sqrt{4}=2

เนื่องจาก tan\theta =\frac{\sqrt{3}}{-1}=-\sqrt{3} และ \left ( -1, \sqrt{3} \right ) เป็นจุดในจตุภาคที่ 2

จะได้ว่า \theta ค่าหนึ่งที่ทำให้ tan\theta =-\sqrt{3} คือ \frac{2\pi }{3}

ขั้นตอนที่ 2 นำมาแทนค่าเพื่อหารูปเชิงขั้วของจำนวนเชิงซ้อน

ดังนั้น รูปเชิงขั้วรูปหนึ่งของ -1+\sqrt{3}i คือ 2\left ( cos\left ( \frac{2\pi }{3} \right )+isin\left ( \frac{2\pi }{3} \right ) \right )

น้อง ๆ บางคนอาจรู้สึกว่าการเขียนจำนวนเชิงซ้อนในรูปเชิงขั้วมีความยุ่งยากและซับซ้อนใช่ไหม แต่มันก็มีประโยชน์อยู่น้า การเขียนจำนวนเชิงซ้อนในรูปเชิงขั้วจะช่วยหาผลคูณหรือผลหารได้เร็วขึ้น โดยปกติแล้วถ้าจำนวนเชิงซ้อนในรูปที่ใช้ก่อนหน้านี้จะหาผลคูณโดยการคูณกระจาย หรือหาผลหารโดยใช้สูตรน่ากลัว ๆ

ดังนั้นถ้าเราอยากหาผลคูณหรือผลหารของจำนวนเชิงซ้อน ให้น้อง ๆ ใช้สูตรในทฤษฎีบทด้านล่างนี้ได้เลย

ทฤษฎีบท ให้ z_1=r_1(cos\theta_1+isin\theta_1) และ z_2=r_2(cos\theta_2+isin\theta_2) โดยที่ z_1\neq0 และ z_2\neq0

  • z_1z_2=r_1r_2(cos(\theta_1+\theta_2)+isin(\theta_1+\theta_2))
  • \frac{z_1}{z_2}=\frac{r_1}{r_2}(cos(\theta_1-\theta_2)+isin(\theta_1-\theta_2))
  • \bar{z_1}=r_1(cos(-\theta_1)+isin(-\theta_1))

แล้วถ้าเป็นการยกกำลังล่ะ เราจะหาได้จากอะไร… ไม่ยากเลย น้อง ๆ สามารถใช้ทฤษฎีบทเดอมัวฟวร์มาช่วยหาได้น้าา

ทฤษฎีบทเดอมัวฟวร์ (De Moivre’s Theorem)
ให้ z=r\left (cos\theta +isin\theta \right ) เป็นจำนวนเชิงซ้อนที่ไม่เป็นศูนย์ และ n เป็นจำนวนเต็มบวก
จะได้ว่า z^n=r^n\left (cos\left (n\theta \right ) +isin\left (n\theta \right ) \right )

รากที่ n ของจำนวนเชิงซ้อน

ก่อนจะเริ่มหารากที่ n ของจำนวนเชิงซ้อน น้อง ๆ มาหารากที่สองของจำนวนเชิงซ้อนกันก่อนดีกว่า นั่นคือสูตรด้านล่างนี้

กำหนดจำนวนเชิงซ้อน z=a+bi และให้ r=\sqrt{a^2+b^2} จะได้ว่ารากที่สองของ z คือ

  • \pm \left ( \sqrt{\frac{r+a}{2}}+\sqrt{\frac{r-a}{2}}i \right ) เมื่อ b\geq 0
  • \pm \left ( \sqrt{\frac{r+a}{2}}-\sqrt{\frac{r-a}{2}}i \right ) เมื่อ b<0

นอกจากสูตรที่พี่เขียนมาข้างต้น เรายังสามารถนำทฤษฎีบทของเดอมัวฟวร์ มาช่วยในการหารากที่ n ของจำนวนเชิงซ้อน เมื่อ n เป็นจำนวนเต็มบวก นั่นหมายความว่าเราสามารถหารากที่ 2 ของจำนวนเชิงซ้อนได้เช่นกัน 

ลองค่อย ๆ สังเกตตามพี่น้าา ถ้าเราให้ w เป็นจำนวนเชิงซ้อน และ n เป็นจำนวนเต็มบวก เราจะได้ว่ารากที่ n ของ w คือ จำนวนเชิงซ้อน z ที่สอดคล้องกับ z^n=w

พี่จะขอยกตัวอย่างเพิ่มเติม เช่น \frac{\sqrt{2}}{2}+\frac{\sqrt{2}}{2}i เป็นรากที่ 4 ของ 1 เพราะว่า \left (\frac{\sqrt{2}}{2}+\frac{\sqrt{2}}{2}i \right )^{4}=1

เราจะใช้ทฤษฎีบทต่อไปนี้ในการหารากที่ n ของจำนวนเชิงซ้อน

ถ้า w=r\left ( cos\theta +isin\theta \right ) เป็นจำนวนเชิงซ้อนที่ไม่เป็นศูนย์ แล้ว
รากที่ n ของ w มีทั้งหมด n รากที่แตกต่างกัน คือ z=\sqrt[n]{r}\left ( cos\left (\frac{\theta +2k\pi }{n} \right ) +isin\left (\frac{\theta +2k\pi }{n} \right ) \right ) เมื่อ k\in \left \{ 0, 1, 2, … , n-1 \right \}

ตัวอย่างที่ 6 จงหารากที่ 4 ของ 2+2\sqrt{3}i

วิธีทำ  

กำหนดให้ w=2+2\sqrt{3}i

ดังนั้น เขียนจำนวนเชิงซ้อน w ให้อยู่ในรูปเชิงขั้วได้ว่า 4\left ( cos\frac{\pi }{3}+isin\frac{\pi}{3} \right )

และกำหนดให้ z=r\left (cos\theta +isin\theta   \right ) เป็นรากที่สี่ของ w

จะได้  z^4=2+2\sqrt{3}i

จากทฤษฎีบทของเดอมัวฟวร์ จะได้ z^4=r^4\left ( cos4\theta +isin4\theta \right )=4\left ( cos\frac{\pi }{3}+isin\frac{\pi}{3} \right )

ดังนั้น r^4=4

จะได้ว่า r=\sqrt[4]{4}=\sqrt{2}

และ 4\theta-\frac{\pi}{3}=2k\pi เมื่อ k\in \mathbb{Z}

จะได้ว่า \theta = \frac{\frac{\pi}{3}+2k\pi}{4} เมื่อ k\in \mathbb{Z}

ดังนั้น  z=\sqrt{2}\left ( cos\left (\frac{\pi}{12}+\frac{k\pi}{2}  \right ) +isin\left (\frac{\pi}{12}+\frac{k\pi}{2}  \right ) \right ) เมื่อ k\in \mathbb{Z}

เมื่อ k=0 จะได้   z_1=\sqrt{2}\left (cos\frac{\pi}{12}+isin\frac{\pi}{12}  \right )

เมื่อ k=1 จะได้   z_2=\sqrt{2}\left (cos\frac{7\pi}{12}+isin\frac{7\pi}{12}  \right )

เมื่อ k=2 จะได้   z_3=\sqrt{2}\left (cos\frac{13\pi}{12}+isin\frac{13\pi}{12}  \right )

เมื่อ k=3 จะได้   z_4=\sqrt{2}\left (cos\frac{19\pi}{12}+isin\frac{19\pi}{12}  \right )

สมการพหุนามตัวแปรเดียว

หน้าตาของสมการพหุนามตัวแปรเดียวในหัวข้อนี้จะคล้ายกับที่น้อง ๆ เคยเจอมาเลย แต่ในหัวข้อนี้เราจะเจอคำตอบของสมการที่เป็นจำนวนเชิงซ้อนด้วย ดังนั้นเราจะต้องใช้ความรู้เดิมมาช่วยแก้สมการด้วย

พหุนาม p(x) มี x-c เป็นตัวประกอบ ก็ต่อเมื่อ p(c)=0

ต่อมาพี่จะพูดถึงจำนวนคำตอบของสมการพหุนามตัวแปรเดียว หลังจากที่เราแก้สมการพหุนามตัวแปรเดียวแล้ว จำนวนคำตอบของสมการจะเป็นดังต่อไปนี้เลย

ให้ p(x) เป็นพหุนามที่มีสัมประสิทธิ์เป็นจำนวนจริงและมีดีกรี n เมื่อ n\geq 0 จะได้ว่าสมการ p(x)=0 จะมีคำตอบทั้งหมด n คำตอบ เมื่อนับคำตอบที่ซ้ำกัน

ที่สำคัญที่สุดเลยคือทฤษฎีบทในกรอบต่อไปนี้ จะกล่าวถึงคำตอบของสมการพหุนามตัวแปรเดียวที่เป็นจำนวนเชิงซ้อนถ้าเรารู้คำตอบที่เป็นจำนวนเชิงซ้อนตัวหนึ่งแล้ว เราจะสามารถหาคำตอบอีกตัวหนึ่งได้เลยโดยใช้ทฤษฎีบทนี้

ถ้าจำนวนเชิงซ้อน z เป็นคำตอบของสมการพหุนามกำลัง n โดยที่สัมประสิทธิ์ทุกตัวเป็นจำนวนจริง แล้ว \bar{z} จะเป็นคำตอบของสมการพหุนามนี้ด้วย

เช่น กำหนดสมการ x^2-4x+13=0 มี 2+3i เป็นคำตอบตัวหนึ่งของสมการ
จะได้ว่า 2-3i เป็นคำตอบอีกตัวหนึ่งของสมการด้วย

ตัวอย่างที่ 7 จงหาสมการพหุนามดีกรี 3 ที่มีสัมประสิทธิ์เป็นจำนวนเต็ม มี 2 และ 3-i เป็นคำตอบ และมีสัมประสิทธิ์นำเป็น 1

วิธีทำ

เนื่องจาก 3-i เป็นคำตอบของสมการ จะได้ว่า 3+i เป็นคำตอบของสมการด้วย

จะได้

(x-2)(x-(3-i))(x-(3+i))=0

(x-2)(x-3+i)(x-3-i)=0

(x-2)(x^2-6x+10)=0

x^3-8x^2+22x-20=0

ดูคลิปติวฟรี จำนวนเชิงซ้อน ม.5

ดูคลิปติวฟรีอื่น ๆ ได้ที่ YouTube : SmartMathPro

จำนวนเชิงซ้อน ม.5 เป็นอีกหนึ่งบทในเนื้อหาคณิตศาสตร์ ม.5 ที่มีทั้งทฤษฎีบท ตัวแปร สูตร และการเขียนกราฟที่
ค่อนข้างเยอะประมาณหนึ่งเลย ทำให้หลายคนก็อาจจะรู้สึกงงอยู่บ้างเมื่อเรียนเนื้อหาเรื่องนี้ แต่พี่แนะนำว่าให้ค่อย ๆ ทำความเข้าใจและฝึกทำโจทย์ควบคู่ไปด้วยน้าา จะยิ่งทำให้เข้าใจมากขึ้น พร้อมไปสอบกลางภาคแน่นอนน

ซึ่งถ้าใครอยากได้โจทย์คณิตศาสตร์ ม.ปลาย ไว้ซ้อมมือ พี่ก็มีแบบฝึกหัดใน คลังข้อสอบ ให้ทุกคนได้ฝึกทำอีกเพียบเลยย เข้าไปดาวน์โหลดกันได้น้าา

สำหรับน้อง ๆ คนไหนที่อ่านจบแล้ว แต่อยากได้ตัวช่วยในการอ่านหนังสือที่จะเสริมความเข้าใจของตัวเองให้มากขึ้นอีก
พี่ก็มีคอร์สติวคณิตศาสตร์ ม.ปลาย มาแนะนำให้ทุกคนด้วยน้าา โดยพี่จะสอนปูพื้นฐานเนื้อหาคณิต ม.ปลาย ให้ครบ
ทุกบทอิงตาม สสวท. และพาตะลุยโจทย์แบบจัดเต็ม เตรียมพร้อมให้น้อง ๆ ไปอัปคะแนนในทุกการสอบเลยย (กระซิบว่าตอนนี้มีโปรโมชันลดสูงสุดถึง 35% ด้วยย) ใครที่สนใจดูรายละเอียดเพิ่มเติมก็ คลิก เลยน้าา

บทความ แนะนำ

บทความ แนะนำ

สรุปเนื้อหาคณิตศาสตร์ ม.5
คณิตศาสตร์ ม.5 เทอม 1 เทอม 2 เรียนอะไร? สรุปครบทั้งพื้นฐานและเพิ่มเติม
เนื้อหาคณิตศาสตร์ เวกเตอร์ ม.5 มีอะไรบ้าง
เวกเตอร์ ม.5 สรุปทุกเนื้อหา พร้อมโจทย์ วิธีทำ และคลิปติวฟรี!
สรุปเนื้อหาคณิต ม.5 เรื่องเมทริกซ์
เมทริกซ์ ม.5 สรุปเนื้อหาครบทุกหัวข้อ !!
สรุปเนื้อหาการนับและความน่าจะเป็น ม.5 พร้อมตัวอย่างโจทย์
ความน่าจะเป็น ม.5 สรุปเนื้อหา พร้อมตัวอย่างโจทย์และวิธีทำ
สรุปฟังก์ชันตรีโกณมิติ ม.5
ตรีโกณมิติ ม.5 สรุปสูตรพร้อมแจกโจทย์แบบจัดเต็ม !!

สำหรับน้อง ๆ ที่สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม รวมถึงติดตามข่าวสารต่าง ๆ ที่อัปเดตอย่างเรียลไทม์ ได้ที่

Line : @smartmathpronews 

FB : Pan SmartMathPro ติวคณิต By พี่ปั้น 

IG : pan_smartmathpro

Twitter : @PanSmartMathPro 

Tiktok : @pan_smartmathpro

Share