จะซิ่วเป็น Dek67 ต้องทำยังไงบ้าง

“เด็กซิ่วไม่ได้แพ้ แค่ทำตามความฝัน”  น้อง ๆ ที่คิดอยากซิ่วหลายคน คงกำลังประสบปัญหาส่วนตัวหรือมีเหตุผลมากมายที่แตกต่างกันในการตัดสินใจซิ่ว ไม่ว่าจะเป็น สอบไม่ติดคณะที่ใฝ่ฝัน ติดคณะ / สาขาที่ไม่ต้องการ คะแนนสอบไม่ถึงเกณฑ์ รวมถึงไม่สามารถรับมือกับระบบการสอบที่เปลี่ยนแปลงได้ 

แต่ไม่ว่าจะมีเหตุผลอะไร ก็ไม่ต้องกังวลน้า เพราะวันนี้พี่จะมาแนะนำขั้นตอนการเตรียมตัวทั้งหมด ว่าหลังจากที่น้อง ๆ ตัดสินใจซิ่วจะต้องทำยังไงบ้าง ควรเริ่มต้นยังไง และคำถามอื่น ๆ อีกมากมาย ให้ Dek67 หรือ น้องปีอื่น ๆ ที่อยากซิ่วไปเป็น Dek68 หายข้องใจ จะเป็นยังไงบ้างนั้น  ไปดูกันเลยยย

1. ตั้งสติ และถามตัวเองก่อน

อันดับแรกหลังจากที่เราตัดสินใจก้าวเข้าสู่การเป็นเด็กซิ่วแล้ว น้อง ๆ ต้องตั้งสติให้ดีก่อนว่า สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้   เราตัดสินใจดีแล้วใช่ไหม มั่นใจหรือยัง กำลังสับสนอะไรอยู่หรือเปล่า  เพราะมีน้อง ๆ หลายคนมากที่ตัดสินใจโดยที่ไม่คิดให้รอบคอบก่อน จนเกิดเป็นปัญหาในภายหลังได้

2. พูดคุยกับผู้ปกครองให้เรียบร้อย

สิ่งที่สำคัญมากเป็นอันดับต้น ๆ คือ การพูดคุยกับผู้ปกครองของตนเอง ว่าเรากำลังตัดสินใจที่จะซิ่วนะ และเป้าหมายที่แท้จริงของเราคืออะไร รวมถึงเราจะเลือกเส้นทางไหน เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายใหม่ของเรา ผู้ปกครองจะได้รับทราบ และคลายกังวลลงบ้าง เพราะถ้าไม่พูดคุยกันตั้งแต่ต้น แล้วคุณพ่อ คุณแม่ไม่อนุญาตให้ซิ่ว ก็จะเกิดปัญหาตามมาได้น้า

3. วิเคราะห์จุดพลาด จุดเด่น ในการเตรียมตัวสอบที่ผ่านมา

เมื่อเรามีประสบการณ์ครั้งที่ผ่านมาแล้ว ให้ลองนำมาวิเคราะห์ตัวเองดูก่อนว่า เราผิดพลาดตรงไหน เพื่อที่จะแก้ไขไม่ให้เกิดขึ้นอีก เช่น วางแผนเวลาไม่ดีตั้งแต่แรกหรือเปล่า จึงทำให้อ่านหนังสือสอบไม่ทัน หรือไม่เคยลองฝึกซ้อมจับเวลาทำข้อสอบเลย จึงทำข้อสอบในห้องไม่ทัน เป็นต้น รวมถึงวิเคราะห์ว่า วิธีไหนที่เราเคยทำแล้วประสบความสำเร็จบ้าง น้อง ๆ จะได้นำมาเป็นแนวทางและปรับใช้กับตัวเองได้เลยย

4. รวบรวมสิ่งที่มีอยู่เดิม จากการสอบครั้งที่แล้ว

ชีทติว ชีทสรุป แบบฝึกหัดทบทวนต่าง ๆ ที่สามารถนำมาใช้ในการสอบครั้งนี้ อยากให้รวบรวมเอาไว้ก่อน อย่าเพิ่งรีบทิ้ง เพราะหลาย ๆ วิชายังสามารถใช้เนื้อหาเดิม แบบฝึกหัดเดิมได้ แถมยังลดระยะเวลาในการเตรียมตัวสอบได้อีกด้วย

5. ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการสอบ TCAS68 ให้ครอบคลุมมากที่สุด

ไม่ว่าจะเป็นระบบการสอบ รูปแบบการสอบ เกณฑ์คะแนน เงื่อนไขในการรับสมัครต่าง ๆ ของ TCAS68 ต้องศึกษาให้ดีเพราะมักจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอเลย 

6. ปรึกษาจากรุ่นพี่ ผู้มีประสบการณ์มาก่อน

การที่เราขอคำแนะนำ หรือการชี้แนะแนวทางจากผู้ที่มีประสบการณ์มาก่อน จะช่วยให้น้อง ๆ สามารถมองเห็นทางออกของปัญหา และมีมุมมองที่กว้างมากยิ่งขึ้นได้ แต่ก็จะต้องกลั่นกรองให้ดีด้วย เพราะปัญหาของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เราควรนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของตนเอง มากกว่าการทำตามแบบเป๊ะ ๆ เลยทันที

7. ตั้งเป้าหมายใหม่

ตัดสินใจให้ดีว่า เป้าหมายใหม่ในครั้งนี้ จะเป็นมหาวิทยาลัยอะไร คณะไหน สาขาอะไร เมื่อเราตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนได้แล้ว เราก็จะสามารถโฟกัสการเตรียมตัวสอบได้อย่างถูกจุดและไม่เสียเวลากับสิ่งที่ไม่ใช่อีกด้วย

8. วางแผนให้รอบคอบ

เมื่อมีเป้าหมายที่ชัดเจนแล้ว เราก็จะต้องวางแผนให้ดีและรอบคอบ เพื่อให้เป้าหมายที่เราตั้งไว้นั้นสำเร็จได้ ซึ่งพี่ก็แนะนำให้วางแผนให้เหมาะกับสไตล์การอ่านหนังสือของตัวเรามากที่สุด โดยควรเป็นแผนที่ทำได้จริง และไม่หักโหมจนเสียสุขภาพเพราะเราจะทำตามแผนนั้นได้นาน และไม่เครียดจนเกินไปนั่นเองง

แต่ถ้าใครทำตามแผนไม่ได้จริง ๆ  ก็อย่ากดดันตัวเองกันจนเกินไปน้า เพราะที่จริงการผิดแผนนั้นเป็นเรื่องปกติมากกก
พี่ขอแค่ให้น้อง ๆ ตั้งใจและทำให้เต็มที่ตั้งแต่วันนี้ก็พอแล้วว ส่วนถ้าใครที่อยากทบทวนเนื้อหาหรือว่าอยากได้ตัวช่วยในการเตรียมตัวสอบให้พร้อมที่สุด พี่ก็ขอแนะนำคอร์สเตรียมสอบของ Dek68 ให้เลยย  

ซึ่งแต่ละคอร์สก็จะมีทั้ง TGAT TPAT และ A-Level เลย โดยพี่จะสอนเนื้อหาแบบกระชับพร้อมพาตะลุยโจทย์จัดเต็มที่คัดมาแล้วว่าออกข้อสอบบ่อยมากก แถมยังอัปเดตข้อสอบให้ถึงปีล่าสุดด้วย ช่วยเสริมความมั่นใจให้น้อง ๆ ก่อนลงสนามจริงอีกครั้ง ถ้าใครสนใจดูรายละเอียดก็ คลิก ได้เลยยย

 9. ตั้งเป้าหมายในแต่ละวัน

ถึงแม้ว่าเราจะมีแผนในการเตรียมตัวสอบแล้ว แต่การทำ To-Do List หรือจัดตารางอ่านหนังสือจะช่วยให้น้อง ๆ รู้ตารางของตัวเองว่า ในแต่ละวันจะต้องทำอะไรบ้าง เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เราสามารถทำตามเป้าหมายที่วางไว้ได้ และยังช่วยให้น้อง ๆ ไม่ลืม หรือตกหล่นสิ่งที่สำคัญด้วย

ซึ่งถ้าน้อง ๆ คนไหนยังไม่รู้ว่าควรจะจัดตารางเวลาในแต่ละวันยังไง วันนี้พี่มีตัวอย่างตารางอ่านหนังสือสำหรับเด็กซิ่วมาฝากด้วยน้าา สามารถนำไปปรับใช้ให้เข้ากับสไตล์การเตรียมตัวสอบของตัวเองกันได้เลยย

ตารางอ่านหนังสือเด็กซิ่ว Dek68

ดาวน์โหลดตารางอ่านหนังสือเด็กซิ่ว คลิก

10. เรียนพิเศษเพิ่มเติม

ถ้าน้อง ๆ รู้สึกว่า วิชาไหนที่พยายามอ่านเองก็แล้ว ฝึกฝนด้วยตัวเองก็แล้ว ยังไงก็ไม่สำเร็จซะที พี่ก็อยากแนะนำให้ลองออกไปศึกษาหาความรู้นอกห้องเรียนเพิ่มเติมดู ไม่ว่าจะเป็นการเรียนพิเศษเสริม หรือการเรียนรู้จากอินเทอร์เน็ตอีกมากมายเลย  แต่สิ่งที่สำคัญในการเรียนพิเศษคือ การหาติวเตอร์ที่เข้ากับตัวเอง เช่น สไตล์การสอน วิธีการพูด เนื้อหาการเรียน เป็นต้น ไม่อย่างนั้นจะเสียเงิน และเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ได้เลยนะคะ

11. ทำให้เต็มที่ ตั้งใจให้จริง

“ทุกการเริ่มต้นใหม่ มักยากเสมอ” พี่ก็ขอเป็นหนึ่งในกำลังใจที่จะส่งไปถึงน้อง ๆ เด็กซิ่ว ถ้าเกิดรู้สึกเหนื่อย ท้อ หมดไฟ ก็พักไปตั้งหลักก่อนเนอะ แล้วค่อยกลับมาสู้ต่ออย่างเต็มที่ เพราะถ้าหากน้อง ๆ ไม่ตั้งใจให้จริง ความฝันและ
เป้าหมายในครั้งนี้ก็อาจจะหลุดมือไปได้ T_T พี่เชื่อว่า ความอดทนและพยายามจะทำให้น้อง ๆ สำเร็จได้อย่างแน่นอนนน

12. คอยเช็กตัวเองอยู่เสมอ

หนึ่งในขั้นตอนที่สำคัญมากและคนส่วนใหญ่มักจะลืมกันเลยก็คือ การเช็กตัวเอง ว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่มันตรงตามแผนที่วางเอาไว้อยู่ไหม เรากำลังออกนอกทางหรือเปล่า ตอนนี้เวลาเหลืออยู่เท่านี้ทันไหม เป็นต้น เพราะถ้าหากเราไม่เคยตรวจสอบสิ่งเหล่านี้เลย กว่าจะรู้ตัวว่าเราพลาด ก็มักจะสายเกินแก้แล้วนั่นเอง

รวมคำถามเกี่ยวกับการซิ่ว 68

ซิ่ว 67 ไป 68 ต้องลาออกไหม ? 

อ้างอิงจากของปี 67 น้อง ๆ ไม่จำเป็นต้องลาออกก่อนลงทะเบียน mytcas หรือสมัครสอบต่าง ๆ ของ TCAS แต่ถ้ายืนยันสิทธิ์แล้วต้องลาออกก่อนขึ้นทะเบียนเป็นนิสิตหรือนักศึกษาของสถาบันใหม่ 

ส่วนของกสพทจะแตกต่างออกไป เพราะน้อง ๆ จะต้องลาออกก่อนนั่นเองง ใครอยากรู้รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการลาออกไปสอบ กสพท พี่ก็สรุปไว้ให้แล้วน้า คลิกไปอ่านกันได้เลย  >> เด็กซิ่วจะสอบ กสพท ต้องทำยังไง ?

ใช้คะแนน TGAT TPAT 67 ได้ไหม ?

ไม่สามารถใช้คะแนนปี 67 ได้น้า เพราะคะแนน มีอายุแค่ 1 ปี ดังนั้นจะต้องสอบวิชา TGAT TPAT และ A-Level ใหม่ในปีนี้ ซึ่งของปี 67 ใครที่เคยเข้าสอบวิชาต่าง ๆ ในปีก่อนหน้านี้ แล้วไม่ได้ยื่นคะแนนในการสมัครเข้ามหาลัยฯ ทั้ง 4 รอบของระบบ TCAS จะต้องยื่นคำร้องอธิบายเหตุผลผ่านระบบ mytcas.com และรออนุมัติภายใน 72 ชม. ถึงจะสมัครสอบได้

อย่างที่พี่บอกไปว่าเงื่อนไขต่าง ๆ เป็นการอ้างอิงจากของปี 67 น้า สำหรับ TCAS68 ให้น้อง ๆ อดใจรออีกหน่อย ถ้ามีการเปลี่ยนเงื่อนไขหรือมีการเพิ่มข้อกำหนดอะไรมา พี่จะรีบมาอัปเดตให้เลยยย

ประสบการณ์ “ซิ่วไปทันตะ” จากรุ่นพี่

สวัสดีค่ะน้องๆ ทุกคน พี่ชื่อ “ปลา” นะคะ ปัจจุบันเรียนอยู่คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ชั้นปีที่ 3 และได้ซิ่วมาจากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยค่ะ

ทำไมถึงตัดสินใจซิ่ว ?

คณะทันตแพทย์ เป็นคณะในฝันของพี่ตั้งแต่แรกอยู่แล้วค่ะ แต่พอผลคะแนนสอบออกมาแล้ว ก็อยู่ในเกณฑ์ที่โอเคเลยนะคะ พอจะลุ้นทันตะได้อยู่ ตอนนั้นพี่ก็เลยเลือก อันดับที่ 1 คณะทันตแพทยศาสตร์ และ อันดับที่ 2 คณะเภสัชศาสตร์ สุดท้ายพี่ก็ติดเภสัชค่ะ

และพอได้เข้าไปเรียนปี 1 ในคณะเภสัชศาสตร์ พี่ก็รู้สึกว่าอยากลองพยายามอีกสักครั้งหนึ่ง ก็เลยลองเปิดใจคุยกับที่บ้านเรื่องซิ่วดูค่ะ ที่บ้านก็โอเคกับการตัดสินใจของเรานะคะ อีกอย่างคือ เพื่อนในคณะก็อยากจะซิ่วกันเยอะมาก ทำให้เราเลือกที่จะสู้เพื่ออนาคตของตัวเองอีกสักครั้งว่า ทันตะ จะใช่ที่ของเราจริง ๆ ไหม

ซิ่วอยู่บ้าน หรือ ซิ่วไปเรียนไป ?

พี่เลือกซิ่วไปเรียนไปค่ะ เพราะพี่อยากจะนำความรู้จากการเรียนมหาวิทยาลัยไปใช้ในการสอบครั้งใหม่ด้วย แต่มันอาจจะไม่ได้ช่วยโดยตรงนะคะ อย่างเภสัชก็จะมีการเรียนวิชาเคมี ชีวะ ที่เนื้อหาการเรียน ข้อสอบลึกมากกว่าตอนมัธยมเยอะเลย ทำให้เราเข้าใจในเนื้อหาและหลักการของวิชาเหล่านี้ได้ดีมากกว่าตอนมัธยม 

พอเราเข้าใจจริง ไม่ได้จำแบบผิวเผิน ทำให้การสอบครั้งใหม่ของเราใช้ความเข้าใจไม่ใช่การท่องจำเหมือนที่ผ่านมานั่นเอง อย่างตัวพี่ก็ได้คะแนนสอบวิชาเคมีดีขึ้นจากการเรียนในมหาวิทยาลัยนี่แหละค่ะ แต่เพื่อนพี่ที่เลือกซิ่วอยู่บ้าน หรือดรอปเรียนไปเลยก็มีเยอะนะคะ เพราะพวกเขากลัวว่าตัวเองจะเตรียมตัวสอบครั้งใหม่ได้ไม่เต็มที่ ก็เลยตัดสินใจออกมาตั้งใจทุ่มเวลาทั้งหมดให้ไปเลยค่ะ 

ดังนั้น พี่อยากแนะนำน้อง ๆ ว่า สุดท้ายเราต้องเข้าใจธรรมชาติของตัวเองก่อนว่า เราเป็นคนแบบไหน วิธีไหนที่เหมาะสมกับตัวเรามากที่สุด อย่างพี่เอง รู้ตัวเลยว่า ตัวเองเป็นคนที่ต้องใช้แรงกดดันถึงจะทำออกมาได้ดี ก็เลยเลือกวิธีซิ่วไปเรียนไป เพื่อกระตุ้นให้ตัวเองกระตือรือร้นในการเรียนอยู่ตลอดเวลานั่นเองค่ะ

เป็นเด็กซิ่ว เตรียมตัวยังไงบ้าง ?

เริ่มจากวิเคราะห์ตัวเองในการสอบปีที่แล้วก่อนว่า เราพลาดตรงไหน วิชาไหนที่ไม่ได้บ้าง ก็จะโฟกัสวิชานั้น ๆ เป็นพิเศษไปเลย และไปหาคอร์สเรียนพิเศษเพิ่มเติม เช่น คณิตศาสตร์ ตอนนั้นพี่ก็ไปลงเรียนกับ พี่ปั้น SmartMathPro นี่แหละค่ะ เพราะพี่รู้จักอยู่แล้ว เรียนตั้งแต่ม.6 เลย แต่ตอนนั้นพี่ดันมาเรียนตอนที่ใกล้สอบมาก ๆ แล้ว ทำให้เรียนไม่ทัน บวกกับเลือกเรียนแค่คอร์สสั้น ๆ ด้วย ซึ่งพอพี่ซิ่วแล้ว ก็มีเวลากลับมาเรียนอย่างจริงจังมากขึ้นอีกครั้งหนึ่งค่ะ

โดยมีวิธีการแบ่งเวลาคือ เมื่อเลิกเรียนที่มหาวิทยาลัยแล้ว ก็จะไปเรียนพิเศษทันที หลังจากนั้นก็ไปอ่านหนังสือตามคาเฟ่ต่าง ๆ จนถึงสามทุ่ม แล้วค่อยกลับบ้าน ทำแบบนี้เป็นประจำเลย

ซึ่งพี่คิดว่า วิธีการเตรียมตัวสอบสำหรับเด็กซิ่วที่ดีที่สุดคือ “วิธีที่พอดีกับตัวเอง” เพราะเราต้องเริ่มต้นจากการรู้จักตัวเองให้ดีที่สุดก่อน ดูว่าตัวเองเหมาะกับวิธีไหน รูปแบบไหน ก็จะทำให้เราค้นพบวิธีที่ใช่และดีที่สุดสำหรับตัวเราเองนะคะ ซึ่งตัวพี่เองก็จะเป็นคนที่เน้นการเรียนพิเศษเพิ่มเติม และฝึกฝนทำโจทย์ควบคู่ไปด้วยเรื่อย ๆ นั่นเองค่ะ

มีความกลัวหรือกังวลอะไรบ้าง ? รับมือยังไง ?

กลัวที่สุดคือ กลัวว่าจะสอบไม่ได้ กลัวการจับปลาสองมือค่ะ แต่พี่ก็รับมือกับความรู้สึกนี้ ด้วยวิธีการวางแผนและค้นคว้าหาข้อมูล ซึ่งการที่เราเรียนปี 1 ทางมหาวิทยาลัยก็จะมีการแจกหลักสูตรการเรียนมาให้ว่า แต่ละปีต้องเรียนอะไรบ้าง ต้องลงเรียนกี่วิชา ซึ่งพี่ก็จะเลือกเรียนวิชาที่ได้เกรดเอไม่ยาก เพื่อเป็นการรักษาเกรดเฉลี่ยของปี 1 ไว้ เผื่อในกรณีที่เราซิ่วแล้วสอบไม่ติดจริง ๆ ก็จะได้เรียนเภสัชต่อไหว หรือถ้าช่วงไหนมหาวิทยาลัยใกล้สอบ พี่ก็จะพักการอ่านหนังสือเตรียมซิ่วไปก่อนเลย แล้วมาโฟกัสการสอบในมหาวิทยาลัยก่อน

และในช่วงเทอม 2 ก็เป็นช่วงที่ใกล้กับการสอบครั้งใหม่ของเด็กซิ่ว พี่ก็จะเลือกลงเรียนไม่กี่ตัวเท่านั้น เพื่อเอาเวลาไปเตรียมตัวสอบให้เต็มที่ที่สุด ซึ่งก็มีความกังวลในตอนแรกว่า จะสอบไม่ติด แต่ยิ่งใกล้วันสอบจริง พี่กลับคิดแค่ว่า ถ้าไม่ติดก็ไม่เสียใจมากขนาดนั้นแล้ว เพราะพี่ได้ทำเต็มที่ที่สุดแล้วจริง ๆ ปล่อยใจให้สบาย ๆ ดีกว่า ถ้าไม่ติดจริง ๆ ก็เรียนเภสัชต่อไป เพราะเรามีการวางแผนสำรองเอาไว้แล้ว เพียงแค่ทำตามแผนที่วางไว้ให้ดีที่สุดก็พอค่ะ

เคยหมดไฟ หมดกำลังใจ บ้างไหม ? จัดการยังไง ?

มีอยู่แล้วค่ะ พี่เคยคิดว่า เราก็มีที่เรียนอยู่แล้วนะ ไม่ต้องสอบใหม่ดีไหม แต่สุดท้ายพี่ก็มานั่งคิดว่า ถ้าล้มเลิกความตั้งใจตอนนี้ ก็น่าเสียดายมาก เพราะเราได้เริ่มต้นไปแล้ว เสียทั้งเงินทั้งเวลา อีกไม่กี่เดือนก็จะสอบแล้วด้วย เราต้องไปให้สุดและทำตามแผนที่วางไว้ให้เต็มที่ดีกว่า จะได้ไม่ต้องมาเสียดายทีหลัง

แชร์เทคนิค ซิ่วยังไงให้สอบติด ?

เอาจริง ๆ ตอนนั้นพี่เองก็ไม่รู้หรอกนะคะ ว่าจะสำเร็จจริงไหม แต่พี่ก็ใช้วิธีการหาข้อมูลให้มากที่สุด ปิดจุดอ่อนของตัวเองให้มากที่สุด ศึกษาหาข้อมูลเยอะ ๆ ทั้งจากอินเทอร์เน็ตและคนรอบตัว เช่น ทำข้อสอบไม่ได้ อ่านหนังสือไม่เข้าใจ ก็ลองไปปรึกษารุ่นพี่หรืออาจารย์ เพิ่มเติมได้

ซึ่งพี่ก็เลือกใช้วิธีการเตรียมตัวสอบที่เหมาะสมกับตัวเอง เต็มที่ในส่วนที่เรามีโอกาสให้มากที่สุด อย่าเครียดมากจนเกินไป ใช้ชีวิตบ้าง อย่างตัวพี่เองก็ใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยเหมือนกับเด็กทั่วไปเลยนะคะ ส่วนการเตรียมตัวสอบ เราก็ทำตามเป้าหมาย วางแผน และใช้ชีวิตให้มีความสุข เพราะต่อให้เราเสียใจ แต่มันจะเป็นความเสียใจที่เราได้ทำเต็มที่ที่สุดแล้วค่ะ

 ซิ่วติดคณะในฝันแล้ว เป็นอย่างไรบ้าง ?

ตอนที่พี่รู้ผลว่าสอบติดแล้ว ดีใจมาก ๆ เลยนะ ดีใจกับตัวเองที่ทำสำเร็จแล้ว เพราะฝันอยากเข้าคณะนี้มานานมาก สุดท้ายก็สำเร็จสักที ความพยายามที่ผ่านมาไม่สูญเปล่าเลย แต่พอได้เข้ามาเรียนคณะในฝันจริง ๆ แล้ว รู้เลยค่ะว่า สิ่งที่คิดกับความเป็นจริงไม่เหมือนกันเลย เหมือนเราก็รู้นะว่าจะต้องเรียนหนัก ต้องเจอกับอะไรบ้าง แต่ความจริงแล้วมันหนักกว่าที่คิดอีกนะคะ แต่จะทำยังไงได้เนอะ “มันเป็นความยากที่เราเลือกเอง” เราก็ต้องรับให้ได้ แล้วสู้ให้สุดแรง แค่นั้นเลยค่ะ

อยากฝากอะไรถึงน้อง ๆ ที่กำลังตัดสินใจจะซิ่วบ้าง ?

พี่อยากให้น้อง ๆ ลองเปิดมุมมองกว้าง ๆ ว่า การที่เราพลาดคณะในฝันไปนั้น เราได้เรียนรู้อะไรจากสิ่งนี้บ้าง และสิ่งนี้สามารถนำไปปรับใช้ในอนาคตได้อย่างไรบ้าง อย่าไปโทษตัวเองเลยนะคะ เราสามารถสร้างโอกาสครั้งใหม่ให้ตัวเองได้เสมอ ที่สำคัญคือ ถ้าเลือกจะซิ่วแล้ว สุดท้ายไม่ติด จะเสียใจไหม จะยอมรับได้ไหม ต้องคิดให้ดี ๆ ก่อนตัดสินใจนะคะ 

แต่ถ้ามั่นใจว่าคิดดีแล้ว ก็ตั้งใจให้เต็มที่เลย เพราะความเสียใจเป็นสิ่งที่น่ากลัว และไม่มีใครอยากจะสัมผัสความรู้สึกนี้อยู่แล้ว วางแผนให้ดี จัดตารางชีวิตให้ดี ไม่จมอยู่คนเดียว ลองไปปรึกษาหรือขอมุมมองจากคนอื่นบ้าง แล้วพยายามทำทุกอย่างตามที่วางแผนเอาไว้ให้ดีที่สุดก็พอค่ะ ไม่ว่าน้อง ๆ จะซิ่วหรือเลือกทางเดินไหนก็ตาม พี่ก็ขอให้น้อง ๆ โชคดีกับเส้นทางที่เลือกนะคะ สู้ ๆ ค่ะ

อ่านจบแล้วถ้าใครกำลังตัดสินใจจะซิ่ว แต่ยังไม่แน่ใจ หลังเลว่าจะซิ่วไปเป็น Dek68 ดีมั้ย หรือไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นยังไงดี ? ลองเข้าไปอ่านบทความที่พี่สรุปเรื่องที่ควรรู้ก่อนเป็นเด็กซิ่วไว้ก็ได้น้า มีทั้งเหตุผลในการซิ่ว ข้อดี ข้อเสีย อาจช่วยทำให้น้อง ๆ ตัดสินใจได้มากขึ้นน >> เด็กซิ่ว คืออะไร ? ถ้าอยากเริ่มซิ่วจะต้องทำยังไง ?

สุดท้ายนี้ พี่ก็ขอส่งกำลังใจให้กับน้อง ๆ Dek67 หรือปีอื่น ๆ ทุกคนที่จะซิ่วเป็น Dek68 เลยน้า  พี่เชื่อว่า การเริ่มต้นใหม่ครั้งนี้ จะดีกว่าครั้งก่อนแน่นอน ขอแค่น้อง ๆ เชื่อมั่นในตัวเอง มุ่งมั่น ตั้งใจ อ่านหนังสือทบทวน วางแพลนเตรียมสอบ และทำให้เต็มที่ เท่านี้เป้าหมายก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม !! สู้ ๆ น้าา พี่เป็นกำลังใจให้เสมอ 

บทความ แนะนำ

บทความ แนะนำ

A-Level คืออะไร ? ปี 68 สอบวิชาอะไรบ้าง ?
A-Level คืออะไร? มีกี่ข้อ? วิชาอะไรบ้าง? พร้อมแนวข้อสอบและคลิปติว
สรุป TPAT1 กสพท 68 ฉบับอัปเดตล่าสุด ตามแถลงการณ์
สรุป กสพท คืออะไร? ต้องสอบวิชาอะไรบ้าง? กสพท68 มีอะไรเปล่ียนแปลง?
ปฏิทิน TCAS67 อัปเดตล่าสุด
รวมปฏิทิน TCAS67 เช่น รอบ 3 ยื่นตอนไหน ประกาศผลเมื่อไร เช็กเลย!
สรุป tcas68 อ้างอิงจาก tcas67
ระบบ TCAS คืออะไร ? มีกี่รอบ ? ใครจะสอบ TCAS68 ควรอ่าน !
จะซิ่วเป็น Dek67 ต้องทำยังไงบ้าง
ซิ่ว ต้องทำอะไรบ้าง ต้องลาออกก่อนไหม เคลียร์ให้จบก่อนซิ่วเป็น Dek68
Dek68 จะสอบเข้ามหาลัยฯ ต้องเตรียมตัวยังไง ?
Dek68 สอบเข้ามหาลัยฯ ควรเริ่มยังไง? สรุปทุกขั้นตอนควรรู้ของ TCAS68
เตรียมตัวอ่านหนังสือ TCAS68 ยังไงให้สอบติด
เตรียมตัวสอบเข้ามหาลัยยังไง? สรุปและแจกเทคนิคอ่านหนังสือสอบ TCAS

สำหรับน้อง ๆ ที่สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม รวมถึงติดตามข่าวสารต่าง ๆ ที่อัปเดตอย่างเรียลไทม์ ได้ที่

Line : @smartmathpronews 

FB : Pan SmartMathPro ติวคณิต By พี่ปั้น 

IG : pan_smartmathpro

Twitter : @PanSmartMathPro 

Tiktok : @pan_smartmathpro

Share