พี่เชื่อว่าตอนนี้น้อง ๆ ม.ปลายคงมีเรื่องกังวลใจกันอยู่ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาการเรียนที่ยากขึ้น หรือการเตรียมตัวเพื่อสอบเข้ามหาลัยฯ นอกจากนี้น้อง ๆ หลายคน โดยเฉพาะ Dek68 ก็อาจจะกำลังเครียดเพราะไม่รู้ว่าตัวเองชอบหรืออยากเรียนคณะอะไร
สำหรับน้อง ๆ คนไหนที่กำลังรู้สึกแบบนี้อยู่ พี่อยากให้ลองมาสำรวจความชอบของเรากับวิธีค้นหาตัวเองที่พี่รวบรวมมาเป็นตัวอย่างให้ในบทความนี้ ซึ่งอาจช่วยให้น้อง ๆ ได้รู้จักตัวเองมากขึ้น ถ้าทุกคนพร้อมที่จะไปหาคำตอบว่าเราอยากเรียนหรือทำงานแบบไหนในอนาคตกันแล้ว งั้นไปดูแต่ละวิธีที่พี่รวบรวมมากันได้เลยย
ทำยังไงให้รู้ว่าตัวเองอยากเรียนอะไร ?
1. ดูว่าวิชาไหนที่เราชอบ / ถนัด และวิชาที่ไม่ชอบ / ไม่ถนัด
มาเริ่มกันที่วิธีแรกซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด นั่นคือ การเช็กว่าตัวเองชอบหรือถนัดวิชาอะไร เพราะวิชาที่เราถนัดหรือชอบเรียนอาจเป็นสิ่งที่บอกว่าเราเหมาะกับการเรียนคณะไหนก็เป็นได้
เช่น ถ้าน้อง ๆ รู้ว่าตัวเองชอบวิชาภาษาอังกฤษ หรือเวลาสอบก็มักจะทำคะแนนวิชานี้ได้ดีกว่าวิชาอื่น น้อง ๆ ก็อาจจะลองมองคณะทางด้านภาษา เช่น คณะมนุษยศาสตร์ / คณะอักษรศาสตร์ / คณะศิลปศาสตร์ ในสาขาภาษาอังกฤษ
แบบนี้ก็ได้น้าา
นอกจากการดูว่าวิชาไหนที่ชอบหรือถนัดแล้ว การดูวิชาที่ไม่ชอบหรือไม่ถนัดก็สามารถช่วยเราตัดตัวเลือกคณะที่อาจจะไม่เหมาะหรือไม่ตรงกับความต้องการของเราได้ง่ายขึ้นเหมือนกัน
เช่น น้อง ๆ ชอบเรียนวิชาคณิตศาสตร์มาก แต่ไม่ชอบเรียนวิชาสายวิทยาศาสตร์อย่าง ฟิสิกส์ เคมี และชีววิทยา
ดังนั้นน้อง ๆ อาจมองหาคณะที่เน้นการเรียนคณิตศาสตร์เป็นหลักอย่างคณะบัญชี หรือคณะเศรษฐศาสตร์ เป็นต้น
2. หาข้อมูลของอาชีพที่สนใจ
สำหรับคนที่ยังไม่รู้ว่าตัวเองชอบวิชาอะไร อยากเข้าคณะไหน รวมถึงคนที่มีวิชาที่ชอบอยู่เยอะจนตัดสินใจไม่ถูกว่าควรจะเลือกคณะยังไงดี พี่แนะนำให้ลองนึกว่างานแบบไหนที่เราน่าจะชอบ หรืออยากทำงานอะไรในอนาคต หลังจากนั้นให้ลองย้อนกลับมาคิดว่าถ้าเราอยากทำอาชีพนั้น ๆ ควรจะเรียนคณะไหนดี
เช่น น้อง ๆ ลองหาข้อมูลเกี่ยวกับการทำงานเป็นแพทย์แล้ว พบว่าเป็นงานที่ตัวเองรู้สึกสนใจมาก และเนื้องานน่าจะเหมาะกับตัวเอง ดังนั้นคณะที่ต้องสอบเข้าก็คือ คณะแพทยศาสตร์ นั่นเอง
3. หาแรงบันดาลใจให้ตัวเองจากงานอดิเรก
ทุกคนรู้ไหมว่าคำตอบของคำถาม “เราอยากเรียนคณะอะไร” อาจจะซ่อนอยู่ในงานอดิเรกที่เราชอบทำก็ได้ ไม่ว่าจะเป็น การดูภาพยนตร์ ซีรีส์ หรือติดตามศิลปินที่ชอบ เช่น น้อง ๆ ชอบดูซีรีส์เรื่องหนึ่งที่พระเอกเป็นทนายความ และหลังจากได้ดูวิธีการทำงานของทนายความผ่านซีรีส์นั้นแล้วก็รู้สึกอยากลองทำงานสายนี้ในอนาคต
ดังนั้นน้อง ๆ ก็อาจจะเก็บคณะนิติศาสตร์เอาไว้ในใจก่อน แล้วไปหาข้อมูลเพิ่มเติมอีกทีว่าคณะนี้เรียนประมาณไหน เราจะได้มั่นใจมากขึ้นว่าคณะนี้คือทางที่เหมาะสำหรับเรา
4. ลองออกจาก Comfort Zone และเปิดใจกับสิ่งใหม่ ๆ
อีกหนึ่งวิธีในการค้นหาตัวเองที่พี่แนะนำเป็นอย่างมาก คือ การลองก้าวออกจาก Comfort Zone เพื่อลองทำสิ่งใหม่ ๆ
ที่อาจจะทำให้เราค้นพบเป้าหมายหรือสิ่งที่อยากทำในอนาคต ซึ่งบางอย่างอาจเป็นสิ่งที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อนก็ได้ว่าเรา
จะชอบทำสิ่งนั้น ๆ
โดยน้อง ๆ อาจเริ่มจากการทำกิจกรรมที่โรงเรียน หรือเข้าค่ายค้นหาตัวเองของคณะต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้เราได้รู้จักแต่ละคณะมากขึ้น รวมถึงได้ร่วมกิจกรรมใหม่ ๆ ที่อาจกลายเป็นประสบการณ์ที่ดีในอนาคตของเราก็เป็นได้ (ขอกระซิบว่าพี่มีรวบรวมค่ายค้นหาตัวเองที่น่าสนใจไว้ให้ทุกคน แถมยังมีอัปเดตเรื่อย ๆ ด้วย ลองอ่านบทความ รวมค่ายค้นหาตัวเอง
กันได้เลยย)
5. ลองทำแบบทดสอบค้นหาตัวเอง
การทำแบบทดสอบค้นหาตัวเองเป็นวิธีค้นหาตัวเองที่พี่แนะนำ เพราะเราจะได้รู้จักตัวเองมากขึ้น ซึ่งบางอย่างอาจจะเป็นเรื่องที่เราไม่เคยรู้มาก่อน และสิ่งนั้นอาจมีส่วนในการตัดสินใจเลือกคณะของเราในอนาคตก็ได้
แต่ทั้งนี้การทำแบบทดสอบอาจจะไม่ตรงกับน้อง ๆ 100% น้า แนะนำให้ดูเป็นแนวทางในเบื้องต้นเท่านั้น และวันนี้พี่ก็มี
แบบทดสอบค้นหาตัวเองมาแนะนำถึง 3 แบบทดสอบด้วยกัน จะมีอะไรบ้าง ไปดูกันเลยยย
1. MBTI คือ แบบทดสอบบุคลิกภาพที่จะถามเราด้วยคำถามทางจิตวิทยา ซึ่งจะแปลผลออกมาเป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษ 4 ตัว โดย MBTI จะมีทั้งหมด 16 ประเภท และแต่ละประเภทจะมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน พี่ได้ลองยกตัวอย่างคณะที่เหมาะกับบุคลิกภาพแต่ละประเภทเอาไว้แล้ว ใครได้ MBTI ประเภทไหนก็สามารถเลื่อนดูตามภาพด้านล่างได้เลยน้าา
ลองทำแบบทดสอบ MBTI คลิก
2. Enneagram Test คือ แบบทดสอบบุคลิกภาพที่จะช่วยให้เราเข้าใจจุดแข็ง จุดอ่อน การใช้ชีวิต รวมถึงมุมมองต่าง ๆ ของเราได้ดีมากขึ้น โดยจะแบ่งเป็น 9 ประเภทที่แตกต่างกัน คือ
- ผู้ชอบความสมบูรณ์แบบ (The Perfectionist) คือ คนที่มีความเข้มงวด มีความละเอียดรอบคอบ
มีมาตรฐานและความรับผิดชอบสูง
ตัวอย่างอาชีพ นักบัญชี อัยการ วิศวกร
- ผู้ให้ (The Giver) คือ คนที่มีความเอาใจใส่ต่อคนอื่น ชอบช่วยเหลือคน มักให้ความสำคัญกับคนอื่น
มากกว่าตัวเอง
ตัวอย่างอาชีพ คุณครู แพทย์ พยาบาล
- ผู้ไขว่คว้าความสำเร็จ (The Performer) คือ คนที่มีความทะเยอทะยาน รักการแข่งขัน
ตัวอย่างอาชีพ เจ้าของธุรกิจ นักพูดสร้างแรงบันดาลใจ นักการเมือง
- ศิลปิน (The Romantic) คือ คนที่มีความคิดสร้างสรรค์สูง ชอบความแปลกใหม่ มีเอกลักษณ์โดดเด่น
ตัวอย่างอาชีพ นักดนตรี นักเขียน ดีไซเนอร์
- ผู้สังเกตการณ์ (The Observer) คือ คนที่ช่างสังเกต ชอบสืบค้นข้อมูล มีไหวพริบดี
ตัวอย่างอาชีพ นักวิทยาศาสตร์ เภสัชกร โปรแกรมเมอร์
- ผู้ตั้งคำถาม (The Questioner) คือ คนที่มักตั้งคำถามกับสิ่งรอบตัว ชอบวางแผน และรับมือกับปัญหาได้ดี
ตัวอย่างอาชีพ นักวางแผน เจ้าหน้าที่ธนาคาร เลขานุการ
- ผู้เสพสุข (The Epicure) คือ คนที่ชอบพบปะผู้คน ไม่ชอบอยู่ในกรอบ ชอบความท้าทาย
ตัวอย่างอาชีพ แอร์โฮสเตส ช่างภาพ นักเขียนแนวท่องเที่ยว
- ผู้ปกป้อง (The Protector) คือ คนที่รักความถูกต้อง ตัดสินใจเด็ดขาด พึ่งพาได้
ตัวอย่างอาชีพ นักวางกลยุทธ์ เจ้าของธุรกิจ นักการตลาด
- ผู้รักสงบ (The Peacemaker) คือ คนที่เป็นนักไกล่เกลี่ย มีความประนีประนอม ชอบช่วยเหลือผู้อื่น
ตัวอย่างอาชีพ คุณครูแนะแนว ที่ปรึกษา นักการทูต
ลองทำแบบทดสอบ Enneagram Test คลิก
3. Holland Code (RIASEC) คือ แบบทดสอบเพื่อหาอาชีพที่เหมาะสมกับตัวเรามากที่สุดซึ่งจะสำรวจจากบุคลิก สภาพแวดล้อม และความสนใจที่มีผลต่อการเลือกอาชีพของแต่ละคน โดยสามารถแบ่งประเภทของงานได้เป็น 6 กลุ่ม คือ
- กลุ่มรูปธรรม จับต้องได้ (Realistic) คือ กลุ่มอาชีพที่เน้นการลงมือทำ เหมาะกับคนที่เป็นสายลุย ไม่กลัวปัญหา พร้อมรับมือทุกสถานการณ์
ตัวอย่างอาชีพ วิศวกร นักกฎหมาย นักสำรวจ
- กลุ่มนักวิชาการ (Investigative) คือ กลุ่มอาชีพที่เน้นการวิเคราะห์ สังเกต และตั้งคำถาม เหมาะกับคนที่
ชอบการทดลอง มีความละเอียดรอบคอบ และชอบค้นหาข้อมูลหรือคำตอบในเรื่องต่าง ๆ
ตัวอย่างอาชีพ นักวิจัย นักสถิติ แพทย์
- กลุ่มศิลปิน (Artistic) คือ กลุ่มอาชีพที่เน้นใช้จินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ เหมาะกับคนที่ชอบคิด
นอกกรอบ มีไอเดียแปลกใหม่อยู่เสมอ
ตัวอย่างอาชีพ ศิลปิน ผู้กำกับ สถาปนิก
- กลุ่มนักสังคม (Social) คือ กลุ่มอาชีพที่เน้นช่วยเหลือผู้อื่นและให้คำปรึกษา เหมาะกับคนที่ชอบพบเจอกับผู้คน ชอบเข้าสังคม
ตัวอย่างอาชีพ พนักงานบริการ นักการทูต ไกด์ท่องเที่ยว
- กลุ่มกล้าได้กล้าเสีย (Enterprising) คือ กลุ่มอาชีพที่เน้นใช้ทักษะความเป็นผู้นำ เหมาะกับคนที่ทะเยอทะยาน ชอบการแข่งขัน โน้มน้าวคนอื่นเก่ง
ตัวอย่างอาชีพ เจ้าของธุรกิจ ผู้บริหาร ทนายความ
- กลุ่มมีระเบียบแบบแผน (Conventional) คือ กลุ่มอาชีพที่เน้นความเป็นระเบียบและเป็นขั้นตอนชัดเจน
เหมาะกับคนที่เป็นผู้ตามที่ดี ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง
ตัวอย่างอาชีพ เจ้าหน้าที่ธุรการ งานราชการ บรรณารักษ์
ลองทำแบบทดสอบ Holland Code คลิก
นี่ก็เป็นเพียงแค่แบบทดสอบค้นหาตัวเองส่วนหนึ่งที่พี่ยกตัวอย่างมาให้ทุกคนลองเช็กกันแบบคร่าว ๆ ขอย้ำอีกครั้งว่า การทำแบบทดสอบค้นหาตัวเองเป็นแค่แนวทางในเบื้องต้น ถ้าใครสนใจคณะหรือสายงานไหน แต่ลักษณะนิสัยของตัวเองไม่ตรงกับที่พี่อธิบายไว้ก็ไม่ต้องเครียดน้า สามารถยึดตามความชอบหรือความสนใจของตัวเองเป็นหลักแล้วลองหาข้อมูลของคณะหรืองานนั้น ๆ เพิ่มเติมเพื่อประกอบการตัดสินใจได้เลย
6. ลองดูหรืออ่านรีวิวคณะต่าง ๆ
วิธีสุดท้ายที่พี่อยากจะแนะนำ คือ การดูหรืออ่าน รีวิวคณะ หลาย ๆ คณะ โดยทุกคนสามารถค้นหารีวิวได้จากหลายช่องทางเลย บางคณะก็เป็นรีวิวจากประสบการณ์ตรงของคนที่เรียนอยู่ในคณะนั้น ๆ ซึ่งจะช่วยให้เราเห็นภาพการเรียนและการทำงานในอนาคตในเชิงลึกยิ่งขึ้น และอาจช่วยตอบคำถามของน้อง ๆ ได้ว่าเราอยากจะเรียนหรือทำงานในสายนั้นจริงหรือเปล่านั่นเอง
และนี่ก็คือ 6 วิธีค้นหาตัวเองที่พี่รวบรวมมาให้ทุกคนได้ลองสำรวจ ตั้งคำถาม และลงมือทำกันดู น้อง ๆ สามารถเลือกวิธีที่ตัวเองชอบ หรืออาจจะผสมหลาย ๆ วิธีเข้าด้วยกันแล้วชั่งน้ำหนักแต่ละคณะที่เราสนใจก็ได้เหมือนกัน ซึ่งถ้าใครรู้แล้วว่าตัวเองอยากจะเรียนหรือเป็นอะไรในอนาคต ก็ลุยให้เต็มที่เลย
แต่ถ้าวันนี้ใครยังหาคำตอบไม่ได้ก็ไม่เป็นไรน้าา ค่อย ๆ ค้นหาตัวเองไป สิ่งสำคัญคือให้ โฟกัสกับความต้องการของ
ตัวเองเป็นหลัก เพราะอย่างน้อย เราอาจจะมีความสุขมากกว่าถ้าได้เลือกเรียนในสิ่งที่เราต้องการ ซึ่งพี่เชื่อว่าสักวันหนึ่งน้อง ๆ จะเจอทางที่เหมาะกับตัวเองแน่นอน พี่เป็นกำลังใจให้ทุกคนเลยน้าา
บทความ แนะนำ
บทความ แนะนำ
สำหรับน้อง ๆ ที่สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม รวมถึงติดตามข่าวสารต่าง ๆ ที่อัปเดตอย่างเรียลไทม์ ได้ที่
Line : @smartmathpronews
FB : Pan SmartMathPro ติวคณิต By พี่ปั้น
IG : pan_smartmathpro
Twitter : @PanSmartMathPro
Tiktok : @pan_smartmathpro