ภาพปก TGAT3 การสร้างคุณค่าและนวัตกรรม

เมื่อพูดถึงข้อสอบ TGAT หลายคนก็จะนึกออกทันทีเลยว่ามีทั้งหมด 3 พาร์ต คือ TGAT1 TGAT2 และ TGAT3 แต่มีใครรู้บ้างว่าจริง ๆ แล้วแต่ละพาร์ตก็ยังถูกแบ่งเป็นหัวข้อย่อยอีกด้วยน้าา ซึ่งวันนี้พี่จะพาเจาะลึกเกี่ยวกับข้อสอบ TGAT3 พาร์ตการสร้างคุณค่าและนวัตกรรมโดยเฉพาะ เพราะพาร์ตนี้เป็น 1 ในพาร์ตที่น้อง ๆ สามารถอัปคะแนน TGAT ให้ปังได้

โดยในบทความนี้จะสรุปว่า TGAT3 พาร์ตการสร้างคุณค่าและนวัตกรรมออกสอบอะไรบ้าง หน้าตาของข้อสอบเป็นอย่างไร พร้อมแจกเทคนิคทำข้อสอบให้อีกด้วยน้าา ถ้าใครอยากรู้แล้วว่ารายละเอียดจะเป็นยังไง ก็ไปดูกันเลยย

ข้อสอบ TGAT3 คือ ข้อสอบสมรรถนะการทำงานในอนาคต (Future Workforce Competencies) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อสอบ TGAT ที่เน้นให้น้อง ๆ ได้วิเคราะห์สถานการณ์ บทบาท หน้าที่หรือเงื่อนไขต่าง ๆ โดยต้องทำความเข้าใจและหาความต้องการของโจทย์ ซึ่งสิ่งสำคัญของการทำข้อสอบพาร์ตนี้คือ น้อง ๆ จะต้องเข้าใจวิธีการตอบคำถามนั่นเองง 

โดยข้อสอบ TGAT3 ก็จะถูกแบ่งย่อยออกมาได้ 4 พาร์ต คือ 

TGAT3 พาร์ตการสร้างคุณค่าและนวัตกรรมคืออะไร ?

ข้อสอบ TGAT3 พาร์ตการสร้างคุณค่าและนวัตกรรม คือ การอ่านข้อสอบและวิเคราะห์สถานการณ์โดยใช้หลักการในการตอบ 3 หลัก คือ

  • Critical thinking คือ ทักษะการคิดแบบเป็นเหตุเป็นผลด้วยวิจารณญาณ
  • Data sufficiency คือ การวิเคราะห์ความเพียงพอของข้อมูลที่กำหนดให้
  • Logical reasoning คือ การให้เหตุผลเชิงตรรกะ

น้อง ๆ ต้องใช้หลักการข้างต้นเป็นพื้นฐานในการวิเคราะห์เพื่อเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้น หาแนวทางในการแก้ไขปัญหา และหาทางเลือกใหม่ ๆ เพื่อพลิกวิกฤติเป็นโอกาส เช่น การคิดต้นทุนของสินค้า การหาต้นตอของปัญหา การกำหนดประเด็นสนับสนุนหรือประเด็นโต้แย้งต่อข้อความที่โจทย์กำหนด รวมถึงการสร้างโอกาสใหม่โดยใช้จุดแข็งที่มี

ข้อสอบพาร์ตนี้มีจำนวน 15 ข้อ ซึ่งคำตอบทุกตัวเลือกจะมีคะแนนลดหลั่นทีละ 0.25 ตั้งแต่ 0 – 1 คะแนน (0, 0.25, 0.5, 0.75, 1) นั่นเองง

ข้อสอบ TGAT3 พาร์ตการสร้างคุณค่าและนวัตกรรมเป็นอย่างไร ?

หลังจากที่น้อง ๆ ได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับข้อสอบ TGAT3 เบื้องต้นแล้ว เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น พี่จะขอพาไปดูข้อสอบพาร์ตนี้กัน แต่แนะนำว่าอย่าเพิ่งดูเฉลยน้าา อยากให้ทุกคนลองทำข้อสอบข้อนี้ด้วยตัวเองดูก่อน แล้วค่อยมาดูเฉลยกันว่าแต่ละตัวเลือกได้คะแนนเท่าไรกันบ้าง 

โจทย์ สกายเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ได้มีโอกาสไปช่วยคุณหมอสมศักดิ์ในโครงการออกแบบขาเทียมชนิดใหม่ โดยในโจทย์แรก สกายได้รับมอบหมายให้ลองออกแบบขาเทียมแบบใหม่ ให้มีความเบากว่าขาเทียมที่มีวางขายในตลาด โดยคุณหมอสมศักดิ์อนุญาตให้สกายทำงานคนเดียวหรือทำงานเป็นทีมก็ได้ นักเรียนคิดว่าสกายควรจะทำอย่างไร เพื่อให้ได้ขาเทียมที่ตอบโจทย์และตรงความต้องการของผู้ใช้งานมากที่สุด  

  1. ทำงานคนเดียว คิดคนเดียว เพื่อให้งานเสร็จเร็วที่สุด
  2. สร้างทีมรวมนักเรียน ที่มีความรู้ความสนใจหลากหลายศาสตร์         
  3. บอกอาจารย์ว่าขอถอนตัว เพราะว่าตนเองไม่เคยขาหักมาก่อน     
  4. ชวนนักเรียนที่เก่งเรื่องชีววิทยาเหมือนกัน มาทำงานด้วยกัน

หลังจากที่ทำข้อสอบแล้ว เป็นยังไงกันบ้าง ทีนี้เรามาดูเฉลยกันดีกว่าว่า แต่ละคำตอบที่น้อง ๆ เลือก ได้คะแนนเท่าไรกัน 

เฉลย

ตอบข้อ 1. ได้ 0.50 คะแนน
ตอบข้อ 2. ได้ 1 คะแนน
ตอบข้อ 3. ได้ 0.25 คะแนน
ตอบข้อ 4. ได้ 0.75 คะแนน

สำหรับใครที่ตอบผิดก็ไม่ต้องเสียใจไปน้าา เพราะพี่มีเทคนิคทำข้อสอบ TGAT3 พาร์ตการสร้างคุณค่าและนวัตกรรมด้วยหลักการ Design Thinking มาฝากด้วยย (สามารถนำไปปรับใช้กับพาร์ตอื่น ๆ ได้ด้วยน้า > <)

เทคนิคการทำข้อสอบ TGAT3 พาร์ตการสร้างคุณค่าและนวัตกรรมด้วยวิธี Design Thinking

Design Thinking หรือ กระบวนการคิดเชิงออกแบบ คือกระบวนการในการพัฒนา “นวัตกรรม” โดยการนำผู้ใช้งานมาเป็นศูนย์กลางในการออกแบบ และด้วยข้อสอบ TGAT3 พาร์ตแรกนั้นเป็นข้อสอบการสร้างคุณค่าและ “นวัตกรรม” ข้อสอบส่วนใหญ่ของพาร์ตนี้มักเป็นสถานการณ์ในการสร้างอะไรบางอย่างเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ดังนั้นการเรียนรู้ Design Thinking จะทำให้ได้หลักคิดไปใช้ตอบข้อสอบพาร์ตนี้ได้นั่นเองง

โดย Design Thinking ถูกแบ่งออกเป็น 5 ขั้นตอน ดังนี้

1. Empathize เข้าใจปัญหา

 แรกเริ่มเลยต้องทำความเข้าใจกันก่อน โดยต้องเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้น เข้าใจผู้ใช้งานในนวัตกรรมที่เราต้องออกแบบ การเข้าใจสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะทำให้เราสร้างนวัตกรรมที่สามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดหรือตอบโจทย์ผู้ใช้ ซึ่งการที่จะเข้าใจปัญหาได้ต้องมาจากการถาม การสัมภาษณ์ ตอบแบบสอบถาม หรือการสังเกตนั่นเองง

2. Define นิยาม / กำหนดปัญหา

เป็นการสรุปข้อมูลจากขั้นตอนที่แล้วเพื่ออธิบาย ‘ปัญหาของผู้ใช้’ ออกมาให้ชัดเจนที่สุด

สำคัญที่สุดคือการสรุปนิยามปัญหาของผู้ใช้ที่ดีต้องตอบให้ได้ว่า ใคร ทำอะไร ทำไม และบางครั้งก็ต้องรู้ว่า เมื่อไรและที่ไหนด้วย

3. Ideate ระดมความคิด

การระดมสมอง รวบรวมความคิด จริง ๆ แล้วการสร้างนวัตกรรมหากมีคนเดียวก็สามารถทำขั้นตอนนี้ได้ แต่หากมีหลายคน ขั้นตอนนี้จะมีประสิทธิภาพมากกว่าเพราะมันคือการระดมสมองเพื่อหาไอเดียมาแก้ปัญหาที่เราตั้งไว้ในข้อที่แล้ว ยิ่งเราสามารถออกไอเดียได้เยอะ สามารถคิดนอกกรอบได้ก็ยิ่งดีเลยย

4. Prototype สร้างต้นแบบ

คือ สร้างแบบจำลอง โดยการนำไอเดียที่ดีที่สุดจากข้อที่แล้วมาสร้างเป็นนวัตกรรมชิ้นใหม่นั่นเอง ซึ่งการสร้างนี้จะต้องตอบคำถามที่ว่านวัตกรรมชิ้นนี้ สามารถช่วยตอบโจทย์ของผู้ใช้ได้ดีแค่ไหน

5. Test ทดสอบ

คือ ขั้นตอนที่สำคัญที่สุด ซึ่งการทดสอบนั้นต้องค่อย ๆ เก็บข้อมูลไปด้วยว่าแบบจำลองของเรามีข้อผิดพลาดตรงไหน สามารถพัฒนาอย่างไรได้บ้าง หากทดสอบแล้วไม่สำเร็จ ยังไม่สามารถแก้ปัญหาหรือตอบโจทย์ผู้ใช้

เราสามารถวนกลับไปข้อก่อนหน้านี้เพื่อสร้างแบบจำลองชิ้นใหม่ได้ โดยสามารถวนกลับไปได้ในทุกข้อ เช่น หากพบว่าแบบจำลองผิดพลาดเล็กน้อยสามารถกลับไปแก้ไขที่ Prototype ได้ หรือหากแบบจำลองนี้ไม่เหมาะสมกับการแก้ไขปัญหา เราสามารถวนกลับไปนำไอเดียจาก Ideate ที่เคยคิดไว้มาสร้างแบบจำลองชิ้นใหม่เลยก็ยังได้

ทั้งหมดนี้ก็คือหลักการของ Design Thinking น้าา พี่ขอบอกได้เลยว่าเจ้าหลักคิดนี้ได้รับความนิยมไปทั่วโลก บริษัทใหญ่ ๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศนำหลักคิดนี้ไปแก้ไขปัญหาเป็นส่วนใหญ่เลยยย และเพื่อให้น้อง ๆ นำหลักคิดนี้ไปใช้งานแบบง่าย ๆ พี่ขอสรุปขั้นตอนทั้ง 5 ของ Design Thinking เป็นภาพด้านล่างนี้

เทคนิคการทำข้อสอบ TGAT3

วิธีประยุกต์ Design Thinking กับ TGAT3 พาร์ตการสร้างคุณค่าและนวัตกรรม

หลังจากที่น้อง ๆ ได้รู้จักกับ Design Thinking แล้ว ต่อไปพี่จะพาทุกคนมาดูวิธีการปรับใช้กับการทำข้อสอบ TGAT3 ในพาร์ตการสร้างคุณค่าและนวัตกรรม ซึ่งจะช่วยอัปคะแนน TGAT3 ได้   ทีนี้เรามาวิเคราะห์ข้อสอบกันว่าทำไมตัวเลือกข้อ 2. ได้ 1 คะแนนเต็ม

เพราะจากโจทย์เป็นการสร้างนวัตกรรมคือการไปช่วยคุณหมอสมศักดิ์ในโครงการออกแบบขาเทียมชนิดใหม่ และหากอ่านโจทย์ดี ๆ จะเห็นว่าสกายได้ทำเข้าใจปัญหา (Empathize) และกำหนดปัญหา (Define) ไปเรียบร้อยแล้ว นั่นคือ “การออกแบบขาเทียมแบบใหม่ให้มีความเบากว่าขาเทียมที่มีวางขายในตลาด”

จากนั้น ขั้นตอนต่อไป คือ ระดมความคิด (Ideate) การระดมความคิดที่มีประสิทธิภาพนั้นต้องมีไอเดียจากหลายคนจะดีที่สุด เพราะจะทำให้ได้ไอเดียที่หลากหลาย ดังนั้นจึงเหลือตัวเลือกเพียงแค่ 2 ข้อ คือ ข้อ 2. และ 4. ส่วนสาเหตุที่ทำให้ข้อ 2. ได้คะแนนมากกว่าข้อ 4. 

เพราะการระดมความคิดจากคนที่มีความรู้ ความสนใจ จากหลาย ๆ ศาสตร์จะทำให้ได้ไอเดียที่ใหม่กว่า สร้างสรรค์กว่า นอกกรอบกว่าคนที่มีความสนใจในประเภทเดียวกัน นอกจากนั้นยังช่วยเสริมจุดดีและลดจุดบกพร่องของกันและกันได้ด้วย ดังนั้นข้อนี้ตอบข้อ 2. จะได้คะแนนเยอะที่สุด

หากน้อง ๆ อ่านเฉลยของพี่แล้วยังมีข้อสงสัย พี่แนะนำให้ดูคลิปเฉลยละเอียดที่สอนโดยพี่ขลุ่ยในคลิปด้านล่างนี้ได้เลยยย

ดูคลิปติว TGAT3 พาร์ตต่าง ๆ

พี่มีคลิปติว TGAT3 พาร์ตการสร้างคุณค่าและนวัตกรรม รวมถึงคลิปติว / ตะลุยโจทย์สนาม TGAT ให้น้อง ๆ เลือกดูเยอะมากเลยน้าา ถ้าสนใจดูคลิปไหนก็สามารถกดปุ่ม Playlist ที่มุมขวาบนของคลิป แล้วเลือกดูกันได้เลยยย

ดูคลิปติววิชาอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่ YouTube : SmartMathPro 

เห็นมั้ยว่า การประยุกต์ใช้ Design Thinking กับ TGAT3 พาร์ตการสร้างคุณค่าและนวัตกรรม ช่วยให้ทำข้อสอบได้ง่ายขึ้น ซึ่งพี่บอกเลยว่าในพาร์ตอื่น ๆ ก็สามารถนำขั้นตอนอื่น ๆ ของ Design Thinking มาปรับใช้ได้ ดังนั้นน้อง ๆ ต้องมีความเข้าใจทั้ง 5 ขั้นตอนให้ดี ๆ น้าาา

วิเคราะห์แนวโน้มข้อสอบ TGAT3 พาร์ตการสร้างคุณค่าและนวัตกรรม 68

มาถึงหัวข้อสุดท้ายคือการคาดเดาข้อสอบในปีหน้ากันน ด้วยความที่ข้อสอบ TGAT3 เป็นข้อสอบที่ถูกนำมาใช้เพียงแค่ 2 ปีเท่านั้น แถมข้อสอบปีล่าสุดก็ยังไม่ถูกเปิดเผยออกมาอีกด้วยย ดังนั้นการคาดเดาแนวโน้มข้อสอบปี 68 จึงค่อนข้างยาก 

อย่างไรก็ตาม จากการที่พี่สอบถาม Dek67 ทำให้ทราบว่า ข้อสอบของปี 67 ไม่ต่างจากข้อสอบปี 66 เท่าไรนัก ดังนั้นพี่จึงคาดเดาได้ว่าปี 68 ก็คงออกสอบไปในแนวเดียวกัน 

ส่วนวิธีการเตรียมตัวสอบ TGAT3 พาร์ตการสร้างคุณค่าและนวัตกรรมนั้น น้อง ๆ สามารถฝึกทำข้อสอบเก่าควบคู่กับการนำหลักการมาปรับใช้ได้เลยย พี่เชื่อว่าถ้าน้อง ๆ ยิ่งทำโจทย์เยอะมากเท่าไร ก็จะเห็นแนวโจทย์มากขึ้นเท่านั้น 

แต่ถ้าน้อง ๆ Dek68 คนไหนกำลังจะเริ่มเตรียมตัวสอบ TGAT2,3 แต่ยังไม่รู้ว่าจะต้องเริ่มยังไง และอยากได้คนไกด์แนวทางก่อน พี่ขอแนะนำคอร์ส TGAT2,3 จาก SmartMathPro ที่สอนโดยพี่ปั้นและอ.ขลุ่ยให้เลยย โดยในคอร์สจะปูพื้นฐานแบบละเอียด พร้อมพาตะลุยโจทย์แบบจัดเต็ม ยังมีคอร์ส Unseen Mock Test TGAT2,3 เป็นโจทย์ใหม่ที่ทีมวิชาการและพี่ปั้นแต่งขึ้นมา อิงตาม Test Blueprint ปีล่าสุด เพื่อให้น้อง ๆ ได้ลองฝึกทำข้อสอบได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น ถ้าใครสนใจ สามารถ คลิก ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้เลยน้าา

บทความ แนะนำ

บทความ แนะนำ

ข้อสอบ TGAT คืออะไร
TGAT คืออะไร ? สรุปข้อมูล TGAT พร้อมข้อสอบและเฉลย
TGAT2 ความสามารถทางตัวเลข
TGAT2 ความสามารถทางตัวเลข สรุปเนื้อหาพร้อมแจกเทคนิคเตรียมสอบ
A-Level คืออะไร
A-Level 68 คืออะไร? มีกี่ข้อ? มีวิชาอะไรบ้าง? สรุปพร้อมคลิปติว
Dek68 จะสอบเข้ามหาลัยฯ ต้องเตรียมตัวยังไง ?
Dek68 สอบเข้ามหาลัยฯ ควรเริ่มยังไง? สรุปทุกขั้นตอนควรรู้ของ TCAS68
เตรียมตัวอ่านหนังสือ TCAS68 ยังไงให้สอบติด
เตรียมตัวสอบเข้ามหาลัยยังไง? สรุปและแจกเทคนิคอ่านหนังสือสอบ TCAS

สำหรับน้อง ๆ ที่สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม รวมถึงติดตามข่าวสารต่าง ๆ ที่อัปเดตอย่างเรียลไทม์ ได้ที่

Line : @smartmathpronews 

FB : Pan SmartMathPro ติวคณิต By พี่ปั้น 

IG : pan_smartmathpro

X : @PanSmartMathPro 

Tiktok : @pan_smartmathpro

Share