“ค่าเงินบาทอ่อนค่า ทะลุ 38 บาทต่อดอลลาร์”
“วิกฤตเศรษฐกิจไทย เร่งกระตุ้นผ่านดิจิทัลวอลเล็ต”
“ธปท. ชี้แจงเหตุดอกเบี้ยแพง ยืนยันนโยบายการเงินมาไม่ผิดทาง”
น้อง ๆ สังเกตกันไหมว่าเรามักจะได้ยินหรือเห็นประโยคด้านบนนี้อยู่บ่อย ๆ ตอนที่เราเปิดโทรทัศน์ดูข่าว เลื่อนหน้าเฟซบุ๊ก ซึ่งหลายคนอาจจะไม่ได้สนใจเพราะคิดว่าไม่เกี่ยวกับตัวเอง แต่รู้ไหมว่าคำหรือประโยคเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐศาสตร์มหภาค ที่แม้จะดูเป็นเรื่องไกลตัว แต่สุดท้ายก็จะส่งผลกระทบต่อตัวเรา
ซึ่งถ้าเราได้เรียนเกี่ยวเศรษฐศาสตร์มหภาค ก็จะช่วยให้เข้าใจเศรษฐกิจในภาพรวม แถมน้อง ๆ ยังได้เข้าใจเนื้อหาใน
บทเรียนและที่ออกสอบ A-Level สังคมด้วยน้า วันนี้พี่เลยจะพามารู้จักกับเศรษฐศาสตร์มหภาคให้มากขึ้น
ทั้งความหมาย และเนื้อหาเศรษฐศาสตร์มหภาคที่ควรรู้แบบจัดเต็ม ถ้าอยากรู้แล้วว่าจะมีเรื่องอะไรบ้าง ก็ไปอ่านกันเลยย
สนใจหัวข้อไหน ... กดอ่านเลย
Toggleเศรษฐศาสตร์ คืออะไร ?
เศรษฐศาสตร์ คือ ศาสตร์แห่งการบริหารจัดการ หรือการเลือกจัดสรรทรัพยากรต่าง ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์ หรือประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว และประเทศชาติ เนื่องจากทรัพยากรมีจำกัด แต่ความต้องการของมนุษย์มีไม่จำกัด
เศรษฐศาสตร์มหภาค คืออะไร ?
น้อง ๆ บางคนอาจจะเคยได้ยินชื่อ เศรษฐศาสตร์จุลภาค และ เศรษฐศาสตร์มหภาค แบบแพ็กคู่เสมอ ซึ่งทั้งสองอย่างนี้เป็น 2 สาขาหลัก ๆ ของวิชาเศรษฐศาสตร์ที่ถูกแบ่งออกมา เพราะวิชาเศรษฐศาสตร์จะครอบคลุมการตัดสินใจเลือกสิ่งต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับบุคคล (เศรษฐศาสตร์จุลภาค) ไปจนถึงระดับประเทศชาติ (เศรษฐศาสตร์มหภาค) เลยย
เศรษฐศาสตร์จุลภาค เป็นเรื่องเกี่ยวกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจของบุคคลและครัวเรือน ซึ่งจะกล่าวถึงเฉพาะส่วนย่อย
ในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น (เป็นเรื่องเล็ก ๆ ใกล้ตัวเรา) เช่น พฤติกรรมผู้บริโภค การกำหนดราคา เป็นต้น
เศรษฐศาสตร์มหภาค จะเป็นการศึกษากิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาพรวม หรือในระดับประเทศ ซึ่งเป็นปัญหาใน
ระดับกว้าง เพราะไม่ได้ส่งผลกระทบกับใครเพียงคนใดคนหนึ่งเท่านั้น แต่จะกระทบกับคนทุกคนในภาพรวม เพื่อให้
เห็นภาพมากขึ้น มาดูตัวอย่างกันดีกว่าา
พลอยเงินหมดตั้งแต่กลางเดือน จนไม่มีเงินซื้อข้าวกิน – ไม่เป็นเศรษฐศาสตร์มหภาค เพราะไม่ส่งผลกระทบ
ต่อคนอื่นประเทศไทยประสบปัญหาเงินฝืด ส่งผลให้อัตราการว่างงานสูงขึ้น – เป็นเศรษฐศาสตร์มหภาค เพราะส่ง
ผลกระทบต่อทุกคนในประเทศ (ธุรกิจปิดตัว วัยทำงานหางานทำไม่ได้ ส่งผลให้รายได้ครัวเรือนไม่เพียงพอ
และส่งผลกระทบต่อหน่วยเศรษฐกิจอื่น ๆ)
เนื้อหาเศรษฐศาสตร์มหภาคที่ควรรู้
เนื่องจากเศรษฐศาสตร์มหภาค เป็นเรื่องกว้าง เรื่องใหญ่ แถมยังไกลถึงระดับโลก ดังนั้นจึงมีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้
เยอะมากกก แต่วันนี้พี่จะขอคัดเนื้อหามาให้เฉพาะแบบเน้น ๆ เพื่อให้ทุกคนเข้าใจภาพรวมของเศรษฐศาสตร์มหภาค
และนำไปใช้ทำข้อสอบที่โรงเรียนและข้อสอบ A-Level สังคมได้ ซึ่งก็มีหัวข้อตามนี้เลยย
หัวข้อเศรษฐศาสตร์มหภาค
รายได้ประชาชาติ คืออะไร ?
รายได้ประชาชาติ หมายถึง มูลค่าที่เป็นตัวเงินของสินค้าและบริการขั้นสุดท้าย ตามราคาตลาดที่ผลิตขึ้นด้วยทรัพยากรของประเทศในระยะเวลา 1 ปี ซึ่งตัวเลขรายได้ประชาชาติมีความสำคัญมาก เพราะรัฐบาลหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง จะนำตัวเลขนี้ไปศึกษาสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศ และใช้กำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจ การเงิน และการคลังของประเทศ
โดยในการคำนวณรายได้ประชาชาตินั้น จะมีตัวเลขที่เกี่ยวข้องเยอะมาก แต่ที่น้อง ๆ ควรรู้จัก และเรามักจะเจอในข้อสอบบ่อย ๆ มีอยู่ 2 อย่าง นั่นคืออ
GDP (Gross Domestic Product) คือ เครื่องมือที่ใช้วัดว่า ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ๆ มีผลผลิตสินค้าและบริการ
ขั้นสุดท้ายที่ผลิตมาเป็นมูลค่ารวมเท่าไร โดย GDP จะไม่ได้สนใจว่า เจ้าของปัจจัยการผลิต เป็นคนชาติไหน แต่
จะนับในเขตพื้นที่นั้น ๆ เช่น GDP ของประเทศไทย ก็จะนับรวมทั้งหมดในประเทศไทย แม้ว่าคนผลิต จะเป็นคนจีน
คนลาว หรือคนฝรั่งเศสก็ตามGNP (Gross National Product) หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ จะวัดมูลค่าของสินค้าและบริการที่เกิดจากการใช้ปัจจัยการผลิตของเศรษฐกิจนั้น ๆ โดยไม่สนใจว่าจะนำไปผลิตในประเทศหรือนอกประเทศ เช่น GNP ของ
คนไทย ไม่ว่าคนไทยคนนั้นจะทำงานในประเทศหรือต่างประเทศ ก็จะนับรวมทั้งหมด โดยน้อง ๆ สามารถแยก
ทั้งสองอย่างนี้ได้ง่าย ๆ ว่าGDP – นับประเทศ
GNP – นับคน
เงินฝืด คืออะไร ?
ภาวะเงินฝืด คือ เงินหมุนเวียนในระบบน้อยลง ราคาสินค้าและบริการลดต่ำลงเรื่อย ๆ เพราะปริมาณสินค้าและบริการ
ต่าง ๆ ที่ผลิตมานั้นมีมากกว่าความต้องการซื้อของคนในประเทศ
อาจจะมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย เช่น คนไม่กล้าใช้เงิน เพราะเกิดสภาวะความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ (เช่น โรคระบาดหรือสงคราม ทำให้คนต้องเก็บเงินไว้ใช้เมื่อจำเป็น) และไม่มีการลงทุนจากต่างประเทศ (เงินไม่เข้ามาหมุนเวียนในระบบ)
ซึ่งน้อง ๆ อาจจะคิดในใจว่า ถ้าราคาสินค้าและบริการถูกลง ก็น่าจะดีกับเราที่เป็นผู้บริโภค เพราะเราจะได้ซื้อของถูก แต่พี่ขอบอกเลยว่า ไม่ใช่แบบนั้นน้าา เพราะถ้าเกิดภาวะเงินฝืดไปเรื่อย ๆ จะทำให้เศรษฐกิจในภาพรวมชะลอตัว เพราะผู้ผลิตได้กำไรลดลง จนในที่สุด ผู้ผลิตก็จะลดการจ้างงาน ทำให้คนตกงานเพิ่มขึ้นนั่นเองง
เงินเฟ้อ คืออะไร ?
ภาวะเงินเฟ้อ คือ เงินหมุนเวียนในระบบเพิ่มขึ้น ราคาสินค้าและบริการต่าง ๆ เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ เพราะความต้องการซื้อ
มีมาก แต่ปริมาณสินค้าและบริการที่ผลิตออกมาไม่พอกับความต้องการ ซึ่งสิ่งนี้เกิดจากความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ
หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ คนกล้าใช้เงินนั่นเอง
แม้สถานการณ์เงินเฟ้อจะดูเป็นเรื่องที่ดี เพราะถือว่าเป็นการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ (คนกล้าซื้อของ ผู้ผลิตก็อยากลงทุน) แต่ในความจริงแล้ว ถ้าเกิดภาวะเงินเฟ้อมากเกินไป ก็จะส่งผลเสีย เพราะราคาสินค้าที่แพงขึ้นเรื่อย ๆ
สุดท้ายแล้ว คนที่มีรายได้ประจำ ก็จะเดือดร้อน (เงินเดือนเท่าเดิม แต่ของแพงขึ้น) ทำให้ธนาคารกลางและรัฐบาล ต้องออกนโยบายการเงินและการคลังเพื่อดูแลอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
นโยบายการคลัง คืออะไร ?
นโยบายการคลัง คือ เครื่องมือของรัฐบาล ที่ใช้ในการดูแลเศรษฐกิจของประเทศ โดยการใช้นโยบายการคลัง จะมีหลัก ๆ อยู่ 2 อย่าง คือ การใช้จ่าย (รายจ่ายต่าง ๆ ของรัฐบาล) และการจัดเก็บภาษี (รายได้ของรัฐบาล) ซึ่งรัฐบาลจะใช้นโยบายการคลังแบบไหนก็จะสอดคล้องกับภาวะเงินฝืด และภาวะเงินเฟ้อด้วยย โดยแบ่งได้เป็น 2 แบบ ตามนี้เลยย
นโยบายการคลังแบบขยายตัว ใช้เมื่อต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือต้องการเติมเงินเข้าไปในระบบ โดยจะนำมาใช้เมื่อต้องการแก้ปัญหาเงินฝืด (นึกภาพตามว่า เงินในระบบมีน้อย รัฐบาลต้องการเพิ่มเงินเข้าไป)
ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี เช่น ลดภาษีให้ประชาชน (จะได้มีเงินเหลือใช้มากขึ้น) การแจกเงิน หรือโอนเงินให้ประชาชนโดยตรง เช่น แจกเบี้ยผู้สูงอายุ แจกเงินคนจน เงินดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้ประชาชนมีเงินในมือเพิ่มขึ้น
จนนำไปใช้จ่ายซื้อของนั่นเองนโยบายการคลังแบบหดตัว ใช้เมื่อต้องการชะลอเศรษฐกิจ หรือต้องการดึงเงินออกจากระบบ โดยจะนำมาใช้เมื่อต้องการแก้ปัญหาเงินเฟ้อ (นึกภาพตามว่า เงินในระบบมีมาก รัฐบาลต้องการดึงเงินออกมา)
สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การเพิ่มภาษี (เก็บเงินจากประชาชนมากขึ้น) หรือการลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาล (ไม่นำเงินไปแจก หรือลงทุน) ซึ่งจะส่งผลให้การผลิตและการจ้างงานลดลง เงินในระบบก็จะลดลงตามนั่นเอง
นโยบายการเงิน คืออะไร ?
นโยบายการเงิน คือ เครื่องมือของธนาคารกลาง ที่ใช้ในการดูแลเศรษฐกิจของประเทศ โดยจะเกี่ยวข้องกับ อัตราดอกเบี้ย ปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจ และอัตราการแลกเปลี่ยน ซึ่งมีอยู่ 2 รูปแบบ ก็คืออ
นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย มักจะใช้เมื่อเศรษฐกิจซบเซา หรือต้องการแก้ปัญหาเงินฝืด เช่น ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ลดลง น้อง ๆ ลองนึกภาพตามว่า ถ้าดอกเบี้ยเงินกู้ลด คนก็จะอยากกู้ไปลงทุนเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจก็จะเติบโตขึ้น
ในทางเดียวกัน เมื่อดอกเบี้ยเงินฝากลดลง คนก็จะไม่อยากเก็บเงิน นำเงินมาใช้จ่ายลงทุน ก็จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ นอกจากนี้ยังมีวิธีการอื่น ๆ ด้วยย เช่น การซื้อคืนพันธบัตร การลดเงินสำรองระหว่างประเทศ เป็นต้น
นโยบายการเงินแบบตึงตัว มักจะใช้เมื่อเศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว หรือต้องการแก้ปัญหาเงินเฟ้อ เช่น
เพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้เพิ่มขึ้นสิ่งที่จะเกิดตามมา คือ คนจะไม่อยากกู้เงินเพราะดอกเบี้ยแพง ทำให้การลงทุนลดลง ในทางเดียวกัน เมื่อดอกเบี้ยเงินฝากเพิ่ม คนก็จะอยากเก็บเงินไว้มากขึ้นนั่นเองง นอกจากนี้ยังใช้วิธีการอื่น ๆ ได้ เช่น การขายพันธบัตรรัฐบาล
การเพิ่มเงินสำรองระหว่างประเทศ เป็นต้น
นโยบายการคลัง VS นโยบายการเงิน ต่างกันยังไง ?
- นโยบายการคลังดำเนินการโดยรัฐบาล แต่นโยบายการเงินดำเนินการโดยธนาคารกลาง
- นโยบายการคลังเน้นการบริหารการใช้จ่ายและเก็บภาษี แต่นโยบายการเงินเน้นจัดการเงินในระบบเศรษฐกิจ
- นโยบายการคลังอาจทำได้ช้ากว่านโยบายการเงิน เพราะต้องรออนุมัติจากฝ่ายนิติบัญญัติ
การค้าระหว่างประเทศ คืออะไร ?
ทุกประเทศในโลกมีความแตกต่างกันทางด้านภูมิศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติ และความได้เปรียบทางการผลิต ซึ่งทำให้เกิดการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการระหว่างประเทศขึ้น หรือที่เรามักจะได้ยินกันว่า การค้าระหว่างประเทศ
โดยการค้าระหว่างประเทศนั้น จะสร้างประโยชน์หลายอย่าง เช่น การตอบสนองสินค้าตามที่ต้องการ การแข่งขันกัน
ด้านคุณภาพ การเกิดความชำนาญเฉพาะอย่าง
พี่ยกตัวอย่างให้น้อง ๆ เห็นภาพชัดขึ้น คือ ถ้าเราอยากกินเนื้อแกะ แต่ในประเทศของเราไม่มีเนื้อแกะ เมื่อมีการค้าระหว่างประเทศขึ้น เราก็จะสามารถนำเข้าเนื้อแกะได้ และประเทศที่ต้องการส่งออกเนื้อแกะก็จะแข่งขันกันพัฒนาเนื้อแกะในประเทศของตนเองจนเกิดความชำนาญนั่นเอง
นโยบายการค้าระหว่างประเทศ คืออะไร ?
ต่อจากหัวข้อที่แล้ว เมื่อทั่วโลกเกิดการค้าระหว่างประเทศขึ้น รัฐบาลในแต่ละประเทศจึงต้องนำนโยบายการค้าระหว่างประเทศมาใช้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศของตนเอง โดยสามารถแบ่งได้เป็น 2 นโยบาย นั่นก็คืออ
- นโยบายการค้าเสรี คือ เปิดให้ติดต่อค้าขายกันเสรี ไม่กีดกันทางการค้า เช่น ไม่เก็บภาษี ไม่กำหนดโควตาสินค้า
- นโยบายการค้าคุ้มกัน คือ รัฐเข้าไปแทรกแซง หรือกีดกันทางการค้า เช่น การตั้งกำแพงภาษี การควบคุมสินค้า
และการให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ค้าภายในประเทศ
ค่าเงินบาทแข็งหรืออ่อนค่า คืออะไร ?
นอกจากการค้าระหว่างประเทศแล้ว ยังมีสิ่งที่เรียกว่า “การเงินระหว่างประเทศ” ในเศรษฐศาสตร์มหภาคอีกด้วย โดยคำที่น้อง ๆ น่าจะเคยได้ยินกันบ่อย ๆ คือ คำว่าค่าเงินบาทแข็งหรืออ่อนค่า
ซึ่งหลายคนอาจจะสงสัยว่า เอ๊ะ เงินที่อยู่ในมือเราจะอ่อนลงหรือจะแข็งขึ้นได้ยังไง คำตอบง่าย ๆ ก็คือ ค่าเงินนั้น ไม่จำเป็นต้องเท่าเดิมเสมอไป สามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่การที่เราจะรู้ได้ เราต้องนำค่าเงินของสกุลที่เราใช้ไปเปรียบเทียบกับ
สกุลเงินอื่นก่อน ซึ่งส่วนมากเรามักจะนำไปเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ถ้าน้อง ๆ ยังไม่เห็นภาพ งั้นมาดูสถานการณ์
ตัวอย่างกันน
- สถานการณ์ที่ 1 : วันที่ 14 มีนาคม 2567 นำเงิน 30 บาท ไปแลกได้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ
วันที่ 14 เมษายน 2567 นำเงิน 35 บาท ไปแลกได้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ
จากสถานการณ์นี้ คือ ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง เพราะเราต้องใช้เงินบาทมากขึ้น ในการแลกเงินดอลลาร์สหรัฐฯ - สถานการณ์ที่ 2 : วันที่ 14 มีนาคม 2567 นำเงิน 30 บาท ไปแลกได้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ
วันที่ 14 เมษายน 2567 นำเงิน 25 บาท ไปแลกได้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ
จากสถานการณ์นี้ คือ ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น เพราะเราใช้เงินบาทน้อยลง ในการแลกเงินดอลลาร์สหรัฐฯ
จุดสำคัญเลย คือ การที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นหรืออ่อนค่าลงนั้น จะส่งผลกระทบต่อหน่วยต่าง ๆ ในเศรษฐกิจที่แตกต่างกันออกไป น้อง ๆ ลองคิดตามว่า ใครบ้างน้าา ที่จะได้ประโยชน์ หรือเสียประโยชน์จากสถานการณ์นี้
เฉลยคือ หากค่าเงินบาทแข็งค่า คนที่ได้ประโยชน์ก็คือผู้ที่นำสินค้าเข้ามาในประเทศ เพราะสามารถลดต้นทุนได้ (ใช้เงินบาทน้อยลง ในการซื้อของเท่าเดิม) แต่ในทางตรงกันข้าม คนที่เสียประโยชน์ก็คือผู้ส่งออก เพราะรับเงินจากต่างประเทศ ทำให้นำมาแลกเป็นเงินไทยได้น้อยลง ซึ่งหากเปลี่ยนสถานการณ์เป็นค่าเงินบาทอ่อนค่าลง ผู้ที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์
ก็จะสลับกันแค่นี้เองคร้าบบ
ตัวอย่างข้อสอบจริงเรื่องเศรษฐศาสตร์มหภาค
หลังจากที่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์มหภาคกันมาแบบจัดเต็มไปแล้ว น้อง ๆ ลองดูตัวอย่างข้อสอบจริงที่พี่ยกมา แล้วลองคิดตามดูน้าา ว่าถ้าเราเจอข้อสอบข้อนี้ในห้องสอบ จะต้องวิเคราะห์ยังไง
ข้อใดเป็นมาตรการโดยตรงในการแก้ไขปัญหาภาวะเงินฝืดในประเทศ [วิชาสามัญ สังคมศึกษา ปี 2563]
1. เพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินกู้
2. เพิ่มการใช้จ่ายของรัฐบาลให้มากขึ้น
3. ลดภาษีการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ
4. เพิ่มอัตราเงินสดสำรองตามกฎหมายให้สูงขึ้น
5. นำพันธบัตรรัฐบาลออกจำหน่ายให้แก่ประชาชน
ก่อนที่พี่จะเฉลย พี่จะให้เทคนิค และวิธีการคิดของข้อนี้ว่า เราต้องรู้อะไรบ้าง ถึงจะตอบข้อสอบข้อนี้ได้ อย่างแรกเลย
เมื่อโจทย์พูดถึงภาวะเงินฝืดในประเทศ นั่นเท่ากับว่า ตอนนี้ในระบบเศรษฐกิจ มีเงินอยู่ในระบบน้อย ทำให้เศรษฐกิจ
ชะลอตัว เพราะฉะนั้น วิธีการแก้ปัญหา คือ เราจะต้องพยายามนำเงินเข้าไปในระบบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทีนี้ เรามาลองช่วยกันคิดต่อน้า ว่าข้อไหนที่ทำแล้วเป็นการนำเงินเข้าในระบบมากที่สุด
ตัวเลือกที่ 1 เพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินกู้
จากข้อนี้ สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ คนจะไม่อยากกู้เงินมาใช้จ่ายลงทุนเพราะดอกเบี้ยแพง เท่ากับจะทำให้ไม่มีเงินเพิ่มในระบบ
ข้อนี้จึงยังไม่ถูกน้าา
ตัวเลือก 3 ลดภาษีการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ
จริง ๆ แล้ว ข้อนี้แอบดูดีกว่าตัวเลือกอื่น ๆ แต่ยังไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องที่สุดด เพราะยังไม่ถือว่าเป็นมาตรการโดยตรงในการแก้ปัญหาเพราะ การที่เราลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ แปลว่าเราจะสามารถซื้อของจากต่างประเทศ
ได้ในราคาที่ถูกลง
ซึ่งถ้าเราเป็นผู้ผลิตในประเทศ ที่ต้องใช้วัตถุดิบจากต่างประเทศ สิ่งนี้จะช่วยลดต้นทุนให้เราได้ และทำให้เราอยากผลิต
มากขึ้นน ฟังดูดีใช้ได้เลย แต่กว่าจะแก้ปัญหาได้ ก็ต้องใช้เวลานานมากก ทำให้ข้อนี้จึงยังไม่ใช่ที่สุดด
ตัวเลือก 4 เพิ่มอัตราเงินสดสำรองตามกฎหมายให้สูงขึ้น
ถ้าหากทำแบบนี้ก็แปลว่า เรากำลังดึงเงินที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจ ให้เข้าไปอยู่ในคลังเงินสดสำรอง นี่ก็ยังไม่ใช่เหมือนกันน ตัดออกไปได้เลยย
ตัวเลือก 5 นำพันธบัตรรัฐบาลออกจำหน่ายให้แก่ประชาชน
ข้อนี้น้อง ๆ ลองนึกตามง่าย ๆ ว่า พันธบัตร คือ กระดาษชนิดหนึ่ง ที่ต้องนำเงินมาซื้อ เพื่อเป็นการเก็บออมเงินไว้ ดังนั้น การที่รัฐบาลนำพันธบัตรมาขายให้เรา ก็เท่ากับเรากำลังนำเงินไปออมไว้ เพราะฉะนั้น ก็ไม่ได้ช่วยนำเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจเลยย จึงยังไม่ควรตอบข้อนี้
และคำตอบที่ถูกต้องที่สุดของเราา คือ ตัวเลือก 2 เพิ่มการใช้จ่ายของรัฐบาลให้มากขึ้น นั่นเองง เพราะเป็นข้อที่ชัดเจน ทำได้ไวและเห็นผลเร็วที่สุด พี่ยกตัวอย่าง เช่น สมมติพี่เป็นรัฐบาล ที่เห็นเศรษฐกิจซบเซา เกิดปัญหาเงินฝืด พี่เลยใช้
การเพิ่มค่าใช้จ่ายให้มากขึ้น โดยการออกนโยบายแจกเงิน 10,000 บาท ให้ประชาชน
นั่นเท่ากับตอนนี้ประชาชนจะมีเงินในมือมากขึ้น เขาก็จะนำเงินนั้นไปใช้จ่ายซื้อของ ทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบมากขึ้น
ถือเป็นการนำเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในสถานการณ์เงินฝืดนั่นเองง
เป็นยังไงกันบ้างง กับเนื้อหาเศรษฐศาสตร์มหภาคที่พี่เอามาฝากทุกคนวันนี้ เห็นไหมว่า แม้เนื้อหาจะดูไกลตัวจนอาจจะดูเข้าใจยาก แต่สุดท้ายเศรษฐศาสตร์มหภาคก็เป็นเรื่องที่อยู่รอบตัวของเราทั้งในชีวิตจริง รวมถึงในบทเรียนและข้อสอบ
ซึ่งถ้าเราค่อย ๆ ทำความเข้าใจไปทีละนิด และทำโจทย์บ่อย ๆ รับรองว่าจากข้อสอบที่เหมือนจะเป็นเรื่องใหญ่เรื่องยาก
ก็จะง่ายขึ้นแน่นอน ขอเสริมอีกนิดหนึ่ง ถ้าใครอยากได้โจทย์หรือแบบฝึกหัดวิชาสังคมสำหรับทบทวนความเข้าใจ
ก็สามารถเข้าไปดาวน์โหลดฟรีกันได้ที่คลังข้อสอบเลยน้าา
ดูคลิปติวฟรี A-Level สังคม โค้งสุดท้าย
ติดตามคลิปติว A-Level อื่น ๆ ได้ทาง YouTube Channel : SmartMathPro
สำหรับใครที่กำลังเตรียมตัวสอบ A-Level สังคมในช่วงโค้งสุดท้ายของการเตรียมสอบสนาม A-Level แล้วกังวลว่าจะเก็บเนื้อหากับฝึกทำโจทย์ไม่ทัน หรืออยากทวนเนื้อหาก่อนสอบ และอยากได้ตัวช่วยที่จะลดเวลาอ่านหนังสือ รวมถึงเสริมความมั่นใจก่อนลงสนามจริงพี่ก็ขอแนะนำคอร์ส พิชิต A-Level สังคมศึกษา ฉบับรวบรัด สอนโดย ครูกอล์ฟ ให้น้าา
โดยคอร์สนี้ก็จะสอนเนื้อหาวิชาสังคมครบทั้ง 5 พาร์ตแบบกระชับ เรียนจบได้ภายใน 30 ชม. พร้อมพาตะลุยโจทย์จัดเต็มสุด ๆ และยังมีเฉลยละเอียดให้ครบทุกข้อด้วยย รับรองว่าได้เทคนิคไปอัปคะแนนสอบเพียบบ (กระซิบว่ามี Unseen Mock Test สังคมศึกษา ชุดพิเศษ 1 ชุด ให้ไปซ้อมมือก่อนลงสนามจริงด้วย !!) ถ้าใครสนใจดูรายละเอียดเพิ่มเติม คลิก เลยย
บทความ แนะนำ
บทความ แนะนำ
สำหรับน้อง ๆ ที่สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม รวมถึงติดตามข่าวสารต่าง ๆ ที่อัปเดตอย่างเรียลไทม์ ได้ที่
Line : @smartmathpronews
FB : Pan SmartMathPro ติวคณิต By พี่ปั้น
IG : pan_smartmathpro
Twitter : @PanSmartMathPro
Tiktok : @pan_smartmathpro