สรุปเนื้อหา ประโยคกำกวม

น้อง ๆ อาจจะเคยเจอประโยคกำกวม / คำกำกวมในข้อสอบหรือในชีวิตประจำวันที่ชวนให้สับสนและเข้าใจผิดอยู่บ่อย ๆ เพราะเป็นประโยคที่ตีความได้หลายอย่าง หรือในบางครั้งก็ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าประโยคที่เราเห็นเป็นประกำกวม แล้วแบบนี้จะมีวิธีดูอย่างไร ? เพราะนอกจากเจอในชีวิตประจำวันแล้ว เรื่องประโยคกำกวมก็ยังเป็นเนื้อหาที่ออกสอบใน A-Level ภาษาไทยด้วย

เพื่อให้ทุกคนได้เข้าใจเรื่องประโยคกำกวมมากขึ้น วันนี้พี่จะพาทุกคนไปดูตั้งแต่ความหมาย, ลักษณะ รวมไปถึงตัวอย่างโจทย์ A-Level ภาษาไทยเรื่องประโยคกำกวมกันเลย ใครกำลังเตรียมสอบอยู่ ห้ามพลาดเลยน้าาา

ประโยคกำกวม หมายถึง ประโยคที่สื่อความหมายไม่ชัดเจน ตีความได้มากกว่า 1 ความหมาย เมื่ออ่านหรือได้ยินประโยคกำกวมแล้ว จะสามารถตีความหมายออกไปได้หลายอย่าง เป็นหนึ่งในเรื่องข้อบกพร่องของภาษาไทย

ลักษณะของประโยคกำกวม

น้อง ๆ รู้ไหมว่าในหลักภาษาไทยมีผู้บัญญัติประเภทของประโยคกำกวมไว้มากมายเลย แต่สำหรับบทความนี้ พี่จะขอ
นำเสนอประโยคกำกวมในระดับประโยคและระดับคำ ซึ่งเคยออกสอบใน A-Level และ 9 วิชาสามัญของวิชาภาษาไทย
จะมีอะไรบ้างไปดูกันเลยยย

ประโยคกำกวมที่เกิดจากการวางส่วนขยาย

ประโยคกำกวมที่เกิดจากการวางส่วนขยาย เป็นประโยคกำกวมระดับประโยค เพื่อให้น้อง ๆ เห็นภาพมากขึ้นว่าการวางส่วนขยายมีผลทำให้ประโยคกลายเป็นประกำกวมได้อย่างไร พี่มีตัวอย่างมาให้ดูตามนี้เลยน้า

1. “ช้างเหยียบแก้วแตก”

ความหมายที่ตีความได้ :

  1. ช้างเหยียบแก้วทำให้แก้วแตก
  2. ช้างเหยียบแก้วที่แตกอยู่แล้ว

ประโยคข้างต้นสามารถตีความได้ 2 ความหมาย ซึ่งเราอาจเข้าใจผิดได้ว่าผู้พูดประโยคนี้ต้องการสื่อความแบบใดกันแน่ ทั้งนี้น้อง ๆ จะเห็นได้ว่าสาเหตุที่ทำให้ประโยคนี้กำกวมเป็นเพราะ “ส่วนขยาย” นั่นเอง

โดยคำว่า “แตก” ที่เป็นส่วนขยาย สามารถขยายได้ 2 ตำแหน่ง ดังนั้นหากคำว่า “แตก” ไปขยายคำกริยาคือว่า “เหยียบ” ประโยคนี้จะหมายความว่าช้างทำให้แก้วแตก แต่ถ้าคำว่า “แตก” ไปขยายกรรมคือว่า “แก้ว” ประโยคนี้จะหมายความช้างไปเหยียบแก้วที่แตกอยู่แล้วนั่นเองง

2. “ชาวบ้านนับร้อยสมัครเป็นทหารอาสาที่ชายแดนนี้”

ความหมายที่ตีความได้ :

  1. ชาวบ้านมาสมัครเป็นทหารอาสาที่ชายแดนนี้
  2. ชาวบ้านมาสมัครเพื่อเป็นทหารอาสาประจำชายแดนแห่งนี้

คำว่า “ที่ชายแดนนี้” เป็นส่วนขยายที่สามารถขยายได้ 2 ตำแหน่งเหมือนกับตัวอย่างที่ 1 เลย ดังนั้นหากคำว่า “ที่ชายแดนนี้” ไปขยายคำกริยาคือคำว่า “สมัคร” ประโยคนี้จะหมายความชาวบ้านมาสมัครเป็นทหารอาสาที่ชายแดนนี้ แต่ถ้าคำว่า “ที่ชายแดนนี้” ไปขยายกรรมคือคำว่า “ทหารอาสา” ประโยคนี้จะหมายความว่าชาวบ้านมาสมัครเพื่อเป็นทหารอาสาประจำชายแดนแห่งนี้

3. “ผู้สื่อข่าวต่างประเทศรายงานจำนวนผู้เสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุเครื่องบินตกเพิ่มขึ้น”

ความหมายที่ตีความได้ :

  1. จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น
  2. อุบัติเหตุเครื่องบินตกเพิ่มขึ้น

คำว่า “เพิ่มขึ้น” เป็นส่วนขยายที่สามารถขยายได้ 2 ตำแหน่ง ดังนั้นหากคำว่า “เพิ่มขึ้น” ไปขยาย “จำนวนผู้เสียชีวิต” ประโยคนี้จะหมายความว่าจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น แต่ถ้าคำว่า “เพิ่มขึ้น” ไปขยาย “อุบัติเหตุเครื่องบิน” ประโยคนี้จะหมายความว่าอุบัติเหตุเครื่องบินตกเพิ่มขึ้น

ประโยคกำกวมที่เกิดจากคำพ้องรูปพ้องเสียง

ประโยคกำกวมที่เกิดจากคำพ้องรูปพ้องเสียง เป็นประโยคกำกวมระดับคำ เพื่อให้น้อง ๆ เข้าใจมากขึ้นว่าคำพ้องคำเสียงแบบไหนที่จะทำให้ประโยคกลายเป็นประโยคกำกวม พี่ยกตัวอย่างมาให้ดูแล้วว

1. “เธอจะไปเลยหรอ”

ความหมายที่ตีความได้ :

  1. เธอจะไปจังหวัดเลยหรอ
  2. เธอจะไปตอนนี้เลยหรอ

คำว่า “เลย” เป็นคำพ้องรูปพ้องเสียงที่สามารถตีความว่าหมายถึงชื่อจังหวัดซึ่งก็จะมีความหมายว่าเธอจะไปจังหวัดเลยหรอ แต่นอกจากนี้คำว่า “เลย” ยังสามารถใช้เป็นคำวิเศษณ์ที่ใช้ประกอบหลังคำอื่นเพื่อเน้นความว่า “ทันที” เช่น “ทำเลย” (ทำทันที) “นอนเลย” (นอนทันที) ซึ่งถ้าหากเป็นกรณีนี้จะมีความหมายว่าเธอจะไปตอนนี้เลยหรอ นั่นเองงง

2. “ทุกคนโปรดมาเข้าแถวหน้ากระดาน”

ความหมายที่ตีความได้ :

  1. ทุกคนมาเข้าแถวบริเวณหน้ากระดาน
  2. ทุกคนมาเข้าแถวแบบหน้ากระดาน

คำว่า “หน้ากระดาน” สามารถตีความได้ 2 ความหมายคือ หมายถึงบริเวณหน้ากระดาน หากเป็นความหมายนี้จะมีความหมายว่าทุกคนมาเข้าแถวบริเวณหน้ากระดาน แต่นอกจากนี้ “หน้ากระดาน” ยังสามารถหมายถึง มีลักษณะเรียงแถวไหล่ต่อไหล่หันหน้าไปทางเดียวกัน หากเป็นความหมายนี้จะมีความหมายว่าทุกคนมาเข้าแถวแบบหน้ากระดาน

3. “ชุมชนบ้านปางห้าเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมในการทําลายกระดาษสา”

 

ความหมายที่ตีความได้ :

  1. ชุมชนบ้านปางห้าเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมในการทําลวดลายกระดาษสา
  2. ชุมชนบ้านปางห้าเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมในการทําลวดลายกระดาษสาทิ้ง

คำว่า “ทำลาย” สามารถตีความได้ 2 ความหมาย โดยในบริบทนี้อาจหมายถึง ทำลวดลายของกระดาษสา หากเป็นความหมายนี้จะมีความหมายว่า ชุมชนบ้านปางห้าเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมในการทําลวดลายกระดาษสา แต่นอกจากนี้คำว่า “ทำลาย” ยังสามารถหมายถึง ทำให้หมดสิ้นไป ซึ่งถ้าหากเป็นความหมายนี้จะมีความหมายว่าชุมชนบ้านปางห้าเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมในการทําลวดลายกระดาษสาทิ้งน้า

และนี่ก็คือประโยคกำกวมทั้ง 2 ประเภทที่เคยออกข้อสอบ A-Level และ 9 วิชาสามัญ ภาษาไทย พี่แอบกระซิบให้อีกนิดว่าข้อสอบภาษาไทยที่เป็นระดับสอบเข้ามหาวิทยาลัยจะไม่ได้ถามประเภทของประโยคกำกวมน้า แต่ข้อสอบจะถามตรง ๆ เลยว่า “ข้อใดเป็นประโยคกำกวม” ซึ่งจะถามแบบนี้ทุกปี (ปีละ 1 – 2 ข้อ) ทำให้การเรียนรู้ลักษณะของประโยคกำกวมจะทำให้น้อง ๆ สามารถแยกได้นั่นเองว่าตัวเลือกใดเป็นประโยคกำกวม ตัวเลือกใดไม่กำกวม

ทั้งนี้ในฐานะที่พี่ดูข้อสอบมาทุกปี บอกเลยว่าทุกปีทั้ง A-Level และ 9 วิชาสามัญ ออกแต่ “ประโยคกำกวมที่เกิดจากการวางส่วนขยาย” พึ่งจะมี 2 ปีล่าสุดคือปี 66 – 67 ที่ออก “ประโยคกำกวมที่เกิดจากคำพ้องรูปพ้องเสียง” มาด้วยนั่นเองง

ตัวอย่างข้อสอบ A-Level ประโยคกำกวม

หลังจากที่ได้ดูตัวอย่างประโยคของของประโยคกำกวมทั้งแบบระดับประโยคและระดับคำกันไปแล้ว ก็มาดูตัวอย่างโจทย์จากข้อสอบ A-Level ภาษาไทยกันจริง ๆ บ้าง เพื่อให้ทุกคนได้เข้าใจเรื่องประโยคกำกวมมากขึ้น พี่แนะนำว่าให้น้อง ๆ ลองอ่านโจทย์และตัวเลือกแล้วลองทำดูก่อนอ่านเฉลยน้า จะได้เป็นการฝึกฝนตนเองไปด้วยยยย

1. ข้อความในข้อใดมีความหมายกำกวม (A-Level’ 65)

  1. นักเรียนที่มีความประพฤติดีและทำประโยชน์ต่อสังคมได้รับทุนการศึกษา
  2. การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจัดสัมมนาเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ภูเก็ต
  3. ผู้สูงอายุควรได้รับวัคซีนโควิด-19 เพื่อลดอาการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต
  4. ความดีที่ไม่สิ้นสุดคือการบริจาคร่างกายและอวัยวะเมื่อเสียชีวิตแล้ว
  5. การบันทึกวิธีทำขนมไทยเป็นตำราครั้งแรกใน “แม่ครัวหัวป่าก์”
เฉลย

เฉลย ข้อ 2. การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจัดสัมมนาเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ภูเก็ต
อธิบาย ข้อ 2. เป็นประโยคกำกวมที่เกิดจากการวางส่วนขยาย ส่วนขยายที่ว่านั่นคือ “ที่ภูเก็ต” นั่นเอง ดังนั้นประโยคในตัวเลือก 2 จึงสามารถตีความได้ 2 ความหมายคือ
– การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจัดสัมมนาที่ภูเก็ต เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว
– การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจัดสัมมนาเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต

2. ข้อใดเป็นประโยคกำกวม (A-Level’ 66)

  1. อาหารจานด่วนมักเป็นอาหารที่ขาดคุณค่าทางโภชนาการ
  2. พนักงานส่วนใหญ่ของบริษัทแห่งนี้นิยมนุ่งกระโปรงยาว
  3. งานแต่งงานจัดขึ้นเมื่อวันจันทร์ มีแขกมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก
  4. คณะกรรมการตัดสินการประกวดเรียงความกำลังตรวจสอบข้อสอบอย่างรีบเร่ง
  5. ธนาคารหลายแห่งปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเพื่อช่วยเหลือประชาชนในช่วงวิกฤต
เฉลย

เฉลย ข้อ 3. งานแต่งงานจัดขึ้นเมื่อวันจันทร์ มีแขกมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก
อธิบาย ข้อ 3. เป็นประโยคกำกวมที่เกิดจากคำพ้องรูปพ้องเสียง ซึ่งคำพ้องรูปพ้องเสียงที่นั่นคือ “แขก” โดยคำว่าแขกอาจหมายถึง
– ผู้มาหา, ผู้มาแต่อื่น, ผู้ที่มาร่วมงานพิธีของเจ้าภาพ, บางทีเรียกว่า แขกเหรื่อ
– คำเรียกชาวอินเดีย ศรีลังกา ปากีสถาน บังกลาเทศ อัฟกานิสถาน เนปาล ชวา มลายู ชาวเอเชียตะวันออกกลางและตะวันออกใกล้
ดังนั้นประโยคในตัวเลือก 3 จึงสามารถตีความได้ 2 ความหมาย คือ
– งานแต่งงานมีแขกผู้มาหาเป็นจำนวนมาก
– งานแต่งงานมีชาวแขกมาเป็นจำนวนมาก

ดูคลิปติว A-Level ภาษาไทย เรื่องหลักภาษา (ประโยคกำกวม)

ติดตามคลิปติว A Level อื่น ๆ ได้ทาง YouTube Channel : SmartMathPro

นอกจากจะพบเจอในชีวิตประจำวันแล้ว ประโยคกำกวมยังเป็นอีกเรื่องในข้อบกพร่องทางภาษาที่ถูกนำไปออกสอบในวิชา A-Level ภาษาไทยอีกด้วย ดังนั้นพี่แนะนำให้ทุกคนทบทวนเรื่องประโยคกำกวมไว้ด้วย ฝึกทำโจทย์ วิเคราะห์เยอะ ๆ เลย เพราะสนามสอบ A-Level เป็นอีกหนึ่งสนามสอบที่สามารถยื่นคะแนนได้ในหลายคณะ ดังนั้นพี่ไม่อยากให้น้อง ๆ เทวิชานี้น้า แต่ถ้าน้อง ๆ Dek68 กังวลว่าจะเตรียมตัวสอบไม่ถูกจุดหรือกลัวว่าจะอ่านไม่ทัน เพราะสนามนี้มีหลายวิชา วันนี้พี่เลยขอมาแนะนำคอร์สเรียนพิเศษสนาม A-Level ของ SmartMathPro ที่มีทั้ง A-Level คณิต 1,2 / A-Level ภาษาไทย / A-Level สังคม ให้เลยยย

โดยแต่ละคอร์สมีสอนเนื้อหาปูพื้นฐานอิงตาม Test Blueprint ปีล่าสุด (ใครที่พื้นฐานไม่แน่นก็สามารถเรียนได้) พร้อมพาตะลุยโจทย์แบบไต่ระดับ ตั้งแต่โจทย์ซ้อมมือไปจนถึงข้อสอบเก่าหรือโจทย์ที่ใกล้เคียงกับข้อสอบจริงเลย และพาตะลุยโจทย์หลายระดับจัดเต็ม พร้อมแจกเทคนิคในการทำข้อสอบที่จะช่วยให้น้อง ๆ ทำข้อสอบได้เร็วขึ้น แถมยังช่วยเพิ่มโอกาสในการอัปคะแนนให้อีกด้วย !!

แนะนำว่ายิ่งเริ่มเตรียมตัวสอบเร็วเท่าไร ก็จะยิ่งพร้อมมากกว่าใครน้า เพราะปีนี้สนามสอบ A-Level เลื่อนมาสอบไวขึ้น น้อง ๆ จะได้มีเวลาทบทวนเนื้อหาและฝึกทำโจทย์เสริมแกร่งได้นั่นเอง ที่สำคัญ ถ้าสมัครคอร์สตั้งแต่ตอนนี้พี่มี Unseen Mock Test ชุดพิเศษ 1 ชุด แถมฟรีไปให้ลองทำพร้อมสิทธิพิเศษประจำเดือนอีกมากมายด้วย ถ้าน้อง ๆ คนไหนสนใจคอร์สเตรียมสอบ A-Level สามารถ คลิก เข้ามาดูรายละเอียดได้เลยย

บทความ แนะนำ

บทความ แนะนำ

ทุกสิ่งที่ต้องรู้ก่อนสอบ A-Level ภาษาไทย
ก่อนสอบ A-Level ภาษาไทย ต้องรู้อะไรบ้าง? สรุปให้ครบในบทความนี้
สรุปเนื้อหาและตัวอย่างคำทับศัพท์
คำทับศัพท์ สรุปเนื้อหาและตัวอย่างคำทับศัพท์ พร้อมข้อสอบจริง
คำราชาศัพท์ มีอะไรบ้าง สรุปเนื้อหา
คำราชาศัพท์ สรุปหลักการใช้เข้าใจง่าย พร้อมตัวอย่างคำแต่ละหมวด
สรุปเนื้อหา ระดับภาษา
ระดับภาษา คืออะไร มีกี่ระดับ สรุปเนื้อหาระดับภาษาพร้อมข้อสอบจริง
เนื้อหาภาษาไทย ม.ปลาย
สรุป ภาษาไทย ม.ปลาย (ม.4 ม.5 ม.6) เรียนอะไรบ้าง ? - SmartMathPro
กำหนดการ TCAS68
TCAS68 สอบวันไหน? ลงทะเบียน MyTCAS68 เมื่อไหร่? สรุปตารางสอบ Dek68 ฉบับอัปเดตล่าสุด

สำหรับน้อง ๆ ที่สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม รวมถึงติดตามข่าวสารต่าง ๆ ที่อัปเดตอย่างเรียลไทม์ ได้ที่

Line : @smartmathpronews 

FB : Pan SmartMathPro ติวคณิต By พี่ปั้น 

IG : pan_smartmathpro

Twitter : @PanSmartMathPro 

Tiktok : @pan_smartmathpro

Share