ตอนนี้ก็ได้เข้าสู่ฤดูกาลแห่งการสอบแล้วนะคะ เชื่อว่าผู้ปกครองหลายๆท่าน คงกำลังรู้สึกห่วง เป็นกังวล เกี่ยวกับการเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัยของลูกหลานตนเอง  และอยากที่จะ ดูแลและส่งเสริมให้พวกเขาได้สิ่งที่ดีที่สุด โดยเฉพาะในด้านของการเรียน อยาก ดูแลลูกให้สอบติด มหาวิทยาลัยที่ต้องการ แต่ก็ไม่อยากให้พวกเขาเครียด หรือรู้สึกไม่ดี ใช่ไหมล่ะคะ

วันนี้เราก็ได้รวบรวมทริคต่างๆ ที่จะช่วยให้คุณผู้ปกครองสามารถดูแลลูกหลานของท่าน ในช่วงของการเตรียมตัวสอบ ว่าจะต้องทำอย่างไรให้ประสบความสำเร็จได้ แต่ไม่รู้สึกเครียดจนเกินไป อีกทั้งยังช่วยให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันภายในครอบครัว และช่วยให้ลูกหลานเปิดใจกับคุณผู้ปกครองมากยิ่งขึ้นอีกด้วยนะคะ

ซึ่งทริคทั้ง 7 ข้อที่เราได้รวบรวมมาในวันนี้  ส่วนหนึ่งเป็นการสอบถามความคิดเห็นจากน้องๆลูกศิษย์  ของสถาบัน SMARTMATHPRO ร่วมกับประสบการณ์ตรงของพี่ปั้น (เจ้าของสถาบัน) ที่ได้พบเจอลูกศิษย์หลากหลายรูปแบบและมีประสบการณ์การสอนมามากกว่าหลายหมื่นคน  จะมีทริคดีๆอะไรบ้างนั้น  ไปดูกันได้เลยค่ะ

1. วางตัวสบายๆ กับลูก

เราจะต้องทำให้ลูกรู้สึกว่า ผู้ปกครองของตนเอง สามารถพูดคุยและปรึกษาได้ รวมถึงรับฟังการระบายของพวกเขา และคอยมอบกำลังใจดีๆให้กับลูกอยู่เสมอ เพราะกำลังใจจากครอบครัวเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด  มันคงจะดีกว่าใช่ไหมล่ะคะ ถ้าลูกหลานวางให้เราเป็นที่ปรึกษาของเขา และกล้าที่จะเล่าทุกเรื่องราวให้เราฟังได้อย่างสบายใจ

 

2. คอยสังเกตสภาพร่างกายและจิตใจของลูก

เมื่ออยู่ในช่วงของการเตรียมตัวสอบ เด็กมักจะมีความเครียด ความกดดันตัวเองที่มากกว่าปกติ ผู้ปกครองในบ้านอาจจะต้องเพิ่มความใส่ใจในการสังเกตพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงเหล่านี้ของลูกมากขึ้น ว่า ลูกของเราไหวไหม   หนักเกินไปสำหรับเขาหรือเปล่า   ถ้าหากลูกหลานได้เล็งเห็นถึงความใส่ใจเหล่านี้แล้ว พวกเขาก็จะได้รับพลังบวกจากเราเพิ่มขึ้นอีกด้วยนะคะ

3. สอบถามความต้องการและปัญหาของลูก

การที่เราได้พูดคุยถึงปัญหาที่ลูกพบเจอ รวมถึงความต้องการของเขามากขึ้น เราก็จะสามารถเข้าไปดูแล ส่งเสริมเขาได้อย่างตรงจุด และแก้ปัญหาเหล่านั้นได้ทันเวลา  เช่น  ลูกอยากเรียนพิเศษอะไรเพิ่มไหม  คุณครูที่สอนอยู่โอเคไหม สอนเข้าใจหรือเปล่า    เพราะบางครั้งลูกหลานของเรา  เขาอาจจะไม่กล้าเข้ามาพูดคุยกับเราก่อน          ถ้าอย่างนั้น เราก็ลองเป็นฝ่ายที่เข้าหาพวกเขาดูก่อนก็ไม่เสียหายนะคะ อาจจะทำให้เกิดการเปิดใจระหว่างกันมากขึ้นก็ได้นะคะ

 

4. อย่ากดดันและบังคับมากจนเกินไป

การอ่านหนังสือแบบอัดเยอะๆ จนไม่ได้พักผ่อน ไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องที่สุด  เราไม่ควรที่จะบีบบังคับพวกเขามากจนเกินไป เพียงแต่เราอาจจะต้องใช้วิธีการพูดคุยกับเขาดีๆ ให้ลูกหลานรู้ถึงความหวังดีของเรา ว่าทำไมเขาถึงจะต้องสู้เพื่ออนาคตของตัวเอง  โดยเราจะต้องอธิบายว่า การเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัยนั้น ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งที่สำคัญสำหรับเขา  ที่เราอยากให้เขาตั้งใจให้เต็มที่  เพราะจะได้ไม่ต้องมานั่งเสียใจหรือเสียดายในภายหลัง

และเราทำทุกอย่างไปเพราะหวังดีกับพวกเขาจริงๆ ใช้วิธีการแสดงออกถึงความรัก ความห่วงใย เพิ่มเข้าไปในการอธิบาย ก็จะช่วยให้สถานการณ์ภายในครอบครัวดีขึ้นได้นะคะ

 

5. แอบกระตุ้นอยู่ห่างๆ

ลองหาวิธีการกระตุ้นความกระตือรือร้นที่ดีและเหมาะสมกับลูกของตนเอง แต่ให้หลีกเลี่ยงวิธีการบังคับ หรือใช้อารมณ์ที่รุนแรง เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับพวกเขา เช่น ถ้าอ่านหนังสือจบบทนี้ จะพาไปเลี้ยงขนม , ถ้าสอบติดคณะนี้ได้ จะให้เล่นเกมตอนกลางคืนได้ เป็นต้น

 

6. การดูแลเอาใจใส่ลูก ไม่ใช่การสปอย

อยากให้ลองเปลี่ยนความคิดใหม่ว่า ไม่มีเด็กคนไหนที่ชอบการถูกบังคับ กดดัน หรือเข้มงวดจนเกินไป             ทุกคนล้วนต้องการกำลังใจ พลังบวกจากคนในครอบครัวที่เรารัก ในการที่จะออกไปสู้เพื่ออนาคตของตัวเอง      สู้เพื่อมหาวิทยาลัยที่ต้องการ   ดังนั้นการที่เราเป็นผู้ปกครองที่เข้าไปดูแล เอาใจใส่ ส่งเสริมลูกหลานของตนเอง ไม่ถือเป็นการสปอยนะคะ แต่เรากลับมองว่าสิ่งเหล่านี้จะทำให้พวกเขาได้รับกำลังใจ และรู้สึกว่ามีครอบครัวคอยเคียงข้าง ในตอนที่เขารู้สึกแย่ ท้อแท้ใจมากกว่า เพียงแต่คุณผู้ปกครองก็จะต้องทำอย่างพอดี  ไม่ใช่ตามใจจนพวกเขาละเลยและไม่มีความรับผิดชอบต่อตนเอง

 

7. ให้ความสำคัญกับความพยายาม ความตั้งใจของลูก

ปรับเปลี่ยนมุมมองให้มาโฟกัสที่ความตั้งใจ ความอดทนพยายาม และความเต็มที่ของลูก มากกว่าการมองเพียงผลลัพธ์ ว่าลูกจะต้องสอบติดตามที่คาดหวังไว้เท่านั้น ถ้าหากเราเห็นและสัมผัสได้ว่าลูกของเราเต็มที่ที่สุดแล้วจริงๆ เราก็ควรที่จะชื่นชมและให้กำลังเขา เพราะไม่ใช่ทุกคนที่ตั้งใจแล้วจะได้ผลลัพธ์ที่สำเร็จในครั้งแรกเสมอไป ใช่ไหมล่ะคะ ลองเปิดใจให้กว้างๆ และให้โอกาสพวกเขาดูนะคะ

 

ส่งท้ายถึงผู้ปกครอง

สุดท้ายนี้ หวังว่าทริคพิเศษทั้ง 7 ข้อที่เราได้แนะนำข้างต้น จะเป็นหนึ่งในตัวช่วยให้กับผู้ปกครองทุกท่านได้ไม่มากก็น้อยนะคะ เพียงแค่ลองหาเวลาในการพูดคุยเปิดใจกับพวกเขา เราเชื่อว่ายิ่งครอบครัว ได้มีการพูดคุย ปรับความเข้าใจกันมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเกิดความเข้าใจระหว่างกันมากขึ้นเท่านั้น  ยังไงก็ลองหาทางออกร่วมกันดูนะคะ หนทางที่ดีที่สุดจะเกิดขึ้นแน่นอนค่ะ

Share