ใครที่กำลังเรียนม.ปลาย หรือกำลังจะขึ้นม.ปลาย แล้วสงสัยว่า ภาษาไทย ม.ปลาย เรียนเรื่องอะไรบ้าง ? วันนี้พี่มีสรุปเนื้อหาภาษาไทย ม.4 ม.5 และ ม.6 มาฝากแบบจัดเต็มครบทั้ง 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ซึ่งทุกคนจะได้เรียนครบทุกสาระ
แต่เนื้อหาจะต่างกันไปตามชั้นเรียนของน้อง ๆ ไปดูกันเลยว่าแต่ละชั้นปีจะเรียนเรื่องอะไรบ้างงง
เนื้อหาภาษาไทย ม.ปลาย เรียนเรื่องอะไรบ้าง ?
เนื้อหาภาษาไทย ม.ปลาย แยกชั้นปี
เนื้อหาวิชาภาษาไทยในระดับชั้น ม.ปลาย จะแบ่งเป็น 5 สาระการเรียนรู้ คือ
สาระที่ 1 การอ่าน
สาระที่ 2 การเขียน
สาระที่ 3 การฟัง การดู การพูด
สาระที่ 4 หลักการใช้ภาษาไทย
สาระที่ 5 วรรณคดีและวรรณกรรม
*สำหรับกลุ่มสาระวรรณคดีและวรรณกรรม ทางกระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดให้เรียนวรรณคดีหรือวรรณกรรมอย่างน้อย 6 เรื่อง หรือปีละ 2 เรื่อง ดังนั้นในหนังสือเรียนจึงมีทั้งวรรณคดีเรื่องที่ “กำหนดตามหลักสูตร” คือ วรรณคดีหรือวรรณกรรมที่กำหนดให้ทุกโรงเรียนต้องสอน และ “เรื่องเลือกเรียนเพิ่มเติม” คือ วรรณคดีหรือวรรณกรรมที่เสนอให้โรงเรียนนำไปสอนเพิ่มเติม
ดังนั้นน้อง ๆ ที่อยู่ต่างโรงเรียนกันอาจได้เรียนวรรณคดีหรือวรรณกรรมกันคนละเรื่อง เพราะโรงเรียนออกแบบการสอนต่างกันนั่นเอง
ดาวน์โหลดภาพสรุปเนื้อหาภาษาไทย ม.ปลาย คลิก
ภาษาไทย ม.4 เรียนอะไรบ้าง ?
ดาวน์โหลดภาพสรุปเนื้อหาภาษาไทย ม.4 คลิก
การอ่าน ในสาระนี้น้อง ๆ จะได้เรียนหลักการอ่านเบื้องต้น เพื่อเป็นพื้นฐานในการอ่านที่ลึกขึ้นในระดับชั้นถัดไป โดยเรื่องหลัก ๆ ที่เราจะเจอในชั้น ม.4 มีดังนี้เลยย
- การอ่านออกเสียงบทร้อยแก้วและบทร้อยกรอง คือ การปูพื้นฐานทักษะการอ่าน เพื่อให้เข้าใจเกี่ยวกับรูปแบบ หลักการ จังหวะ และท่วงทำนองในการอ่าน ไม่ว่าจะเป็นบทอ่านร้อยแก้วหรือบทอ่านร้อยกรอง
- การอ่านสื่อสิ่งพิมพ์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ คือ การเรียนเกี่ยวกับการอ่านสื่อรอบตัวต่าง ๆ ที่มีอยู่ใน
ชีวิตประจำวัน เพราะการนำเสนอสื่อในปัจจุบันมีความหลากหลายและรวดเร็ว น้อง ๆ จึงควรเข้าใจในสื่อที่อ่าน
และเลือกอ่านสื่อให้เหมาะสม - การอ่านแปลความ ตีความ และขยายความ คือ การอ่านเชิงลึกเพื่อถอดความหมายหรือสิ่งที่ผู้เขียนต้องการจากเนื้อความ ซึ่งต้องอาศัยความรู้และทักษะ เช่น คำศัพท์ สัญลักษณ์ เครื่องหมาย หรือคำที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ความรู้สึก
- การอ่านเพื่อแสดงความคิดเห็น คือ การวิเคราะห์สิ่งที่อ่าน เพื่อนำมาแสดงความคิดเห็นในหลาย ๆ มุมมอง เช่น ชื่อเรื่อง เนื้อหา แนวคิด การใช้ภาษา หรือวิธีในการนำเสนอ รวมถึงข้อควรคำนึงในการแสดงความคิดเห็นด้วย
การเขียน ในสาระนี้น้อง ๆ จะได้เรียนทักษะการเขียนที่จำเป็นกับการเรียนในระดับชั้นม.ปลาย ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดกับการเขียนด้านอื่นให้ดียิ่งขึ้นได้
- การเขียนบันทึกความรู้ คือ พื้นฐานของการเขียนทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการเขียนบันทึกจากการอ่านหรือฟัง เช่น สรุปความ ถอดความ หรือความรู้ที่ได้รับจากการอ่านและการฟัง
- การเขียนเรียงความ ย่อความ จดหมาย คือ การเขียนเบื้องต้นที่สำคัญมาก เพราะในระดับชั้นม.ปลาย น้อง ๆ อาจจะได้เขียนเรียงความ หรือทำรายงาน รวมถึงเขียนจดหมายต่าง ๆ ด้วย ซึ่งในเรื่องนี้ น้อง ๆ ก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันได้เช่นกัน
- การเขียนอธิบาย คือ หัวข้อที่เราจะได้เรียนเกี่ยวกับการอธิบาย ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เขียนได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ก็จะได้เรียนเรื่องการเขียนอธิบายประเภทต่าง ๆ การวางโครงเรื่อง การเริ่มเรื่อง หรือวิธีการอธิบายด้วย
- การกรอกแบบรายการ คือ การเขียนที่น้อง ๆ มักจะได้เจอในชีวิตประจำวัน โดยจะได้เรียนเกี่ยวกับประเภทของ
แบบกรอกรายการ และการกรอกข้อมูล
การฟัง การดู การพูด ในสาระนี้เราจะได้เรียนเกี่ยวกับการสื่อสารทั้งแบบที่ใช้ถ้อยคำ (วัจนภาษา) และไม่ใช้ถ้อยคำ
(อวัจนภาษา)
- หลักการฟังและการดูสื่อ คือ การฟังและการดูสื่ออย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้น้อง ๆ เท่าทันสื่อในปัจจุบันที่มี
ความหลากหลายและรวดเร็ว - การสรุปความจากการฟัง การดู คือ การฝึกทักษะในการสรุปความและพิจารณาข้อมูลจากการฟังและการดูเพื่อนำใจความของสื่อนั้นไปใช้ให้เกิดประโยชน์
- การพูดต่อที่ประชุมชน คือ การพูดในที่สาธารณะ โดยน้อง ๆ จะได้ฝึกทักษะการพูดต่อหน้าคนจำนวนมากในโอกาสต่าง ๆ ที่สามารถนำไปต่อยอดได้ทั้งการเรียนและการทำงานในอนาคต
หลักการใช้ภาษา ในสาระนี้น้อง ๆ จะได้เรียนเกี่ยวกับธรรมชาติของภาษาซึ่งเป็นพื้นฐานของหลักภาษาทั้งหมด เพื่อให้รู้จักภาษาที่เรากำลังเรียนอยู่มากขึ้นและนำไปต่อยอดในการเรียนเรื่องอื่น ๆ ได้
- ธรรมชาติและพลังของภาษา คือ พื้นฐานเกี่ยวกับภาษาทั้งวัจนภาษาและอวัจนภาษา ตั้งแต่หน่วยเสียงในภาษา
ไปจนถึงประโยค และน้อง ๆ จะได้เรียนเรื่องการเปลี่ยนแปลงของภาษาว่ามีที่มาอย่างไรบ้าง - ลักษณะของภาษาไทย คือ การเรียนรู้เสียงของภาษาไทยในเชิงภาษาศาสตร์ทั้งเสียงพยัญชนะ เสียงสระ และเสียงวรรณยุกต์ และเมื่อรู้จักเสียง น้อง ๆ ก็จะสามารถนำเสียงนั้นมาประกอบเป็นคำและประโยคได้
- คำราชาศัพท์ คือ การเรียนเพื่อให้สามารถใช้ภาษาได้ถูกต้อง และเหมาะสมกับฐานะของบุคคลต่าง ๆ เช่น การใช้
คำศัพท์กับพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ พระภิกษุสงฆ์ และคนทั่วไป - การแต่งคำประพันธ์ประเภทกาพย์และโคลง คือ การเรียนแต่งคำประพันธ์ โดยจะเน้นที่กาพย์ ทั้งกาพย์ยานี 11 กาพย์ฉบัง 16 และกาพย์สุรางคนางค์ 28 รวมถึงน้อง ๆ จะได้รู้จักโคลงสี่สุภาพ โคลงสามสุภาพ และโคลงสองสุภาพ ซึ่งจะเชื่อมโยงกับเนื้อหาวรรณคดีด้วย
วรรณคดีและวรรณกรรม ในสาระนี้ น้อง ๆ จะได้รู้จักกับการวิจักษณ์และวิจารณ์วรรณคดี เพื่อให้ได้รู้แนวคิด คุณค่าจากการอ่าน รวมถึงฝึกฝนการแสดงความคิดเห็น และการประเมินค่า ซึ่งเป็นการนำทักษะการอ่านมาใช้กับการคิดวิเคราะห์ของน้อง ๆ โดยวรรณคดีที่จะได้เจอในชั้น ม.4 มีตามนี้เลยย
- คำนมัสการคุณานุคุณ (กำหนดตามหลักสูตร)
- อิเหนา ตอนศึกกะหมังกุหนิง (กำหนดตามหลักสูตร)
- นิทานเวตาล เรื่องที่ 10 (เรื่องเลือกเรียนเพิ่มเติม)
- นิราศนรินทร์คำโคลง (เรื่องเลือกเรียนเพิ่มเติม)
- หัวใจชายหนุ่ม (เรื่องเลือกเรียนเพิ่มเติม)
- ทุกข์ของชาวนาในบทกวี (เรื่องเลือกเรียนเพิ่มเติม)
- มงคลสูตรคำฉันท์ (เรื่องเลือกเรียนเพิ่มเติม)
- มหาเวสสันดรชาดก (เรื่องเลือกเรียนเพิ่มเติม)
ภาษาไทย ม.5 เรียนอะไรบ้าง ?
ดาวน์โหลดภาพสรุปเนื้อหาภาษาไทย ม.5 คลิก
ดาวน์โหลด
การอ่าน ในสาระนี้น้อง ๆ จะได้นำความรู้เรื่องการอ่านที่ได้เรียนในชั้น ม.4 มาต่อยอดในชั้น ม.5 นี้
- การอ่านออกเสียง คือ การฝึกอ่านออกเสียงที่ถูกต้องและเข้าถึงอารมณ์มากขึ้น รวมถึงเรียนการใช้น้ำเสียงเพื่อแสดงอารมณ์ได้อย่างเหมาะสมกับบทอ่านต่าง ๆ
- การอ่านเพื่อวิเคราะห์วิจารณ์ คือ การฝึกอ่านตามหลักการวิเคราะห์วิจารณ์ รวมถึงประเมินค่าวรรณคดีและวรรณกรรม นั่นคือ การวิเคราะห์เนื้อหา รูปแบบการประพันธ์ ข้อมูลผู้เขียน โครงเรื่อง ตัวละคร แก่นเรื่อง และสรุปความเห็นของเรา
การเขียน ในสาระนี้น้อง ๆ จะได้เรียนทักษะการเขียนที่เจาะจงประเภทงานเขียนมากขึ้น ซึ่งเกิดจากการนำความรู้การเขียนชั้น ม.4 มาต่อยอดเช่นกัน
- การเขียนเรียงความ คือ หัวข้อที่น้อง ๆ จะได้เรียนเกี่ยวกับองค์ประกอบการเขียนเรียงความ ขั้นตอนการเขียน และการพัฒนาทักษะการเขียน โดยจะได้ฝึกทักษะการคิด การเรียบเรียง และถ่ายทอดออกมาด้วยการเขียน
อย่างเป็นระบบ - การเขียนเพื่อสื่อสาร คือ การเขียนเพื่อสื่อสารตามวัตถุประสงค์ต่าง ๆ เช่น การเขียนเชิงวิชาการ
การเขียนประกาศ เพื่อให้ตรงตามวัตถุประสงค์ของสาร - การเขียนสารคดี คือ การเขียนในเรื่องที่เป็นความรู้ ความจริงที่มีความถูกต้อง ตรงไปตรงมา กระชับ เพื่อสื่อสารให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่ายตามขั้นตอนและวิธีการเขียน โดยในชั้น ม.5 นี้จะเน้นไปที่การเขียนสารคดี ประเภทสารคดีท่องเที่ยวและสารคดีเกี่ยวกับสัตว์
- การประเมินคุณค่างานเขียน คือ ส่วนหนึ่งของการรับสารอย่างมีวิจารณญาณ โดยน้อง ๆ จะได้เรียนรู้หลักการประเมินคุณค่างานเขียนไม่ว่าจะเป็น เรื่องสั้น สารคดี หรือกวีนิพนธ์ เพื่อให้สามารถนำไปพัฒนางานเขียน
ของตัวเองได้
การฟัง การดู การพูด ในสาระนี้ น้อง ๆ จะได้เรียนรู้ทักษะการสื่อสารที่หลากหลายและรู้จักการวิเคราะห์และแยกแยะสารได้ ซึ่งเป็นทักษะสำคัญที่เราควรเรียนรู้ในปัจจุบัน
- การฟังและดูอย่างมีวิจารณญาณ คือ การฝึกการฟังและดูอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งสารให้ความรู้ สารจรรโลงใจ และสารโน้มน้าวใจ ซึ่งจะช่วยให้เลือกรับสารได้อย่างเหมาะสม
- การพูดโน้มน้าวใจ คือ การพูดที่มีจุดประสงค์ที่ชัดเจนขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการพูดโฆษณา การพูดโต้แย้ง การพูด
เชิญชวน การพูดขอร้อง ซึ่งน้อง ๆ จะได้รู้จักเทคนิคการพูดโน้มน้าวใจยังไงให้ได้ผลด้วย
หลักการใช้ภาษา ในสาระนี้ของชั้น ม.5 จะเน้นไปที่การเรียนรู้ภาษาที่ใช้สื่อสารกันในชีวิตประจำวัน และรู้จักความหลากหลายของภาษาในสังคมไทยมากขึ้น
- ลักษณะของภาษา คือ การทบทวนลักษณะของภาษาและเรียนรู้การใช้ภาษาให้ตรงกับเจตนาของผู้ส่งสาร เช่น ประโยคคำสั่ง ประโยคชักชวน และได้เรียนรู้การเชื่อมประโยคด้วยคำเชื่อมต่าง ๆ
- วัฒนธรรมกับภาษา คือ การเรียนเกี่ยวกับวัฒนธรรมที่ทำให้ภาษาเกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น ภาษาถิ่น
- การแต่งคำประพันธ์ประเภทร่ายและฉันท์ คือ การแต่งร่าย ทั้งร่ายสุภาพ ร่ายยาว และการแต่งฉันท์ เช่น อินทรวิเชียรฉันท์ วิชชุมมาลาฉันท์ ที่มีฉันทลักษณ์และการใช้ที่แตกต่างกัน ซึ่งจะเกี่ยวกับวรรณคดีที่ได้เรียน
ในชั้น ม.5 ด้วย
วรรณคดีและวรรณกรรม ในสาระนี้ของระดับชั้น ม.5 น้อง ๆ จะได้เรียนการวิจักษ์วรรณคดีและพิจารณาคุณค่า
บทประพันธ์วรรณคดี รวมถึงจะได้ใช้ความรู้เรื่องการแต่งร่ายอีกด้วย โดยวรรณคดีและวรรณกรรมที่จะได้เรียนกัน คือ
- ลิลิตตะเลงพ่าย (กำหนดตามหลักสูตร)
- มหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์มัทรี (กำหนดตามหลักสูตร)
- บทละครพูดคำฉันท์ เรื่อง มัทนะพาธา (เรื่องเลือกเรียนเพิ่มเติม)
- คัมภีร์ฉันทศาสตร์แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ (เรื่องเลือกเรียนเพิ่มเติม)
- โคลนติดล้อ ตอน ความนิยมเป็นเสมียน (เรื่องเลือกเรียนเพิ่มเติม)
การอ่าน ในสาระนี้ของชั้น ม.6 น้อง ๆ จะได้ใช้ทักษะการอ่านขั้นสูงและเน้นการนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อให้การอ่านเกิดประโยชน์สูงสุด
- การอ่านวินิจสาร คือ การทบทวนเรื่องการอ่านแปลความ ตีความ และขยายความ เพื่อนำไปใช้กับการเรียนเรื่องการคาดคะเนเหตุการณ์และการประเมินค่าสิ่งที่อ่าน
- การอ่านในชีวิตประจำวัน คือ การอ่านเพื่อการนำไปใช้ ทั้งการอ่านสังเคราะห์ความรู้ การเขียนกรอบแนวคิดจากสื่อสิ่งพิมพ์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ
การเขียน ในสาระนี้จะเน้นให้น้อง ๆ ได้นำความรู้การเขียนไปใช้ในการสื่อสารได้หลากหลายมากขึ้นและสามารถประเมินคุณค่าในงานเขียนอย่างสร้างสรรค์ได้
- การเขียนเพื่อสื่อสาร คือ วิธีที่ทำให้งานเขียนมีมิติมากขึ้น โดยน้อง ๆ จะได้เรียนเรื่องโวหารการเขียน
โวหารภาพพจน์ รวมถึงเรียนการเขียนโครงการ รายงานโครงการ รายงานการประชุม - การเขียนบันเทิงคดี คือ การเขียนที่จะแตกต่างกับการเขียนสารคดีในชั้น ม.5 โดยเราจะได้เรียนประเภทของ
บันเทิงคดี องค์ประกอบ และแนวทางการเขียนบันเทิงคดี เช่น เรื่องสั้น นวนิยาย - การประเมินคุณค่างานเขียน คือ การประเมินงานเขียนตามหลักการประเมินค่าวรรณกรรม เช่น แก่นเรื่อง
การเปิดเรื่อง ปมปัญหา จุดวิกฤติ จุดคลี่คลาย รวมทั้งได้เรียนรู้การประเมินค่ากวีนิพนธ์ที่อาจต้องอาศัย
การตีความที่ลึกซึ้งขึ้น
การฟัง การดู การพูด ในสาระนี้จะเน้นไปที่การใช้ในชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังฝึกการใช้วิจารณญานใน
การเลือกสื่อ การวิเคราะห์สื่อ และการนำสิ่งที่ได้จากสื่อมาใช้ให้เกิดประโยชน์
- การฟังและดูอย่างมีประสิทธิภาพ คือ การฝึกทักษะการฟังและดูอย่างมีประสิทธิภาพ การประเมินค่า รวมไปถึงการใช้ภาษาให้เหมาะสมกับสื่อต่าง ๆ ทั้งยังได้ฝึกวิเคราะห์แนวคิดจากสื่อ เช่น บทเพลง ละคร
- การพูดอภิปราย การพูดแสดงทรรศนะ และการโต้แย้ง คือการพูดในโอกาสต่าง ๆ ซึ่งจะมีลักษณะหรือวิธีการพูดที่แตกต่างกัน ทั้งการพูดอภิปราย การพูดแสดงทรรศนะ หรือการพูดโต้แย้ง ซึ่งนอกจากหลักการพูดแล้วน้อง ๆ
จะได้เรียนรู้มารยาทในการพูดที่ดี ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นในการพูดกับคนอื่น ๆ
หลักการใช้ภาษา ในสาระนี้ของชั้น ม.6 น้อง ๆ จะได้เรียนรู้การใช้ภาษาอย่างถูกต้องและเหมาะสม ซึ่งสามารถนำไปใช้ได้ทั้งกับการเขียนและการฟัง ถือเป็นการผสมผสานความรู้ที่เราเรียนมาแล้วได้ดีเลยยย
- ระดับภาษาและอิทธิพลของการใช้ภาษา คือ การเรียนเรื่องการใช้ระดับภาษาที่เหมาะสมกับกาลเทศะ บุคคล และโอกาส ซึ่งแบ่งออกเป็นภาษาแบบแผนและไม่เป็นแบบแผน การทบทวนคำราชาศัพท์ และการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศในภาษาไทย
- การแต่งคำประพันธ์ประเภทฉันท์ คือ คำประพันธ์ที่มีหลักการที่ค่อนข้างเยอะและตายตัว ซึ่งในชั้น ม.6 จะเป็น
การทบทวนการแต่งฉันท์ ที่สอดคล้องกับวรรณคดีและวรรณกรรมที่น้อง ๆ จะได้เรียนในชั้น ม.6 ด้วย
วรรณคดีและวรรณกรรม ในสาระนี้น้อง ๆ จะได้วิจักษ์ ประเมินค่า และฝึกการอ่านวรรณคดีในระดับสูงเพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน โดยวรรณคดีที่จะได้เรียน คือ
- เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอน ขุนช้างถวายฎีกา (กำหนดตามหลักสูตร)
- สามก๊ก ตอน กวนอูไปรับราชการกับโจโฉ (กำหนดตามหลักสูตร)
- กาพย์เห่เรือ (เรื่องเลือกเรียนเพิ่มเติม)
- สามัคคีเภทคำฉันท์ (เรื่องเลือกเรียนเพิ่มเติม)
- ไตรภูมิพระร่วง ตอนมนุสสภูมิ (เรื่องเลือกเรียนเพิ่มเติม)
และนี่ก็คือเนื้อหาทั้งหมดของวิชาภาษาไทย ม.ปลายตั้งแต่ชั้น ม.4 – ม.6 ที่น้อง ๆ จะได้เจอ ซึ่งแต่ละกลุ่มสาระก็จะมีเรื่องที่น่าสนใจ และสามารถนำมาปรับใช้กับชีวิตประจำวันของเราได้อีกมากมาย รวมถึงยังได้เรียนวรรณคดีและวรรณกรรมที่ทรงคุณค่าตลอดทั้ง 3 ปีอีกด้วย (แต่พี่ขอย้ำอีกทีว่าบางโรงเรียนอาจจะจัดเนื้อหาไม่เหมือนกับที่พี่ลิสต์มาในข้างต้น ให้น้อง ๆ ลองดูจากบทเรียนหรือสอบถามกับคุณครูที่สอนก่อนน้า)
สำหรับใครอ่านบทความนี้จบแล้ว พี่ก็หวังว่าจะช่วยให้ทุกคนได้เห็นภาพรวมเนื้อหาภาษาไทย ม.ปลาย และสามารถนำไปเตรียมตัวสำหรับการเรียนได้มากขึ้นน้าา
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
– ตัวชี้วัดและสาระการเรียนรู้แกนกลาง กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551
– หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐานภาษาไทย หลักภาษาและการใช้ภาษา ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 (อจท)
– หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ภาษาไทย วรรณคดีและวรรณกรรม ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 (อจท.)
– ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง วรรณคดีสำหรับการจัดการเรียนการสอนภาษาไทย ตามหลักสูตรแกนกลางฯ พ.ศ. 2551
บทความ แนะนำ
บทความ แนะนำ
สำหรับน้อง ๆ ที่สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม รวมถึงติดตามข่าวสารต่าง ๆ ที่อัปเดตอย่างเรียลไทม์ ได้ที่
Line : @smartmathpronews
FB : Pan SmartMathPro ติวคณิต By พี่ปั้น
IG : pan_smartmathpro
X : @PanSmartMathPro
Tiktok : @pan_smartmathpro